กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--พม.
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล จัดประชุมวิชาการ “พลังชุมชน : กลไกสังคมในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในเด็กและเยาวชน” วันพฤหัสบดีที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ณ ห้องบงกชรัตน์ A โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยและรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เกี่ยวกับรูปแบบการหนุนเสริมพลังชุมชนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนในอนาคต
นายวัลลภ พลอยทับทิม ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า ปัญหาความรุนแรงในเด็กและเยาวชนที่นับวันยิ่งเพิ่มขึ้น เห็นได้จากการนำเสนอข่าวรายวัน สื่อมวลชนรายงานเหตุการณ์ความรุนแรงในโรงเรียน ชุมชน บนถนน ทั้งในรูปแบบการกระทำเดี่ยว กลุ่ม เช่น การขับรถซิ่งกวนเมือง รุมโทรมหญิง ลักขโมย ปล้น ทะเลาะวิวาท เป็นต้น ปรากฏการณ์ดังกล่าว สร้างความตื่นตระหนกและส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วนของสังคม ขณะเดียวกันก็สะท้อนความล่มสลายของระบบการศึกษาและระบบครอบครัวที่ว่าด้วยทิศทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และความมั่นคงของสังคมไทย
นายวัลลภ กล่าวต่อว่า ด้วยความตระหนักในปัญหาดังกล่าว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสำนักมาตรฐานการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ จึงได้สนับสนุนให้ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนารูปแบบการจัดการทางสังคมเพื่อการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในเด็กและเยาวชน มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการทางสังคม ระบบเฝ้าระวังในชุมชน เพื่อการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในเด็กและเยาวชน ที่อยู่บนพื้นฐาน ความต้องการ และบริบทของชุมชน โดยร่วมกับแกนนำชุมชนและองค์กรหนุนเสริมในระดับพื้นที่ เช่น โรงเรียน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และพัฒนาสังคมฯจังหวัด ค้นหา พัฒนารูปแบบการจัดการทางสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงในเด็กและเยาวชน ในชุมชน ๑๐ แห่ง เขตพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร ซึ่งปรากฎเป็นผลการศึกษาวิจัย และนำเสนอให้ผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูง ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนในทุกภาคส่วน ได้รับรู้ รับทราบ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาในเชิงบูรณาการเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาในเชิงนโยบายและปฏิบัติการอย่างมีประสิทธิผลอย่างยั่งยืนต่อไป ผลจากการประชุม กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และมหาวิทยาลัยมหิดล จะได้นำไปเป็นฐานข้อมูลในการพัฒนารูปแบบการจัดการทางสังคม ระบบเฝ้าระวังในชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงในเด็กและเยาวชนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น