กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--ศธ.
เมื่อวานนี้(8 ก.ค.53) นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเปิดการประชุมแนวปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีประกันคุณภาพ ที่โรงแรมรอยัล ริเวอร์ โดยมีผู้บริหารองค์กรหลัก ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการสถานศึกษาทุกระดับ และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประมาณ 800 คนว่า กฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีประกันคุณภาพ ฉบับที่ได้ประกาศใช้ใหม่นี้ ตนได้ลงนามแล้วเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2553 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกฎกระทรวงฯ ที่ครอบคลุมแนวทางการประกันคุณภาพครอบคลุมการศึกษาทุกระดับ ทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การอาชีวศึกษา และอุดมศึกษา และประกันคุณภาพ ทั้งภายใน และภายนอก นอกจากนี้ ยังมีแนวทางในการกำหนดการประกันคุณภาพไว้ชัดเจน คือการติดตาม ประเมินผล พัฒนาคุณภาพทางการศึกษา โดยมุ่งเน้นให้มีการรายงานผลให้คณะกรรมการสถานศึกษาและสาธารณชนทราบ เพื่อให้มีส่วนร่วมในการติดตามคุณภาพการศึกษาให้ยั่งยืน โดยได้มอบ
รองศาสตราจารย์ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือ และเห็นความสำคัญของการประกันคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 ที่ต้องการเห็นคุณภาพของผู้เรียนเป็นหลัก การประกันคุณภาพทั้งภายในและภายนอกจะเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญที่จะทำให้เห็นความก้าวหน้าของการจัดการศึกษาและการบริหารการศึกษาของแต่ละสถานศึกษาในแต่ละระยะได้อย่างชัดเจน
เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมกับ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ยกร่างกฎกระทรวงว่าด้วยระบบหลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่ง ครม.อนุมัติในหลักการตั้งแต่ 14 กุมภาพันธ์ 2549 ประกอบกับได้มีการปรับปรุงกฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา ภายในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2546 ซึ่งบังคับใช้มานานแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2545 ได้กำหนดกรอบแนวคิดให้จัดทำกฎกระทรวงดังกล่าวให้เป็นภาพรวม และนำสาระสำคัญ ด้านการประกันคุณภาพการศึกษาทั้งภายในและภายนอก มารวมไว้ในฉบับเดียวกัน โดยได้ดำเนินการตามนิติบัญญัติมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และสกศ. กำหนดประชุมเผยแพร่สร้างความรู้ ความเข้าใจ และกำหนดแนวปฏิบัติในการพัฒนา ระบบการประกันคุณภาพการศึกษา ทั้งภายในและภายนอก ครั้งต่อไปที่จังหวัดกระบี่ ประมาณต้นเดือนสิงหาคม นี้
ด้านนายสุชัย งามจิตเอื้อ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายการศึกษา 1 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงสิ่งที่ทำให้การประกันคุณภาพประสบความสำเร็จ ต้องมีงบประมาณสนับสนุนอย่างเพียงพอ ลดภาระงานเอกสารเพื่อให้ครูอาจารย์ทำหน้าที่สอนอย่างเต็มที่ และเนื่องจากศักยภาพแต่ละโรงไม่เท่ากันแต่การประเมินอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกันทำให้เกิดปัญหา ดังนั้นอาจจะต้องปรับเกณฑ์ให้เหมาะสมกับสถานศึกษาแต่ละแห่ง ผู้บริหารโรงเรียนและผู้บริหารเขตพื้นที่จะต้องมีความเข้าใจหลักการประกันคุณภาพฯ จะทำให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จ การกระจายอำนาจให้กับโรงเรียนที่เป็นนิติบุคคลจะทำให้โรงเรียนมีการบริหารอย่างเหมาะสม และพัฒนาได้เร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพโดยที่ ชุมชน รัฐ อบต. และทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะต้นสังกัดต้องให้ความร่วมมือสนับสนุนส่งเสริมอย่างจริงจัง และสุดท้ายถ้าสามารถทำได้ทั้งหมดดังที่กล่าวมาแล้ว จะทำให้ประสบความสำเร็จในการประกันคุณภาพอย่างแน่นอน