PTTEP เผยผลการดำเนินงานปี 2549 และแผนการดำเนินงานปี 2550

ข่าวทั่วไป Tuesday February 6, 2007 13:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ก.พ.--ปตทสผ.
นายมารุต มฤคทัต (Maroot Mrigadat) กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. สรุปผลงานและประเด็นสำคัญในปี 2549 แผนการลงทุนในปี 2550 ดังนี้
ผลการดำเนินงาน ปตท.สผ. ปี 2549 กำไรสุทธิ 28,047 ล้านบาท
ผลการดำเนินงานก่อนตรวจสอบ (Unaudited) สำหรับปี 2549 ปตท.สผ. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิรวม 28,047 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,312 ล้านบาท หรือร้อยละ 18 เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรสุทธิปี 2548 จำนวน 23,735 ล้านบาท ปตท.สผ. และบริษัทย่อยมีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (Return on shareholders’ equity) สำหรับปี 2549 อยู่ที่ 35.01%
ในปี 2549 ปตท.สผ. และบริษัทย่อยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 91,723 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อนจำนวน 69,583 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22,140 ล้านบาท หรือร้อยละ 32 ส่วนใหญ่เป็นผลจากรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยสำหรับปี 2549 เพิ่มขึ้นเป็น 36.52 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบเมื่อเปรียบเทียบกับราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยสำหรับปี 2548 ที่ 29.37 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และปริมาณการขายผลิตภัณฑ์สำหรับปี 2549 เพิ่มขึ้นเป็น 169,348 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการขายของปี 2548 ที่ 153,531 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน โดยปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จากการขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของโครงการ B8/32&9A, การขายก๊าซธรรมชาติของโครงการไพลิน โครงการบงกช และโครงการยาดานา รวมทั้งการขายน้ำมันดิบของโครงการ S1
ปตท.สผ. เพิ่มเงินลงทุนกว่า 7 หมื่นล้านบาท เร่งพัฒนาโครงการเพิ่มปริมาณการขาย 9 %
ในปี 2550 ปตท.สผ. ได้ปรับแผนการพัฒนาโครงการสำรวจและผลิตหลายโครงการทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเร่งตอบสนองความต้องการใช้พลังงานภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ปตท.สผ. ได้ตั้งเป้าหมายอัตราการขายไว้ที่ 187,713 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 9% จากปริมาณการขายในปี 2549 รวมทั้งได้กำหนดงบประมาณการลงทุนสำหรับปี 2550 สำหรับการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียมทั้งในและต่างประเทศจำนวน 34 โครงการ เป็นเงินประมาณ 74,512 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในประเทศ 48,407 ล้านบาท หรือ 65% และลงทุนในต่างประเทศ 26,105 ล้านบาท หรือ 35%
สำหรับการลงทุนภายในประเทศ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการลงทุนเพื่อการพัฒนาและเร่งการผลิตในโครงการซึ่งตั้งอยู่ในอ่าวไทย เช่น โครงการอาทิตย์ ซึ่งจะใช้เงินลงทุนในปีนี้ประมาณ 16,100 ล้านบาท หรือ 22% เพื่อก่อสร้างและติดตั้งแท่นผลิต (Production Platform) 1 แท่น แท่นหลุมผลิต (Wellhead Platform) 4 แท่น และขุดเจาะหลุมพัฒนา 37 หลุม เพื่อเริ่มการผลิตและส่งก๊าซธรรมชาติในอัตรา 330 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันไตรมาสที่ 1 ปี 2551 ที่กำลังการผลิตของโครงการเฉลี่ยประมาณ 330 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน 2550 นอกจากนี้ สำหรับโครงการอาทิตย์เหนือมีแผนที่จะใช้เรือผลิต (Floating Production Storage and Offloading : FPSO) ในการผลิตก๊าซและคอนเดนเสทแทนแท่นผลิต โดยคาดว่าจะเริ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติในปี 2551 ที่กำลังการผลิตของโครงการเฉลี่ยประมาณ 120 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ปตท.สผ. ยังลงทุนในโครงการบงกชอีกประมาณ 6,000 ล้านบาท หรือ 8% โดยจะติดตั้งแท่นหลุมผลิตเพิ่มเติม 3 แท่น และขุดเจาะหลุมพัฒนา 16 หลุม โดยมีเป้าหมายการขายก๊าซฯ เฉลี่ย ในอัตรา 595 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนโครงการ S1 จะใช้เงินลงทุนประมาณ 7,800 ล้านบาท หรือ 11% เพื่อขุดเจาะหลุมพัฒนา 45 หลุม ขุดเจาะหลุมสำรวจ 4 หลุม สำหรับโครงการ B8/32 & 9A จะใช้เงินลงทุนประมาณ 5,800 ล้านบาท หรือ 8% เพื่อก่อสร้างแท่นหลุมผลิต 6 แท่น ขุดเจาะหลุมพัฒนาจำนวน 84 หลุม และขุดเจาะหลุมสำรวจ 4 หลุม โดยให้สามารถขายน้ำมันดิบได้ในอัตราเฉลี่ย 54,141 บาร์เรลต่อวัน โครงการไพลิน จะใช้เงินลงทุนประมาณ 3,600 ล้านบาท หรือ 5% เพื่อก่อสร้างแท่นหลุมผลิต 4 แท่น และขุดเจาะหลุมพัฒนา 39 หลุม เพื่อให้สามารถขายก๊าซธรรมชาติได้ในอัตราเฉลี่ย 405 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
สำหรับการลงทุนในต่างประเทศ ปตท.สผ. มีแผนจะลงทุนในโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย B -17 ประมาณ 9,100 ล้านบาท หรือ 12% เพื่อขุดเจาะหลุมสำรวจประมาณ 3 หลุม และหลุมประเมินผล 4 หลุม เพื่อให้สามารถผลิตก๊าซฯ ในครึ่งปีหลังของปี 2552 ในอัตราประมาณ 270 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจะเพิ่มกำลังการผลิตให้สูงถึง 470 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สำหรับการลงทุนในสหภาพพม่า จะใช้เงินลงทุนประมาณ 4,760 ล้านบาท หรือ 6% ส่วนการลงทุนในประเทศเวียดนาม ปตท.สผ. จะใช้เงินลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท หรือ 5% และ จะลงทุนในประเทศอัลจีเรีย อีกประมาณ 3,400 ล้านบาท หรือ 5% ในแปลง 433a & 416b นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังลงทุนเพื่อการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียมในโครงการอื่น ๆ ที่เหลืออีกประมาณ 10,000 ล้านบาท หรือ 13%
ปตท.สผ. ค้นพบก๊าซฯ เพิ่มเติมอีก 3 หลุมในโครงการบงกช
ปตท.สผ.ประสบความสำเร็จในการเจาะหลุมสำรวจในโครงการบงกชตอนเหนือ (Bongkot North) ซึ่งได้เริ่มการขุดเจาะตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา ค้นพบก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมจากการเจาะหลุมสำรวจ จำนวน 3 หลุม โดยหลุมต้นจัน-1X พบก๊าซธรรมชาติในชั้นหินกักเก็บซึ่งมีความหนารวมประมาณ 143 เมตร หลุมต้นจัน-2X พบก๊าซธรรมชาติในชั้นหินกักเก็บซึ่งมีความหนารวมประมาณ 44 เมตร และหลุมต้นรัง-2X พบก๊าซธรรมชาติในชั้นหินกักเก็บซึ่งมีความหนารวมประมาณ 72 เมตร การค้นพบก๊าซฯ ครั้งนี้ จะทำให้โครงการบงกชสามารถผลิตก๊าซฯ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ก๊าซฯ ภายในประเทศได้ยาวนานขึ้น สำหรับแผนการพัฒนาโครงการบงกชในปี 2550 นี้ ปตท.สผ. จะเจาะหลุมพัฒนาประมาณ 16 หลุม และหลุมสำรวจ 6 หลุม และจะติดตั้งแท่นหลุมผลิต 3 แท่น
ปัจจุบัน โครงการบงกชซึ่ง ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการและถือสัดส่วนการร่วมทุน 44.4445% นั้น สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้ในอัตราประมาณ 620 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และ คอนเดนเสทในอัตรา 17,688 บาร์เรลต่อวัน
โครงการอาทิตย์ก้าวหน้าอย่างมาก เตรียมพร้อมเริ่มการผลิตปีหน้า
การพัฒนาโครงการอาทิตย์ระยะที่ 1 มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากทั้งด้านการก่อสร้างแท่นอุปกรณ์การผลิต (Facilities) และด้านการขุดเจาะหลุมผลิต โดย ปตท.สผ. ได้ทำการติดตั้งแท่นหลุมผลิตแล้ว (wellhead platform) 6 แท่น วางท่อก๊าซฯ แล้ว 5 เส้น ท่อคอนเดนเสท 1 เส้น ติดตั้งขาตั้งแท่นผลิตกลาง ขาตั้งแท่นที่พักอาศัย และ Flare Tripod แล้ว สำหรับแท่นผลิตกลาง (Central Processing Platform) ได้เสร็จลุล่วงแล้วประมาณ 69% ถือเป็นแท่นผลิตที่มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือประมาณ 16,800 ตัน ใช้ระบบ Foundation Fieldbus ซึ่งเป็นระบบ Instrumentation and Control System ที่ทันสมัยที่สุดที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้ ปตท.สผ. คาดว่าจะสามารถติดตั้งแท่นผลิตหลักนี้ได้ในปลายปี 2550 และจะติดตั้งด้วยวิธี Float-over Installation Method ซึ่งเป็นการติดตั้งด้วยวิธีนี้เป็นครั้งแรกในอ่าวไทย โดยจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและประหยัดเวลาในการติดตั้งได้อย่างมาก
ด้านการขุดเจาะหลุมผลิต ปตท.สผ. ได้ทำการขุดเจาะหลุมผลิตในโครงการอาทิตย์แล้ว 53 หลุม ตามแผนงาน พบว่ามีปริมาณและคุณภาพก๊าซธรรมชาติในปริมาณสูงตามคาด และในปี 2550 นี้ ปตท.สผ. จะทำการขุดเจาะหลุมผลิตที่เหลืออีก 37 หลุมภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2550 ซึ่งจะครบจำนวน 90 หลุม ตามแผนการพัฒนาโครงการอาทิตย์ระยะที่ 1
นอกเหนือจากการนำใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการผลิตได้ในระยะยาวดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ปตท.สผ. ยังได้นำการดำเนินการผลิตแบบ Multi Skill Operations มาใช้กับโครงการอาทิตย์ โดยบุคลากรของโครงการจะได้รับฝึกฝนให้มีความรู้ความชำนาญในทุกสาขาสำคัญ ๆ ที่จำเป็นจะต้องใช้ในการดำเนินการบนแท่นผลิตนอกชายฝั่ง ซึ่งถือเป็นการพัฒนาบุคลากรของ ปตท.สผ. ขึ้นมาอีกระดับ
ปตท.สผ. มีความมั่นใจว่าจะสามารถพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติโครงการอาทิตย์ ให้พร้อมสำหรับเริ่มการผลิตได้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2551 ซึ่งจะช่วยตอบสนองความต้องการใช้พลังงานในประเทศได้อย่างมาก
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อฝ่ายกิจการสัมพันธ์
สิทธิไชย ไชยันต์/ ต้องจิตร พงศ์อรพินท์
โทร. 02 537 4592, 02 537 4587

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ