เจ้าพระยาปนเปื้อนสารเคมีอันตราย กรีนพีซเร่งรัฐออกมาตรการปกป้องแหล่งน้ำโดยด่วน

ข่าวทั่วไป Tuesday July 13, 2010 14:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--กรีนพีซ กรีนพีซเปิดเผยรายงานล่าสุดพบสารพิษปริมาณสูงในคลองที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา บ่งชี้ถึงมาตรการควบคุมและตรวจสอบของภาครัฐที่หละหลวม พร้อมเรียกร้องให้เร่งนำระบบเปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษมาใช้ (1) รวมถึงตั้งเป้าหมาย “มลพิษเหลือศูนย์” เพื่อลดการปล่อยสารเคมีในน้ำทิ้งจากภาคอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง (2) รายงาน “การตรวจสอบสารเคมีอันตรายในน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมฟอกย้อมและการปนเปื้อนของสารเคมีในคลองบริเวณใกล้เคียงซึ่งเชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ประเทศไทย พ.ศ. 2553” เป็นผลวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำและตะกอนดินที่เก็บโดยหน่วยศึกษาและเฝ้าระวังมลพิษทางน้ำเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งพบโลหะหนัก และสารเคมีอันตรายที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ปนเปื้อนอยู่ในน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมรวมถึงในน้ำและตะกอนดินในคลองที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา สารเคมีบางชนิดที่พบนั้นมีปริมาณสูงกว่ามาตรฐานน้ำผิวดินในประเทศไทย นอกจากนี้ยังพบสารเคมีที่ยังไม่ถูกบรรจุอยู่ในมาตรฐานของประเทศไทยอีกด้วย ตัวอย่างน้ำทิ้งจากโรงงานฟอกย้อมปนเปื้อนไปด้วยสารเคมีอันตรายหลายชนิด (3) อย่างเช่น พบสารโนนิลฟีนอล (Nonyl phenols) ซึ่งเป็นสารที่คงทนในสิ่งแวดล้อม มีคุณสมบัติรบกวนการทำงานของฮอร์โมนในสิ่งมีชีวิต และสาร 2-เนฟทาลีนาทมีน หรือ 2-เนฟทิลเอมีน (2-Naphthalenamine หรือ 2 naphthylamine) ซึ่งเป็นสารที่ได้จากการสลายตัวของสีย้อมผ้าบางชนิด เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ในน้ำทิ้งที่ปล่อยจากโรงงานสามชัยพิมพ์ผ้า และพบสารไตร-ไอโซ-บิวทิลฟอสเฟต (tri-iso-butyl phosphate; TiBP) ซึ่งเป็นสารพิษที่ใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ในน้ำทิ้งจากโรงงานฟอกและย้อมผ้านำบุญ “ผลสำรวจที่ออกมาเป็นอีกหนึ่งของสัญญาณเตือนถึงอันตรายที่แฝงอยู่ในมลพิษอุตสาหกรรม เมื่อสารพิษเหล่านี้ถูกปล่อยออกมาแล้ว เป็นเรื่องยากที่จะตรวจสอบและที่สำคัญคือยากที่จะกำจัดสารเคมีเหล่านี้ให้หมดไปจากแหล่งน้ำ ซึ่งบางชนิดก็เป็นสารพิษที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์” นายพลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว “หลายประเทศได้มีการควบคุมการใช้และการปล่อยสารโนนิลฟีนอลและ 2-เนฟทาลีนาทมีน ซึ่งมีความเป็นพิษและยากที่จะกำจัดออกจากสิ่งแวดล้อม” นายพลายกล่าว “มลพิษจากอุตสาหกรรมฟอกย้อมเป็นเรื่องน่ากังวลไม่น้อยกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ แม้โรงงานทั้งสองแห่งนี้เป็นเพียงส่วนเล็กๆในเขตพื้นที่อุตสาหกรรมทั้งหมด แต่ก็เป็นตัวอย่างบ่งชี้ถึงปัญหาโดยรวมของน้ำทิ้งอุตสาหกรรมที่ล้วนปล่อยลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาหรือคลองที่เชื่อมต่อ” ตัวอย่างน้ำที่เก็บจากคลองสำโรง พบสารโนนิลฟีนอลและไตร-ไอโซ-บิวทิลฟอสเฟต (TiBP) รวมถึงโลหะหนักอย่างทองแดง ตะกั่ว แมงกานีส นิกเกิล และสังกะสี มีค่าเกินมาตรฐานแหล่งน้ำผิวดินของไทยประมาณ 3-8 เท่า และตัวอย่างตะกอนดินพบปนเปื้อนโครเมียม ทองแดง นิกเกิล ตะกั่ว และสังกะสีในระดับสูง โดยสังกะสีมีค่าสูงกว่าค่าความเข้มข้นพื้นฐานมากถึง 30 เท่า ตัวอย่างน้ำที่เก็บจากคลองบางนางเกร็งพบปนเปื้อนสารโนนิลฟีนอลและไตร-ไอโซ-บิวทิลฟอสเฟต (TiBP) เช่นกัน และยังพบทองแดงและนิกเกิลสูงกว่าค่ามาตรฐานน้ำผิวดินของไทยถึง 2 เท่า นอกจากนี้ตัวอย่างตะกอนดินจากคลองบางนางเกร็งยังปนเปื้อนโครเมียม ทองแดง สังกะสี และนิกเกิลสูงที่สุดในตัวอย่างตะกอนดินทั้งหมดที่เก็บในการศึกษาครั้งนี้ โดยค่าสังกะสีและนิกเกิลมีค่าสูงกว่าค่าความเข้มข้นพื้นฐานปกติถึง 30 และ 80 เท่าตามลำดับ “การศึกษาครั้งนี้ได้ชี้ชัดว่าเราต้องการการลงมือแก้ไขโดยด่วน นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่ากรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมควบคุมมลพิษไม่สามารถปกป้องแหล่งน้ำของเราจากการปนเปื้อนสารพิษได้ ทั้งนี้การปฏิบัตินโยบายด้านการจัดการสารเคมียังไม่ครอบคลุมและไม่สามารถควบคุมการใช้และปลดปล่อยสารพิษสู่สิ่งแวดล้อมได้อย่างเพียงพอ” นายพลายกล่าวเสริม กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลลงมือ - รวบรวมจัดทำบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตรายที่ควรเลิกใช้ - จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อ ลด จำกัดการใช้ และเลิกใช้สารเคมีอันตรายในกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน โดยมุ่งสู่เป้าหมาย “มลพิษเหลือศูนย์” ส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดคือการนำระบบการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษมาใช้ เช่น ทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTRs) เป็นเครื่องมือทางนโยบายโดยใช้หลักการความโปร่งใสด้านการรายงานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนเป็นตัวผลักดันให้เกิดการพัฒนาการลดมลพิษ หลักการดังกล่าวได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้แล้วในประเทศต่างๆทั่วโลก (4) กรีนพีซศึกษาและเก็บตัวอย่างน้ำในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2553 โดยเก็บตัวอย่างน้ำและตะกอนดินจากคลองสำโรง บางนางเกร็ง และบางปลากด ซึ่งเชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ในเขตจังหวัดสมุทรปราการ และเก็บตัวอย่างน้ำทิ้งจากโรงงานสามชัยพิมพ์ผ้า และโรงงานฟอกและย้อมผ้านำบุญในคลองสำโรง กรีนพีซทำงานรณรงค์ด้วยหลักการเผชิญหน้าอย่างสันติวิธี นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และพฤติกรรม เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและสันติภาพ สามารถดาวโหลดรายงานได้ที่ www.greenpeace.or.th/water-sampling หมายเหตุ 1. ระบบการเปิดเผยข้อมูลมลพิษ อาทิ “ทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Registers- PRTRs)” เป็นเครื่องมือทางนโยบายหรือระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมโดยใช้หลักการความโปร่งใสด้านการรายงานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนเป็นตัวผลักดันให้เกิดการพัฒนาการลดมลพิษ โดยแต่ละโรงงานต้องรายงานข้อมูลการใช้และการปล่อยสารเคมีอันตรายสู่สิ่งแวดล้อม รวมถึงการเคลื่อนย้ายกากอุตสาหกรรมเพื่อการกำจัดทำลาย ทิศทางข้อมูลดังกล่าวจะเป็นตัวชี้ว่าแต่ละโรงงานหรือภาคอุตสาหกรรมมีความคืบหน้าในการลดมลพิษได้เท่าไร สามารถชี้ให้เห็นถึงโอกาสในการพัฒนา และยังรวมการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือประชาชนหรือชุมชนจะสามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อเรียนรู้ถึงมลพิษที่อยู่ในบริเวณที่อยู่อาศัย ตระหนักในการเฝ้าระวังและป้องกันอันตราย ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนต้องได้รับ รายละเอียดเพิ่มเติม http://www.greenpeace.org/seasia/th/water-patrol/reports/pollutant-release-and-transfer-register 2. “มลพิษเหลือศูนย์ (Zero Discharges)” หมายถึงการยุติการปลดปล่อยมลพิษที่เป็นสารเคมีอันตรายภายใต้กรอบระยะที่กำหนด โดยมีการตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนตามช่วงเวลาต่างๆ ที่สามารถชี้ให้เห็นถึงความคืบหน้าในการลดการปล่อย การบรรลุเป้าหมายสามารถทำได้โดยการนำวิธีการลดมลพิษต่างๆ มาประยุกต์ใช้ อาทิ การออกแบบผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด การปรับปรุงกระบวนการผลิต การนำมาใช้ใหม่ และการทดแทนสารเคมีอันตรายด้วยสารเคมีที่ปลอดภัยกว่า ซึ่งสารเคมีอันตรายส่วนใหญ่จะไม่สามารถทำลายให้หมดไปหรือกำจัดได้ทั้งหมดแม้มีการบำบัด ดังนั้นการลดมลพิษจึงต้องใช้หลักป้องกันไว้ก่อน ทั้งนี้ การตั้งเป้าหมายระยะแรกอาจเริ่มจากการจัดทำบัญชีสารเคมีอันตรายที่สำคัญต่อการควบคุม ที่มีการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม และจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อ ลด จำกัดการใช้ และเลิกใช้สารเคมีอันตรายดังกล่าว 3. ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันได้มีการตั้งเป้าหมายที่จะยุติการปล่อยสารเคมีอันตรายสู่สิ่งแวดล้อมในสหภาพยุโรป ในภูมิภาคแอตแลนติกตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลบอลติก เป็นต้น ขณะนี้ระบบทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTRs) ได้มีการนำมาเป็นกฎหมายใช้ในหลายประเทศในโลก ทั้งในสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา บางประเทศในเอเชียและลาตินอเมริกา 4. รายละเอียดเกี่ยวกับสารเคมีอันตรายที่พบ และเอกสารอ้างอิงสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในรายงาน (1) โนนิลฟีนอล (Nonyl phenols; NP): มีความคงทนและสามารถสะสมในสิ่งแวดล้อม รวมถึงในเนื้อเยื่อของปลา สิ่งมีชีวิตที่อาศัยในน้ำ และปริมาณมากเพิ่มขึ้นในแต่ละลำดับในห่วงโซ่อาหาร หนึ่งในอันตรายที่พบเห็นได้ อาทิ ผลกระทบเกี่ยวกับผลของฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านเพศ การสร้างอสุจิ และความเสียหายต่อดีเอ็นเอของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ โนนิลฟีนอลถูกจัดให้เป็นสารเคมีที่มีอันตรายในลำดับต้นๆ โดยสหภาพยุโรปภายใต้กรอบการจัดการแหล่งน้ำ นอกจากนี้ Directive 2003/53/EC ยังกำหนดว่าผลิตภัณฑ์ที่มีการปนเปื้อนของโนนิลฟีนอลมากกว่า 0.1% จะไม่สามารถวางขายในตลาดในทวีปยุโรปได้ 2-เนฟทาลีนาทมีน (2-Naphthalenamine; 2NA) ถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ สารเคมีชนิดนี้ไม่ว่าจะอยู่ในรูปสารบริสุทธ์หรือเจือปนอยู่กับสารอื่นก็สามารถทำให้เกิดมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะในคนที่สัมผัสกับสารชนิดนี้ ทั้งนี้ 2NA อาจได้มาจากการสลายตัวของสีเอโซ (azo dye) บางชนิด ในทวีปยุโรปได้มีการห้ามใช้สีเอโซซึ่งสามารถสลายให้สารก่อมะเร็ง (สารอะโรมาติกเอมีน) ในสิ่งทอหรือเครื่องหนัง และมีการรณรงค์หยุดการใช้สิ่งทอที่ใช้สีเอโซซึ่งอาจเป็นตัวการที่ปล่อยสาร 2NA ในปริมาณที่เทียบเท่ากับที่ถูกห้าม ไตร-ไอโซ-บิวทิลฟอสเฟต (tri-iso-butyl phosphate; TiBP) มีความเป็นพิษต่อสัตว์น้ำ และหนู (จากการทดลอง) ถูกจัดให้เป็นสารระคายเคืองต่อผิวหนังมนุษย์ ทั้งนี้ ข้อมูลความเป็นพิษของ TiBP ในมนุษย์ยังมีอยู่จำกัด โครเมียม (Chromium; Cr) โครเมียม(III) ปริมาณสูงเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต แต่โครเมียม(VI) แม้ปริมาณต่ำๆ ก็มีความเป็นพิษและสามารถทำอันตรายแก่สิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะพวกที่อาศัยในน้ำได้ ทั้งนี้โครเมียม(VI) ยังถูกจัดให้เป็นสารก่อมะเร็งอีกด้วย ทองแดง (Copper; Cu) การได้รับทองแดงปริมาณสูงในพืชและสิ่งมีชีวิตจะก่อให้เกิดความเป็นพิษ สามารถสะสมและส่งต่อไปตามห่วงโซ่อาหารได้ การปล่อยทองแดงลงสู่แหล่งน้ำ โดยเฉพาะในรูปสารละลายก่อให้เกิดผลระทบกระจายอย่างกว้างขวางได้ และมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำหลายชนิดที่ไวต่อพิษทองแดงแม้ในความเข้มข้นต่ำ ตะกั่ว (Lead; Pb) ตะกั่วเป็นสารที่มีความเป็นพิษสูงต่อมนุษย์ หากได้รับตะกั่วสู่ร่างกายซ้ำๆ แม้ปริมาณต่ำก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบประสาท โดยเฉพาะการเจริญของระบบประสาทในเด็ก ระบบเลือด ไต และระบบสืบพันธุ์ได้ บางรายงานระบุว่าอาจไม่มีระดับความเข้มข้นของตะกั่วที่ปลอดภัย โดยเฉพาะผลที่จะเกิดกับระบบประสาทส่วนกลางของมนุษย์ นิกเกิล (Nickel; Ni) สารประกอบนิกเกิลบางชนิดยังถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็งในคนและสัตว์ นิกเกิลความเข้มข้นต่ำอาจส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในน้ำ นอกจากนี้พบว่ามีประชากรมนุษย์กว่า 2-5% ไวต่อนิกเกิล ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากนิกเกิลแม้ในปริมาณต่ำมาก สังกะสี (Zinc; Zn) การได้รับสังกะสีในปริมาณที่มากเกินไปจะก่อให้เกิดการสะสม และเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำได้ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อตับอ่อน เกิดภาวะโลหิตจาง ปวดบริเวณกระเพาะและลำไส้ ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ พลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โทร. 0 2357 1921 ต่อ 135, วิริยา กิ่งวัชระพงศ์ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน โทร. 0 2357 1921 ต่อ115, http://waterpatrol.greenpeace.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ