กรุงเทพฯ--1 ก.พ.--บีโอไอ
บอร์ดบีโอไอเดินหน้าหนุนธุรกิจโลจิสติกส์ เปิดส่งเสริมโลจิสติกส์ปาร์คเพิ่มประสิทธิภาพอำนวยความสะดวกการค้า-ส่งออกครบวงจร พร้อมยกระดับเครือข่ายให้แข่งขันได้ในเวทีโลก
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ว่า เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในธุรกิจบริการด้านโลจิสติกส์อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสนับสนุนอุตสาหกรรมการส่งออกของประเทศ คณะกรรมการได้มีมติเห็นชอบ เปิดให้การส่งเสริมในประเภทกิจการ เขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ (Logistics Park)
โดยกำหนดเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ ดังนี้ มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 200 ไร่ และต้องมีการลงทุนก่อสร้างคลังสินค้าให้เช่าหรือขาย โดยมีพื้นที่รวมกันไม่น้อยกว่า 50,000 ตารางเมตร ต้องตั้งในพื้นที่รัศมีไม่เกิน 50 กิโลเมตรจากบริเวณท่าเรือ ท่าอากาศยาน ด่านชายแดนศุลกากร สถานีขนส่ง ICD หรืออยู่ใน เขตปลอดอากร (Free Zone) หรือเขตส่งออก (EPZ) ต้องจัดให้มีพื้นที่บางส่วนหรือทั้งหมดเป็นเขตปลอดอากร ต้องจัดให้มีสถานีเปลี่ยนถ่ายขึ้น — ลง ตู้คอนเทนเนอร์ หรือสถานีรถบรรทุกและสถานที่เก็บและรับฝากตู้คอนเทนเนอร์อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 50 ตู้ ต้องมีระบบโทรคมนาคมหลักที่มีการวางสายสื่อสารแบบความเร็วสูงจากโลจิสติกส์พาร์คไปยังศูนย์กลางสื่อสารโทรคมนาคมในประเทศและระหว่างประเทศ ต้องมีผู้ถือหุ้นไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี ทุกเขต
ที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ และเงื่อนไขประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมอยู่เดิม ประเภท 7.7 กิจการศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศด้วยระบบที่ทันสมัย (IDC:International Distribution Center) ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยกำหนดว่าจะต้องเป็นศูนย์กระจายสินค้าไปต่างประเทศที่ให้การขนส่ง / จัดส่ง เก็บรักษา บรรจุ และบริหารสินค้าคงคลังของลูกค้า ต้องกระจายสินค้าไปต่างประเทศไม่น้อยกว่า 5 ประเทศ มีพื้นที่คลังสินค้าไม่น้อยกว่า 5,000 ตารางเมตร และมีอุปกรณ์จัดเก็บที่ขนถ่ายที่ทันสมัย ต้องมีระบบควบคุมบริหารคลังสินค้าด้วยระบบไอทีที่ทันสมัย และมีระบบติดตามสินค้าแบบออนไลน์ เป็นต้น โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และยกเว้นภาษีเงินได่นิติบุคคล 5 ปีทุกเขตที่ตั้ง และ 8 ปี หากตั้งในเขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้ปรับปรุงชื่อประเภทกิจการและเงื่อนไขบางส่วนในประเภท 7.5.2 กิจการพัฒนาอาคารสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถให้การส่งเสริมการลงทุนแก่ธุรกิจที่สนับสนุนโลจิสติกส์มากขึ้น โดยเปลี่ยนชื่อเป็น กิจการพัฒนาอาคารสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมและคลังสินค้า และประเภท 4.21 กิจการผลิตและซ่อมบำรุงรักษาตู้สินค้าแบบคอนเทนเนอร์ โดยเปลี่ยนชื่อเป็น กิจการผลิตและซ่อมบำรุงรักษาตู้สินค้าแบบคอนเทนเนอร์และเครื่องจักรอุปกรณ์ในการขนถ่ายสินค้า