ปภ. ตั้งศูนย์รับมืออุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม

ข่าวทั่วไป Tuesday July 6, 2010 10:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ก.ค.--ปภ. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ปี 2553 ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นในฤดูฝน ตลอดจนประสานการปฏิบัติงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพทั้งด้านการเตรียมการ (ก่อนเกิดภัย) การปฏิบัติการ (ขณะเกิดภัย) การช่วยเหลือและฟื้นฟูบูรณะ (หลังเกิดภัย) ซึ่งจะทำให้ช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างทั่วถึง นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากการติดตามคาดหมายลักษณะอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ช่วงเดือนกรกฎาคมจะมีฝนตกชุกและฝนตกหนักถึงหนักมากตลอดทั้งเดือน โดยเฉพาะช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนมีโอกาสสูงที่พายุหมุนเขตร้อนจะเคลื่อนตัวผ่านประเทศไทย อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่เสี่ยงได้ ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัยและดินถล่มที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ปี 2553 ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมประสานให้จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ ในลักษณะเดียวกัน เพื่อปฏิบัติงานช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที โดยดำเนินการ ดังนี้ การเตรียมการ (ก่อนเกิดภัย) ปรับปรุงข้อมูลพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มให้เป็นปัจจุบัน จัดทำแผนปฏิบัติการฯ ระดับจังหวัด โดยกำหนดระบบบัญชาการณ์เหตุการณ์ ขั้นตอนการปฏิบัติอย่างเป็นระบบ จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือสื่อสารและโทรคมนาคมทั้งข่ายหลักและข่ายสำรอง ยานพาหนะ เรือท้องแบน เครื่องสูบน้ำให้พร้อมใช้การได้ทันที จัดระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า ติดตั้งเครื่องเตือนภัยและวัดปริมาณน้ำฝน จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมตรวจสอบข้อมูลพยากรณ์อากาศ ระดับน้ำในแม่น้ำ และระดับน้ำ ทะเลหนุนที่เป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์และคาดการณ์แนวโน้มสาธารณภัย การปฏิบัติการ (ขณะเกิดภัย) กรณีถนนชำรุด ให้ติดตั้ง ป้ายเตือนปิดกั้นช่องทางจราจร พร้อมจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกด้านการจราจรในจุดอันตรายดังกล่าว หากมีผู้สูญหาย ให้จัด ชุดเคลื่อนที่เร็วสนธิกำลังจากทุกภาคส่วนไปค้นหาผู้สูญหายและติดค้างในพื้นที่ประสบภัย ภายหลังน้ำลด ให้จัดเครื่องจักรกลเข้าซ่อมแซมเส้นทางคมนาคมให้สามารถใช้สัญจรไปมาได้โดยเร็วที่สุด และที่สำคัญ ให้จัดหาเครื่องอุปโภค บริโภค ยารักษา เครื่องใช้ ที่จำเป็น ที่พักอาศัยชั่วคราวให้แก่ผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึง โดยถือเป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นลำดับแรก การช่วยเหลือและฟื้นฟูบูรณะ (หลังเกิดภัย) ให้ประสานมูลนิธิ องค์กรการกุศลสนับสนุนการประกอบเลี้ยงผู้อพยพ และให้การสงเคราะห์ผู้ประสบภัย พร้อมทั้งพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ โดยต้องให้การช่วยเหลือด้านเครื่องอุปโภค บริโภค น้ำดื่ม สิ่งจำเป็นต่อการยังชีพ ให้แล้วเสร็จภายใน 24 ชั่วโมง และจ่ายเงินค่าซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหาย ค่าจัดการศพให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน ส่วนการซ่อมแซมถน สะพาน เหมือง ฝายที่ชำรุดเสียหายให้กลับคืนสู่สภาพปกติภายใน 15 - 30 วัน สุดท้ายนี้ ขอให้ประชาชนเตรียมความพร้อมรับมือกับอุทกภัย โดยติดตามสภาพอากาศ ประกาศแจ้งเตือนภัย และคำแนะนำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาอุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ