ชุมชนในเอเชียประกาศยุติถ่านหิน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 5, 2010 16:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ก.ค.--กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วันนี้ ผู้นำชุมชนทั่วเอเชียได้เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ยุติโครงการพลังงานถ่านหินและหันมาพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด คำประกาศมีขึ้นในวันสุดท้ายของการประชุมเชิงปฏิบัติการของกรีนพีซที่เมืองเชอริบอน เกาะชวาตะวันตก โดยมีตัวแทนชุมชนจากอินโดนีเซีย จีน อินเดีย ฟิลิปปินส์และไทยเข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแสวงความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน นายธารา บัวคำศรี ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า "ชุมชนในเอเชียกำลังตกอยู่ภายใต้เงามืดของมหันตภัยถ่านหิน เราจะพบชุมชนที่มีความทุกข์จากผลกระทบสิ่งแวดล้อมและความเสียหายด้านสุขภาพในทุกประเทศที่มีการขุดเอาถ่านหินมาใช้และนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า ทั้งนี้ การเผาไหม้ถ่านหินเป็นตัวเร่งให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศและส่งผลกระทบต่อชุมชนต่างๆ ในเอเชีย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ล่อแหลมมากที่สุดและมีการเตรียมการน้อยที่สุดในการจัดการกับวิกฤตดังกล่าว" ดร. เวนเซสเลา เกียต ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาสิ่งแวดล้อมจากฟิลิปปินส์กล่าวว่า "การทำเหมืองและการเผาไหม้ถ่านหินคือมรดกอันเลวร้ายสำหรับชุมชนในเอเชียที่อาศัยอยู่ใกล้เหมืองหรือรอบโรงไฟฟ้าถ่านหิน หลายโครงการเกิดขึ้นใกล้เขตเมือง ได้ส่งผลให้คนในพื้นที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ มะเร็ง ไตวายและการเกิดของทารกที่ผิดปกติ กลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบด้านสุขภาพมากที่สุดคือเด็กและหญิงมีครรภ์ ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คนรุ่นอนาคตของเรากำลังตกอยู่ในอันตราย" ผู้นำชุมชนทั่วเอเชียยังได้เปิดเผยความจริงที่น่ากลัวเกี่ยวกับการทำเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศของตน งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชิ้นหนึ่งของกรีนพีซระบุว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบร้อยละ 90 ที่อาศัยอยู่โดยรอบโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เมืองศิลากัป เกาะชวาตอนกลาง นั้นเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ นายกาฮาร์ อัล บาฮรี จากภาคตะวันออกของกาลิมันตัน กล่าวว่า "เหมืองถ่านหินจะทำลายพื้นที่ของเราถ้ารัฐบาลยังไม่ลงมือทำอะไร การสัมปทานเหมืองถ่านหินในภาคตะวันออกของกาลิมันตันได้ครอบคลุมพื้นที่กว่า 3.1 ล้านเฮกแตร์ (31,000 ตารางกิโลเมตร) หรือขนาดพื้นที่เท่าๆ กับสวิตเซอร์แลนด์ทั้งประเทศ และมีเหมืองถ่านหินจำนวน 1,226 แห่งที่ได้ใบอนุญาตสัมปทานแล้ว นายสุธีกุมาร จากรัฐเกเรลา อินเดีย กล่าวว่า "ในอินเดีย แนวทางการพัฒนาและการขยายโครงการถ่านหินขนาดใหญ่เป็นหายนะของประเทศ โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 4,000 เมกะวัตต์ ที่กำลังมีการผลักดันในรัฐเกเรลานั้นไม่ได้เป็นเพราะพลังงานไม่พอใช้ในรัฐแต่เป็นเพราะทิศทางการพัฒนาที่ล้าหลังและสร้างความไม่เท่าเทียม รัฐบาลมองไม่เห็นถึงผลกระทบระยะยาวของการพัฒนาพลังงานสกปรกเหล่านั้นและไม่มีความเข้าใจที่ก้าวหน้าในเรื่องที่ว่าความจำเป็นด้านพลังงานของประเทศสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จากทางเลือกพลังงานหมุนเวียนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ" นายสุทธิ อัชณาสัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า "ถ่านหินไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากหลายชุมชนได้ลุกขึ้นมาต่อสู้และคัดค้าน อย่างเช่น หลังจากที่รัฐบาลเพิกเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นต่อชุมชนรอบโรงไฟฟ้าถ่านหินที่แม่เมาะมาเป็นเวลาหลายสิบปี ศาลปกครองได้สั่งให้มีการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสุขภาพของคนในชุมชนและสิ่งแวดล้อม โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายโครงการต้องชะลอและยุติลงด้วยพลังของประชาชนและคำสั่งของศาลปกครองเนื่องจากละเมิดสิทธิชุมชนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ" ผุ้นำชุมชนในเอเชียและนายธาราได้เรียกร้องให้รัฐบาลยุติถ่านหินและมุ่งสู่การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน เพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่รุนแรงรวมถึงผลกระทบต่อวิถีชีวิต ตลอดจนมหันตภัยจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศอันเกิดจากการทำเหมืองถ่านหินและการเผาไหม้ถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้า ผู้นำชุมชนที่ร่วมลงนามในคำประกาศ (1) ได้กล่าวว่า "ในโอกาสที่เราได้มารวมตัวกันนี้ เราหวังที่จะส่งสารไปยังรัฐบาลและผู้นำประเทศของเราว่าการที่ยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหินและน้ำมัน จะผลักดันให้เราไปสู่ทิศทางของความไม่มั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจมากขึ้น" กรีนพีซเชื่อมั่นว่า พลังงานหมุนเวียนแบบกระจายศูนย์ผนวกเข้ากับประสิทธิภาพพลังงานคือทางออกเพื่อยุติโศกนาฎกรรมที่ชุมชนรอบโรงไฟฟ้าถ่านหินเผชิญอยู่ และยังเป็นทางออกที่นำไปสู่การเข้าถึงบริการพลังงานอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงช่วยหลีกเลี่ยงวิกฤตสภาพภูมิอากาศ นายธารา กล่าวสรุปว่า "รัฐบาลต้องลงมือวางแผนการพัฒนาและลงทุนด้านเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรรับรองว่าจะมีการดำเนินการมาตรการประสิทธิภาพทางพลังงานในทุกภาคส่วน ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องใส่ใจมากขึ้นกับการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดที่มีอยู่มากมาย" ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ธารา บัวคำศรี ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โทร 089 4769977 (ขณะนี้อยู่ที่ประเทศอินโดนีเซีย) วิริยา กิ่งวัชระพงศ์ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน โทร 089-487-0678

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ