SCB EIC คาดปี 2010 สภาพคล่องในประเทศยังคงเหลือ เป็นผลจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังคงเกินดุล และเงินจากกองทุนพันธบัตรเกาหลีที่ไหลกลับเข้าสู่ระบบมากในปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 7, 2010 14:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--ธนาคารไทยพาณิชย์ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า สภาพคล่องเป็นตัวหล่อลื่นเศรษฐกิจที่สำคัญ มีความสำคัญต่อผู้ระดมทุน และมีบทบาทสำคัญต่อราคาสินทรัพย์ หากสภาพคล่องมีมาก การขยายตัวของเศรษฐกิจก็จะเติบโตไปได้รวดเร็ว และผู้ประกอบการสามารถระดมทุนได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจแลธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC ได้วิเคราะห์การไหลเวียนเงินทุนของประเทศ (flow-of-funds analysis) อันเป็นผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของแต่ละภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ เพื่อใช้ประมาณการสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจหนึ่งๆ และช่วยให้สามารถระบุได้ว่าอะไรที่ควรจับตามอง โดยพบว่าในปี 2010 สภาพคล่องในประเทศ หรือเงินที่เหลือหมุนเวียนอยู่ในระบบ ซึ่งรวมทั้งเงินสด เงินฝากธนาคาร เงินที่ลงทุนในตราสารต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศยังคงเหลืออยู่ แม้เริ่มชะลอตัวกว่าปีก่อน โดยเติบโตประมาณ 9% ขณะที่ในปี 2009 เติบโตสูงกว่า 12% สาเหตุหลักมาจากการที่เงินยังคงไหลเข้าสู่ระบบค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่เป็นเม็ดเงินจากต่างประเทศจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังคงเกินดุล และเงินจากกองทุนพันธบัตรเกาหลีที่ไหลกลับเข้าสู่ระบบมากในปีนี้ “สภาพคล่องเป็นตัวหล่อลื่นเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยหากเปรียบการขยายตัวของเศรษฐกิจเหมือนรถยนต์ที่กำลังวิ่งไปข้างหน้า การเติบโตของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมก็เปรียบเสมือนการเหยียบคันเร่ง ขณะที่สภาพคล่องเปรียบเสมือนการเข้าเกียร์ กล่าวคือ หากสภาพคล่องในระบบมีมากก็เหมือนขับรถเข้าเกียร์สูงๆ เมื่อต้องการให้เศรษฐกิจขยายตัว แค่แตะคันเร่งนิดเดียว สภาพคล่องก็อัดฉีดเข้าไปในระบบ มีเงินไปขยายธุรกิจ เศรษฐกิจก็เติบโตได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ สภาพคล่องยังมีบทบาทสำคัญต่อราคาสินทรัพย์ เห็นได้จากไม่ว่าเมื่อไรที่ประเทศไหนมีขนาดของสภาพคล่องเพิ่มขึ้นสูง ก็มักจะเห็นราคาสินทรัพย์ต่างๆ เช่น ราคาอสังหาริมทรัพย์ ตลาดหุ้น ปรับตัวสูงขึ้นด้วยเช่นกัน” ดร. เศรษฐพุฒิ กล่าว นอกจากผลทางการเงินแล้ว สภาพคล่องยังมีผลต่อภาคเศรษฐกิจด้วย เราจึงได้พัฒนาดัชนี SCB EIC Thailand Financial Condition Index (EIC TFCI) แบบ real-time เพื่อสะท้อนถึงการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ที่ได้รวมปัจจัยทางการเงินที่สำคัญและมีผลต่อความคล่องตัวของการไหลเวียนเงินทุนของไทยอย่างครบถ้วนและทันท่วงที ซึ่งประกอบด้วย อัตราการขยายตัวของสินเชื่อ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ดัชนีค่าเงินบาท และอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไร “ผลจาก EIC TFCI แบบ real-time แสดงให้เห็นว่าความคล่องตัวของการไหลเวียนเงินทุนมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจมาก โดยเฉพาะจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และทำให้คาดได้ว่าความคล่องตัวของการไหลเวียนเงินทุนในปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน (loosen) เอื้อให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้โดยง่าย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้ว ความคล่องตัวของการไหลเวียนเงินทุนของไทยที่สูงขึ้นในปี 2010 ก็เป็นเพียงปัจจัยสนับสนุนพื้นฐานเท่านั้น การเติบโตของภาคเศรษฐกิจจริงก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น บรรยากาศการลงทุนที่ถดถอย ปัญหาการเมือง ปัญหามาบตาพุด ได้มากน้อยและรวดเร็วแค่ไหน” ดร. เศรษฐพุฒิกล่าวสรุป ติดตามรายละเอียดการวิเคราะห์เชิงลึกเพิ่มเติมได้ใน SCB Insight เรื่อง “อะไรขับเคลื่อนสภาพคล่องในเศรษฐกิจไทย" สอบถามได้ที่ SCB EIC คุณพิณัฐฐา อรุณทัต โทร.0-2544-2953 อีเมล์ pinattha.aruntat@scb.co.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ