กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--กก.
นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา(รมว.กก.) เป็นประธานในการตรวจเยี่ยมโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกับนายยุทธพล อังกินันท์ เลขานุการ รมว.กก. นายสมบัติ คุรุพันธ์ รักษารองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คณะกรรมการตรวจการจัดจ้าง และผู้บริหารของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ณ สถานที่ก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่ ถนนเลียบคลองชลประทาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ในวันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม 2553
นายชุมพล ศิลปอาชา เปิดเผยว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ลงนามสัญญาจ้างกิจการร่วมค้า อีเอ็มซีและเพาเวอร์ไลน์ ทำการก่อสร้าง ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มสัญญาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552 และสิ้นสุดสัญญาวันที่ 30 กันยายน 2554 กำหนดแล้วเสร็จ ภายใน 730 วัน โดยศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินี้ มีเนื้อที่ 326 ไร่ วงเงินการก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 1,867,150,000 บาท โดยแบ่งเป็นงานภายนอกอาคาร วงเงิน 457,451,750 บาท งานอาคารศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ วงเงิน 1,112,821,400 และงานสร้างศูนย์สิ่งเสริมการพัฒนาและกระจายสินค้าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ วงเงิน 296,876,850 บาท
โดยมี บริษัท เอเชีย คอนสตรัคชั่น เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง ในวงเงินทั้งสิ้น 21,118,830.80 บาท มีค่าควบคุมงานในปี 2553 แบ่งจ่ายจำนวน 4 งวด จำนวนเงิน 4,768768.20 บาท(ยังไม่มีการเบิกจ่าย) และปีพ.ศ. 2554 ค่าคุมงานก่อสร้าง จำนวน 12 งวด เป็นเงิน 16,350,062.60 บาท สำหรับการเบิกจ่ายเงินค่าก่อสร้าง มีการเบิกจ่ายไปแล้ว 409,418,316.25 บาท และยังคงเหลือเงินที่ไม่ได้เบิกจ่ายเป็นเงิน 1,457,730,683.75 บาท โดยการก่อสร้างขณะนี้มีความคืบหน้าไปแล้ว ในภาพรวมประมาณ15-20% เนื่องจากในช่วงแรกของการก่อสร้างเป็นงานฐานรากต้องใช้เวลาค่อนมาก หลังจากนั้นการก่อสร้างจะเปลี่ยนโฉมอย่างรวดเร็วขึ้น โดยมีระยะเวลาดำเนินก่อสร้างตามสัญญาที่เหลืออีก ประมาณ 446 วัน( 1 ปี 2 เดือน 21 วัน) ก็จะถึงกำหนดส่งมอบงาน จากสัญญาที่กำหนดไว้ 730 วัน
ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นศูนย์ประชุมนานาชาติของรัฐบาล ในส่วนภูมิภาคแห่งแรกของไทย ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลไทย โดยการก่อสร้างศูนย์ประชุมดังกล่าวจะสนับสนุนให้เชียงใหม่ เป็นเมืองศูนย์กลางการประชุมนานาชาติระดับภูมิภาค รองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพ ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มมูลค่าและคุณค่าสินค้าการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการจัดการประชุมในระดับนานาชาติ และเป็นกลไกในการเพิ่มศักยภาพให้ไทย ในการรองรับตลาดตลาดการประชุมและแสดงสินค้า(MICE - Meeting, Incentive, Convention, Exhibition) โดยศูนย์ประชุมดังกล่าวสามารถรองรับคนได้มากกว่า 10,000 คน ซึ่งจะมีห้องประชุมใหญ่ รองรับคนได้กว่า 3,000 คน ห้องประชุมเล็ก/ย่อยต่างๆ รองรับคนได้กว่า 3,000 คน ศูนย์/ห้องอาหาร รองรับคนได้กว่า 2,000 คน และพื้นที่จอดรถ รองรับได้กว่า 3,000 คัน และมีพื้นที่ใช้สอยต่างๆ ไม่ว่าสระน้ำ/อ่างเก็บน้ำ สำนักงาน ร้านค้า ของที่ระลึก นิทรรศการ ธนาคาร ไปรษณีย์ ขนส่ง บริษัททัวร์ หน่วยงานราชการลักษณะบริการแบบเบ็ดเสร็จ และอื่นๆ ในการรองรับธุรกิจตลาดการประชุมและแสดงสินค้าไมซ์(MICE) จำนวนทั้งสิ้นกว่า 326 ไร่ อีกทั้งมีบริเวณโดยรอบและใกล้เคียงที่จะสามารถสนับสนุนธุรกิจไมซ์ได้
นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้กล่าวปิดท้ายว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะผลักดัน เร่งรัด ติดตามการก่อสร้างเป็นระยะ อย่างต่อเนื่อง เพื่อพี่น้องชาวเชียงใหม่ ภาคธุรกิจไมซ์ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ที่ต้องการการฟื้นฟู ความเชื่อมั่น การเติบโต และการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับนานาชาติ ตลอดจนจะพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องจากการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่ และแผนการลงทุน หรือการตลาดของศูนย์ประชุมนานาชาติเชียงใหม่ โดยอาจจะให้มีการบริหารจัดการคล้ายกับศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ หรือมีการควบคุมโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหรือหน่วยงานของรัฐร่วมกับเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ ซึ่งจะต้องสรุปผลอย่างชัดเจน ในแง่ความเป็นไป ผลได้ผลเสีย และประโยชน์ที่ได้รับอย่างรอบคอบ ทั้งจะต้องทำควบคู่กันไป หากการก่อสร้างดำเนินงานมาถึงประมาณ 50 % น่าจะสรุปผลที่ดี และคุ้มค่าได้ ทั้งทั้งนั้นเพื่อที่จะสามารถรองรับการดำเนินงานเต็มรูปแบบในอนาคตนี้ อันจะทำให้ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นไมซ์เพลส(MICE Place) เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ และบรรลุเป้าหมายของรัฐบาล ในการพัฒนาการท่องเที่ยวไทย ไปสู่ระดับนานาชาติ(World Class Destination) โดยปลายปี 2554 มั่นใจว่า ชาวเชียงใหม่ และนักท่องเที่ยว จะต้องได้ยลโฉม ชมความอลังการ และใช้บริการของศูนย์ประชุมฯ ควบคู่ ศูนย์เอสเอ็มอี(SMEs)แห่งนี้แน่นอน