กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--ไอเดียเวิร์คส์ คอมมิวนิเคชั่นส์
ปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย โดยความสนับสนุนของ บมจ. ซีพี ออลล์ ได้ทำการสำรวจทัศนคติต่อความคิดเชิงสร้างสรรค์ของนักศึกษามหาวิทยาลัยในกรุงเทพมหานคร โดยทำการเลือกกลุ่มตัวอย่างจำนวนทั้งสิ้น 1,050 คนจากนักศึกษามหาวิทยาลัยที่เรียนอยู่ชั้นปี 3 ขึ้นไปทั้งในมหาวิทยาลัยรัฐบาล มหาวิทยาลัยเอกชน สถาบันราชภัฏ และสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลในเขตกรุงเทพมหานคร ใน 4 สาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความคิดเชิงสร้างสรรค์ ได้แก่ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ สาขาวิชานิเทศศาสตร์/วารสารศาสตร์ สาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ และสาขาวิชาศิลปกรรมศาสตร์ ในเรื่องเกี่ยวกับความคิดเชิงสร้างสรรค์ของตัวนักศึกษาเอง การใช้ความคิดเชิงสร้างสรรค์ของตนเองขณะกำลังศึกษาอยู่ และการสนับสนุนความคิดเชิงสร้างสรรค์ของนักศึกษาโดยมหาวิทยาลัย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะทำให้ทราบถึงความคิดเห็นของนักศึกษาที่จะเป็นแรงสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่อไป
ดร.สาวิตรี สุทธิจักร์ ในฐานะตัวแทนปัญญาสมาพันธ์ฯ เผยถึงที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้ว่า “จากประสบการณ์ในการศึกษาวิจัยด้านนวัตกรรม ทั้งจากสถาบันวิจัยนวัตกรรมแห่งแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ และงานวิจัยในประเทศไทย เห็นว่าในปัจจุบันรัฐบาลกำลังมุ่งทิศทางไปในเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) อย่างจริงจัง เพราะจะสามารถทำให้ประเทศแข่งขันได้ในตลาดโลก งานวิจัยชิ้นนี้จึงมีวัตถุประสงค์หลักคือ ศึกษาถึงความคิดเห็นของนักศึกษาที่มีต่อความคิดเชิงสร้างสรรค์ของตนเอง การใช้ความคิดเชิงสร้างสรรค์ของตนเองขณะกำลังศึกษาอยู่ และความคิดเห็นเกี่ยวกับการสนับสนุนความคิดเชิงสร้างสรรค์โดยมหาวิทยาลัยที่นักศึกษากำลังศึกษาอยู่ ในการหาคำตอบต่อไปว่า นักศึกษามีทัศนคติเกี่ยวกับความคิดเชิงสร้างสรรค์ของตนเองอย่างไร ได้สิ่งเหล่านี้ออกมาใช้หรือไม่ และต้องการให้มหาวิทยาลัยสนับสนุนพวกเขาในเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด และอย่างไร ฯลฯ
“ความคิดเชิงสร้างสรรค์จะเกิดได้ก็เพราะ “คน” ซึ่งเป็น “ทุนมนุษย์ที่สำคัญ” หากสามารถทราบถึงทัศนคติต่อความคิดเชิงสร้างสรรค์ของของนักศึกษาว่าเป็นไปในทิศทางใด ก็จะทำให้ทราบถึงแนวโน้มของความคิดเชิงสร้างสรรรค์ในสังคมไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย จากการเจาะกลุ่มนักศึกษาเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครชั้นปี 3 ขึ้นไปที่กำลังเรียนอยู่ใน 4 สาขาวิชาดังกล่าวข้างต้น เพราะนักศึกษากลุ่มนี้จะเกี่ยวข้องกับเรื่องการใช้ความคิดเชิงสร้างสรรค์อย่างชัดเจน ซึ่งผลสำรวจทำให้ทราบว่า นักศึกษาล้วนตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของความคิดเชิงสร้างสรรค์ และเห็นว่าการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยสามารถพัฒนาความสามารถในการคิดเชิงสร้างสรรค์ของพวกเขาได้ (ร้อยละ 54.7) อีกทั้งเรื่องความคิดเชิงสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการเรียนและการทำงานในอนาคต (ร้อยละ 78) และยังต้องการได้รับการพัฒนาความคิดเชิงสร้างสรรค์จากมหาวิทยาลัย (ร้อยละ 69.1) แม้ว่าความคิดเชิงสร้างสรรค์ของนักศึกษา อาจจะเกิดจากนอกรั้วมหาวิทยาลัยบางส่วนบ้างก็ตาม แต่ถึงอย่างไร ความต้องการให้ทางสถาบันสนับสนุนและช่วยเหลือเรื่องความคิดเชิงสร้างสรรค์ก็อยู่ในอัตราที่ค่อนข้างสูง”
นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังพบอีกว่า นักศึกษาเห็นว่าความคิดเชิงสร้างสรรค์นั้นช่วยสร้างรายได้ให้ตน (ร้อยละ 72.9) มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย (ร้อยละ 71.5) และจำเป็นต่อผลการเรียนของตน (ร้อยละ 69.8) มีนักศึกษาเพียงร้อยละ 44.4 เท่านั้นที่เห็นว่าตนเองมีความคิดเชิงสร้างสรรค์ในระดับมากถึงมากที่สุด ส่วนความคิดเห็นต่อการใช้ความคิดเชิงสร้างสรรค์ขณะกำลังศึกษาอยู่ พบว่านักศึกษาร้อยละ 54.7 ใช้ความคิดเชิงสร้างสรรค์มากถึงมากที่สุดในขณะเรียน โดยนักศึกษาใช้ความคิดเชิงสร้างสรรค์ในการทำกิจกรรมหรือโครงงานต่างๆ (ร้อยละ 58.9) ใช้เมื่อต้องการทำงานให้เสร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ (ร้อยละ 36) ใช้เมื่อต้องการสร้างผลงานให้โดดเด่นและแตกต่าง (ร้อยละ 35.94) และใช้เมื่อต้องการหาทางแก้ไขปัญหา (ร้อยละ 25.89) สิ่งจูงใจที่นักศึกษาส่วนมากระบุว่าทำให้นักศึกษาคิดเชิงสร้างสรรค์คือความภาคภูมิใจในตนเอง (ร้อยละ 45.96) รองลงมาคือ ค่าตอบแทนเป็นเงิน (ร้อยละ 19.97) รางวัลแสดงถึงความสามารถ (ร้อยละ 16.16) และชื่อเสียง (ร้อยละ 13.02) ส่วนนักศึกษาที่เห็นด้วยมากถึงมากที่สุดว่ามหาวิทยาลัยเป็นแหล่งความคิดเชิงสร้างสรรค์ของตนมีเพียงร้อยละ 43.2
ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า สัดส่วนนักศึกษาที่คิดว่าตนเองมีความคิดเชิงสร้างสรรค์และใช้ความคิดเชิงสร้างสรรค์ในขณะศึกษาในระดับมากถึงมากที่สุด ต่ำกว่า สัดส่วนนักศึกษาที่เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นของความคิดเชิงสร้างสรรค์ต่อเศรษฐกิจและตัวนักศึกษาเองในระดับมากถึงมากที่สุด อีกทั้งมีสัดส่วนนักศึกษาต่ำกว่าร้อยละ 50 ที่เห็นด้วยมากถึงมากที่สุดว่ามหาวิทยาลัยเป็นแหล่งความคิดเชิงสร้างสรรค์ของตนเอง ในขณะที่สัดส่วนนักศึกษาถึงร้อยละ 69.1 เห็นด้วยมากถึงมากที่สุดว่าต้องการให้มหาวิทยาลัยสนับสนุนตนเองให้ใช้ความคิดเชิงสร้างสรรค์
“จากผลการศึกษานี้ คาดว่าสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จะได้รับประโยชน์มากที่สุด เพราะสามารถนำไปใช้ต่อยอดในการสนับสนุนการทำงานและกิจกรรมต่างๆ ของสถาบันเพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาพัฒนาความคิดเชิงสร้างสรรค์ต่อไปได้ โดยอาจจะมีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องนี้และนโยบายต่าง ๆ ของแต่ละมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยได้มีการสนับสนุนในเรื่องนี้อย่างไร และควรจะสนับสนุนเรื่องใดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาความคิดเชิงสร้างสรรค์ของนักศึกษาต่อไป ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้นักศึกษามีความคิดเชิงสร้างสรรค์และความมั่นใจในการใช้ความคิดเชิงสร้างสรรค์อันจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้องค์กรธุรกิจก็สามารถนำผลจากการวิจัยไปใช้อ้างอิงหรือเป็นแนวทางในการวางแผนพัฒนาบุคลากรให้มีความคิดเชิงสร้างสรรค์เพื่อสร้างความมั่งคั่งแก่ภาคธุรกิจและประเทศไทยในอนาคต ตลอดจนหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องต่างๆ สามารถกำหนดนโยบายเพื่อมุ่งพัฒนาความคิดเชิงสร้างสรรค์ และใช้ประโยชน์จากความคิดเชิงสร้างสรรค์ของนักศึกษาได้ เพราะเมื่อนักศึกษาจบไปจะเป็นแรงงานสำคัญในระบบเศรษฐกิจและเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่อไป” ดร.สาวิตรี กล่าว
ปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย (The Wisdom Society for Public Opinion Research of Thailand: WPORT) คือ กลุ่มนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาชั้นนำ 10 สถาบัน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม และสถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ รวมตัวกันเพื่อศึกษาและสร้างสรรค์ผลงานวิจัยสาธารณะที่น่าเชื่อถือ โดยความสนับสนุนของ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.wport.org