กรุงเทพฯ--10 ส.ค.--สกว.
กรมคุมประพฤติชู “ยุติธรรมชุมชน” ใช้วิจัยดึงพลังชาวบ้าน แก้ปัญหาคนล้นคุกเตรียมชงเป็นวาระชาติ ย้ำให้ผอ.ในพื้นที่สนับสนุนแนวทางยุติธรรมชุมชน ขณะที่ ผอ.สกว. เชิญชวนเจ้าหน้าที่คุมประพฤติใช้งานวิจัย ยกระดับการทำงาน
กรมคุมประพฤติ โดยสำนักงานคุมประพฤติภาค 5 สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดลำพูนร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)สำนักงานภาค จัดงาน“มหกรรมวิชาการงานยุติธรรมชุมชน” ภาค 5 ขึ้นเพื่อนำเสนอแนวทางและกระบวนการสร้างระบบยุติธรรมชุมชนด้วยงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นต่อเจ้าหน้าที่คุมประพฤติทั้งระดับบริหารและระดับปฏิบัติ โดยในงานนี้มีผู้สนใจจากกรมคุมประพฤติในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนเข้าร่วมกว่า 100 คน บที่มาของการจัดงานในครั้งนี้ สืบเนื่องจากการจัดการความขัดแย้งและอาชญากรรมด้วยยุติธรรมกระแสหลัก เป็นการรวมศูนย์การจัดการทำให้คดีเข้าสู่ระบบยุติธรรมเกินความจำเป็น ทำให้เกิดภาวะ “คดีล้นศาล คนล้นคุก” รัฐบาลจึงแก้ไขด้วยการพัฒนากระบวนการยุติธรรม ทั้งปฏิรูปกฎหมาย ปฏิรูปหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม
โดยในส่วนของกระทรวงยุติธรรมก็กำหนดยุทธศาสตร์ “ยุติธรรมถ้วนหน้า ประชามีส่วนร่วม” เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงความยุติธรรมอย่างรวดเร็ว
ภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว สำนักงานคุมประพฤติภาค 5 และสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดลำพูน หน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรมได้ใช้กระบวนการวิจัย เพื่อค้นหาแนวทางและกระบวนการดึงชุมชนเข้ามาเป็นกลไกในการดำเนินงานคุมประพฤติ โดยใช้พื้นที่บ้านนากลาง บ้านปู บ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน เป็นพื้นที่นำร่อง
ในระยะเวลากว่า 2 ปีในการทำงานด้วยการปรับกระบวนคิดและทัศนะคติว่า “ต้องเข้าไปเรียนรู้ร่วมกับชุมชน” แทนการเข้าไปแนะนำหรือสอนซึ่งเป็นวิธีการแบบเดิม ๆ ขณะเดียวกันก็เข้าไปแกนนำในการเปิดเวทีให้ชาวบ้านเข้ามาร่วมกันพูดคุย แลกเปลี่ยน ค้นหาปัญหาในชุมชน และให้ชาวบ้านร่วมกันแก้ไขปัญหาของตนเอง และก็พบว่าปัญหาของชุมชนคือความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านและครู ซึ่งการเข้าไปเป็น “ตัวประสาน” ของทีมกรมคุมประพฤติสามารถลดข้อขัดแย้ง ระหว่างชาวบ้านและครูในโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความสมานฉันท์ ขึ้นในชุมชน สิ่งที่เห็นชัดเจนที่สุดคือ จากที่ไม่เคยมีผู้ปกครองเข้าร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียนก็เปลี่ยนมาเป็นการร่วมแรงร่วมใจกันทุก ๆ กิจกรรมของชุมชนไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการปลูกป่า หรือการสร้างซุ้มประตูวัด เป็นต้น
นายวันชัย รุจนวงศ์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม กล่าวในโอกาสที่ได้เดินทางมาร่วมงานดังกล่าวว่า ปัจจุบันมีคดีต่าง ๆ
ทั้งแพ่งและอาญามากว่า 1 ล้านคดี ขณะที่ระบบหรือกระบวนการยุติธรรมเองก็สามารถจัดการได้วันละไม่เกิน 5 — 10 คดีเนื่องจากหลายคดีมีความสลับซับซ้อน และบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมมีไม่เพียงพอ ระบบยุติธรรมขณะนี้จึงเปรียบเสมือนเครื่องจักรที่กำลังโหลด ทั้งๆ ที่คดีบางประเภทเป็นคดีเล็กๆ ระหว่างชาวบ้านด้วยกันเอง ซึ่งสามารถเจรจาตกลงยอมความกันได้ ฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องหากระบวนการหรือรูปแบบให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทในการร่วมกันสร้างระบบยุติธรรมของชุมชนเอง
“แม้ยุติธรรมชุมชนจะเป็นแนวคิดใหม่ แต่ก็เป็นแนวคิดที่ใช้กันอยู่ในหลาย ๆ ประเทศ เพราะแต่ละประเทศล้วนประสบปัญหาเช่นเดียวกัน
เนื่องจากอาชญากรรมเกิดขึ้นตลอด และเกินกำลังกว่าเจ้าหน้าที่จะดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในบ้านเรา ผมมองว่าชุมชนก็สามารถใช้กระบวนการยุติธรรมของชุมชนมาไกล่เกลี่ยหรือคลี่คลายกรณีพิพาทได้ โดยไม่ต้องเสียเงินในการมาศาล ไม่ต้องเสียเงินจ้างทนายความ หรือฟ้องร้องกัน
อีกทั้งยังสามารถช่วยกันตรวจสอบดูแล หรือป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นได้ จะทำให้เกิดความสงบ และความยุติธรรมขึ้นในชุมชน เมื่อแต่ละชุมชนมีความสงบ ไม่มีข้อขัดแย้ง มาต่อเชื่อมกันแน่นอนก็คือมันจะเกิดความสงบขึ้นในภูมิภาค และขยายวงกว้างขึ้นไปเป็นความสงบสุขภายในประเทศ
เมื่อเป็นแบบนี้ชุมชนจะได้มีเวลาไปประกอบอาชีพได้อย่างมีความสุข”
ด้าน ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า โดยเป้าหมายของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ที่ทาง สกว.ใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้มแข้งให้แก่ชุมชนท้องถิ่นนั้น การป้องกันความขัดแย้ง หรือ การหากลไกในการประสานงานเพื่อลดข้อขัดแย้งในชุมชนก็เป็นเป้าหมายหนึ่งของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเช่นกัน สำหรับการทำงานร่วมกับกรมคุมประพฤติ ในส่วนของ สกว.เอง บทบาทหลัก ๆ คือการส่งเจ้าหน้าที่ลงไปช่วยหนุนเสริมกระบวนการทำงาน โดยเฉพาะกระบวนการทำงานร่วมกับชุมชน
“การใช้งานวิจัยเข้าไปช่วยหนุนในกระบวนการทำงาน เป็นการทำงานเพื่อหามาตรฐาน โดยเฉพาะหากผลักเป็นวาระชาติผมคิดว่า
ต้องเกิดโครงการวิจัยที่เจ้าหน้าที่ของกรมคุมประพฤติเป็นผู้ทำอย่างน้อย 20 — 30 โครงการ จำนวนโครงการที่มากจะเป็นหลักฐานหรือสร้างคำยืนยันให้เห็นว่าแนวทาง งานวิจัยเป็นทางออกที่สวยงามมากหากเราต้องการข้อมูลเพื่อนำไปยืนยันต้อการผลักดันให้กระบวนการยุติธรรมชุมชนเป็นวาระชาติ
งานลักษณะนี้ สกว.หนุนเต็มที่เพียงแต่รอคนที่จะมาทำ รอผู้บริหารเปิดไฟเขียวให้ผู้ปฏิบัติได้ลงมาทำงานวิจัยจริง ๆ” ผอ.สกว.กล่าวย้ำถึงความพร้อมในการสนับสนุนหากเจ้าหน้าที่จากกรมคุมประพฤติท่านใดสนใจจะทำงานวิจัย
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net