กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--สภาการศึกษา
รองศาสตราจารย์ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่าสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้ดำเนินการโครงการวิจัย เรื่อง การพัฒนานโยบายการเรียนการสอนภาษาไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในระดับปฐมวัย เนื่องจากผลการประเมินที่ผ่านมาพบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานและอยู่ในอันดับท้ายของประเทศมาโดยตลอด อันมีผลมาจากทักษะในภาษาไทยยังไม่เพียงพอต่อการสื่อสารและการเรียนรู้เนื้อหาสาระในชั้นเรียน จึงมีความพยายามจากหลายฝ่ายที่จะหาแนวทางการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยที่เหมาะสมกับเยาวชนในพื้นที่ดังกล่าว
รองศาสตราจารย์ธงทอง กล่าวว่า โครงการวิจัยและพัฒนานโยบายการเรียนการสอนภาษาไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการในที่พื้นที่โรงเรียนนำร่อง จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล เพื่อหารูปแบบและพัฒนาหลักสูตรภาษาไทยที่เหมาะสมกับเยาวชนไทยมุสลิมที่พูดภาษามลายูถิ่นเป็นภาษาแม่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยใช้กระบวนการเรียนการสอนภาษาไทยเป็นภาษาที่สองภายใต้กรอบของการจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาษา และดำเนินการวิจัยควบคู่และสอดคล้องกับ “โครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาท้องถิ่นและภาษาไทยเป็นสื่อ : กรณีการจัดการศึกษาแบบทวิภาษา (ภาษาไทย-มลายูถิ่น) ในโรงเรียนเขตพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ซึ่งเน้นการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ สติปัญญา และความกล้าแสดงออกของเด็กผ่านกระบวนการพัฒนาภาษา โดยเริ่มต้นจากภาษาแม่หรือภาษาท้องถิ่น (มลายูถิ่น) เชื่อมโยงสู่การเรียนรู้ภาษาราชการ (ภาษาไทย) อย่างเป็นระบบ
เลขาธิการ สกศ. กล่าวถึงผลการวิจัยพบว่า ทักษะด้านภาษาไทยของเด็กในโรงเรียนเป้าหมายทั้ง 4 แห่ง มีพัฒนาการสูงขึ้น อีกทั้งเด็กกล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็นโดยบอกเหตุและผลของตน และแสดงถึงความใฝ่รู้โดยซักถามมากขึ้นเรื่อยๆ ในห้องเรียน สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่า หลักสูตรและแผนการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งสื่อและกลวิธีการสอนตามกรอบแนวทางทวิภาษาโดยใช้ภาษามลายูถิ่นเป็นฐานการเรียนรู้เชื่อมโยงสู่ภาษาไทยนั้นมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถปฏิบัติการในโรงเรียนได้และส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ทางด้านภาษาและสติปัญญาของเด็กได้อย่างเป็นรูปธรรม
“ผลงานวิจัยนี้ คาดว่าจะเป็นแนวทางหนึ่งในการจัดการศึกษาที่เหมาะสมและเป็นทางออกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ในระยะยาว อีกทั้งโครงการทวิภาษา นับเป็นนวัตกรรมและความท้าทายที่จะนำไปสู่การทบทวนนโยบายภาษาเพื่อการศึกษาที่มีมาตรฐานและมีคุณภาพ อันจะนำไปสู่ความสำเร็จในการศึกษาภาคบังคับ และการศึกษาในระดับสูงต่อไป” รศ.ธงทอง กล่าว และว่านอกจากนี้ ยังเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างเยาวชนไทยมุสลิมในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เติบโตขึ้นเป็นประชากรไทยที่มีคุณภาพ มีความมั่นใจและมั่นคงในอัตลักษณ์การเป็นคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูตามความต้องการของคนในพื้นที่ และเป็นการช่วยรณรงค์ในระดับโลกด้านการปกปักษ์รักษาความหลากหลายของภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่น