TMB ออกโรงกระตุ้นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สนใจอาฟต้าและ ถือเป็นวาระเร่งด่วน เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ ชี้แม้แต่ผู้ที่ไม่ได้ค้าขายกับต่างประเทศก็ไม่พ้นผลกระทบ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 8, 2010 14:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--ธนาคารทหารไทย ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB จัดสัมมนาใหญ่ เชิญผู้เชี่ยวชาญนำโดย ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน พูดให้ลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารฟัง เรื่อง ”วาระเร่งด่วน SME กับแนวทางการค้าใหม่ใต้กรอบ AFTA” เตือน อาฟต้าเป็นเรื่องสำคัญมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง แม้แต่ผู้ประกอบการที่ไม่ได้ทำธุรกิจกับต่างประเทศโดยตรงก็ยังได้รับผลกระทบ โดยถึงธุรกิจเอสเอ็มอีซึ่งมีอยู่กว่าสองล้านแปดแสนรายและเป็นตัวจักรสำคัญของการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ ธนาคารเล็งเห็นความสำคัญในการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่ลูกค้าผู้ประกอบการ เพื่อให้มีความพร้อมที่จะรับสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม โดยการสัมมนานี้ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม พร้อมตั้งเป้าเดินสายให้ความรู้ทั่วประเทศอีก 6 ครั้งภายในสิ้นปีนี้ นายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ของ TMB กล่าวในการสัมมนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารที่โรงแรมเลอเมอริเดียน พลาซ่า แอทธินี ในวันนี้ ว่า “เขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟต้า ของประชาคมอาเซียน ถือได้ว่าเป็นความท้าทายที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจในทั้งระดับประเทศและภูมิภาค รวมทั้งหลายภาคอุตสาหกรรมทั้งระดับธุรกิจขนาดใหญ่จนถึงระดับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ประชาคมอาเซียน ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกอยู่ทั้งหมด 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชา และ ไทย ซึ่งวัตถุประสงค์ของอาฟต้า โดยหลัก ก็เพื่อส่งเสริมให้มีการค้าขายภายในอาเซียนมากขึ้นเพื่อให้เกิดพลังในการแข่งขันกับกลุ่มประเทศอื่นๆ ได้ รวมถึงเปิดโอกาสให้มีการค้าและการลงทุนจากประเทศที่ 3 เข้ามาในอาเซียนมากขึ้น อย่างไรก็ตามอาจทำให้เกิดการแข่งขันในแต่ละประเทศในบรรดาประเทศสมาชิก ด้วยกันเองเช่นกัน นายสยามกล่าวว่า “ถือได้ว่าการเปิดการค้าเสรีอาฟต้า จะสามารถเป็นได้ทั้งโอกาสและอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ โดยผู้ประกอบธุรกิจในแต่ละประเทศจะต้องทำการศึกษา เตรียมตัว ปรับตัว สร้างจุดแข็ง เสริมจุดอ่อน อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าเป็นห่วงว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการอาฟต้า จึงทำให้คิดว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว ซึ่งแท้จริงแล้วการเปิดการค้าเสรี อาฟต้า ก็เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด ไม่ว่าจะค้าขายกับคู่ค้านอกประเทศหรือทำการค้าแต่ในประเทศก็ตาม ซึ่งถือเป็นวาระเร่งด่วนที่เอสเอ็มอี จะต้องเตรียมความพร้อมที่ดีและเพียงพอ ซึ่งที่ผ่านมา ยังไม่มีการดำเนินการกันอย่างจริงจัง ทั้งที่ ปัจจุบันประเทศไทยมีกิจการเอสเอ็มอีทั้งสิ้นกว่า สองล้านแปดแสนราย โดยมีการจ้างงานจำนวนกว่า 11.85 ล้านคน หรือคิดเป็น 38% ของจีดีพีรวม มีการส่งออกมูลค่ากว่า 5.85 ล้านบาท หรือ 29% จึงถือได้ว่าเอสเอ็มอีเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในระยะยาวแล้วการเปิดเสรีการค้าจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของไทยและเอสเอ็มอีเอง หากผู้ประกอบการเอ็สเอ็มอีมีการปรับตัวให้พร้อมก็จะได้ประโยชน์กับธุรกิจของตนเป็นทวีคูณ เพราะกรอบการค้าเสรีอาฟต้า ทำให้ผู้ซื้อมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 583 ล้านคน จากประชากรทั้ง 10 ประเทศในอาเซียน และเมื่อมองถึงแนวโน้มการค้าโลกแล้ว พบว่าตลาดการค้าที่น่าสนใจ กลับไม่ใช่ประเทศยักษ์ใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือ ยุโรปอีกต่อไป หากแต่เป็นประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนของเรานั่นเองที่มีปริมาณการค้าเกือบ 30% ของปริมาณการค้าทั้งหมด นอกจากนี้แล้วยังมีข้อได้เปรียบอีกหลายประการในการค้ากับประเทศในกลุ่มอาเซียน นอกจากนโยบายการค้าเสรีที่ภาครัฐเปิดไว้ให้แล้ว ก็คือการเข้าถึงรสนิยมของกลุ่มลูกค้าได้ง่าย อีกทั้งอาเซียนยังเป็นตลาดที่กำลังเติบโตด้านกำลังซื้อ และคาดว่าจะอยู่ในแนวโน้มที่ดีเช่นนี้อีกนาน” นายสยามกล่าวเสริมว่า การจัดสัมมนาครั้งแรกในวันนี้ TMB ได้เชิญ ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน มาเป็นองค์ปาฐก และ TMB จะจัดสัมนาเดินสาย 6 ครั้งในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อเสริมความรู้ให้ผู้ประกอบการด้านเอสเอ็มอีเกี่ยวกับกรอบการค้าเสรีอาฟต้า เพื่อทำให้ผู้ประกอบการเอ็สเอ็มอีสามารถรับมือและแสวงหาโอกาสการค้าใหม่ๆ ในบริบททางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปได้ดียิ่งขึ้น ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบและประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ วาณิชธนกิจและธุรกิจอื่นๆ เช่น การเป็นตัวแทนจำหน่ายประกัน TMB มุ่งตอบสนองความต้องการของลูกค้าประเภทต่างๆ ผ่านเครือข่ายสาขารวมทั้งสิ้น 458 สาขา สำนักงานแลกเปลี่ยนเงิน 100 แห่ง เครื่องเอทีเอ็มจำนวน 2,278 เครื่องรวมทั้งให้บริการ ผ่านระบบ อิเล็กทรอนิกส์ ประเภทต่างๆ TMB เป็นธนาคารที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีสินทรัพย์รวม 560,028 ล้านบาท (ณ วันที่ 31 มี.ค. 53) สายงานสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร รายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 02 299 1950, 1953/ 02 242 3260/ 089 967 1411

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ