กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--กรมทรัพย์สินทางปัญญา
พาณิชย์จับมือภาครัฐเอกชนเร่งแก้ปัญหายาละเมิดเครื่องหมายการค้า เตรียมทำ MOU ร่วม 12 หน่วยงาน ต้นสิงหานี้ พร้อมเสนอตั้งโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยนำร่องใน 5 ภูมิภาค เพื่อสนับสนุนแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์
นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมเรื่องการคุ้มครองทรัพยสินทางปัญญาในสินค้ายาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหายาละเมิดเครื่องหมายการค้าร่วมกันโดยเตรียมจัดทำ MOU เรื่องความร่วมมือป้องกันและปราบปรามยาละเมิดเครื่องหมายการค้า โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวม 12 หน่วยงาน ร่วมลงนาม คือ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมศุลกากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานอาหารและยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน (TPMA) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ สำนักงานอัยการฝ่ายคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ สภาเภสัชกรรม และหน่วยงานภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะสามารถลงนามใน MOU ได้ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2553
นอกจากนี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่าจากการที่สมุนไพรและการแพทย์แผนไทย เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในการพัฒนาประเทศตามแนวทางดังกล่าวได้เสนอขอการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรี จัดตั้งโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยขึ้นใน 5 ภูมิภาคของประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนา และการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยอย่างจริงจังต่อไป
ในส่วนของการแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบสิทธิบัตรยา และการปรับปรุงฐานข้อมูลสิทธิบัตรซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ระหว่างการดำเนินการนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้มอบนโยบายให้มีการพิจารณากรอบความเชื่อมโยงกับองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก UNCTAD WTO และองค์การอนามัยโลกด้วย นอกจากนี้ได้มอบหมายกรมทรัพย์สินทางปัญญาร่วมการศึกษาวิจัยเรื่อง evergreening patent หรือสิทธิบัตรที่ไม่มีวันหมดอายุ เพื่อหาแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมและเป็นธรรม
นายอลงกรณ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่าจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2553 ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาด้านยาและเวชภัณฑ์ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมเป็นอนุกรรมการ เพื่อยกร่างยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาด้านยาและเวชภัณฑ์ พร้อมทั้งให้มีการแต่งตั้งอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะอนุกรรมการดังกล่าว จำนวน 3 — 5 คน นั้น ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งจะต้องมีความเป็นกลาง ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และน่าจะมีนักวิจัยที่ทำงานให้ประเทศไทยเข้าร่วมด้วย โดยขอให้ผู้ที่ต้องการเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิแจ้งกรมทรัพย์สินทางปัญญาทราบ ภายในวันที่ 16 กรกฎาคม 2553 เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาลงนามในคำสั่งแต่งตั้งต่อไป
ด้าน PReMA ได้เสนอแนวทางความร่วมมือเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยา ในการดำเนินโครงการ Partnership for Safe Medicine ที่มีความครอบคลุม 6 ด้าน คือ การสร้างความตระหนักเกี่ยวกับยาคุณภาพ การพัฒนาศักยภาพของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การปราบปรามยาที่ไม่ได้มาตรฐาน การปรับปรุงระบบการจัดหายา (supply chain) การพัฒนาระบบการขนส่งยา (logistic) และการพัฒนาระบบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง