ชุมพล หวังตัวเลขนักท่องเที่ยวเข้าไทย สิ้นปีนี้ 14.97 ล้านคน

ข่าวท่องเที่ยว Thursday July 15, 2010 09:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.ค.--กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานการประชุมร่วมกับภาคเอกชนทางด้านการท่องเที่ยว เกี่ยวกับการท่องเที่ยวของประเทศไทยในปัจจุบัน (Thailand Update) ประจำเดือน กรกฎาคม 2553 เพื่อติดตามและวิเคราะห์ สถานการณ์ เหตุการณ์ ทางด้านการท่องเที่ยวของประเทศ ณ ห้องประชุมชั้น 10 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2553 นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยว ว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศ ด้วยการให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ผ่อนปรนคุณสมบัติ ผู้ขอกู้ให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่ได้จดทะเบียนในนามนิติบุคคล วงเงินต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท ระยะเวลาการกู้ยืมสูงสุด 8 ปี ระยะเวลาชำระคืนเงินต้น (Grace Period) 2 ปี อัตราดอกเบี้ย ธพว. เรียกเก็บดอกเบี้ยจากผู้กู้ร้อยละ MLR ลบ 3 ต่อปี เป็นเวลา 2 ปี ยกเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ (Front End Fee, Prepayment Fee, การจัดทำนิติกรรม) อนุมัติให้ ธพว.ดำเนินการแยกบัญชีการดำเนินงานตามโครงการซึ่งเป็นนโยบายของรัฐ ออกจาก การดำเนินงานปกติของธนาคาร เพื่อขอรับการชดเชยความค่าเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตจากรัฐบาล ให้ ธพว.กำหนดวิธีการที่อำนวยความสะดวก เพื่อให้การอนุมัติเงินกู้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว เพื่อผ่อนคลายสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว งบประมาณเพื่อเป็นเงินอุดหนุนเป็นค่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยให้กับ ธพว.ในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของวงเงินสินเชื่อที่ปล่อยจริง แต่ไม่เกิน 5,000 ล้านบาท เป็นเวลา 2 ปี รวมเป็นเงิน 200 ล้านบาท ดังนี้ งบกลางรายจ่ายสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2553 วงเงิน 25 ล้านบาท เพื่อจัดสรรอุดหนุนให้ ธพว. เป็นเงินชดเชยอัตราดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 (เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2553) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2554 วงเงิน 100 ล้านบาท เพื่อจัดสรรอุดหนุนให้ ธพว.เป็นเงินชดเชยอัตราดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2555 วงเงิน 75 ล้านบาท เพื่อจัดสรรอุดหนุนให้ ธพว.เป็นเงินชดเชยอัตราดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 (เดือนตุลาคม 2554- มิถุนายน 2555) ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่ ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รับไปพิจารณาทบทวนในรายละเอียดให้ชัดเจนแล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง และ สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการขอสินเชื่อในส่วนของผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวขนาดกลางและขนาดย่อมนั้น ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารับไปหารือร่วมกับกระทรวงการคลังและธนาคารออมสิน เพื่อดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ไดรับผลกระทบ ในส่วนของสถานการณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยภาพรวม 6 เดือนของปี 2552 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 6,609,913 คน ในปี 2553 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 7,487,880 คน ซึ่งเพิ่มจากปี 2552 จำนวน 13.29% โดยคาดว่าสิ้นปี 2553 หากไม่มีผลกระทบจากทางการเมืองเกิดขึ้น หรือเหตุการณ์ปิดสนามบินอีก ตัวเลขนักท่องเที่ยวน่าจะถึง 14.97 ล้านคน ซึ่งตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน-ปัจจุบัน ตัวเลขนักท่องเที่ยวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคใต้ ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองมากนัก ในส่วนของ กรุงเทพ และจังหวัดเชียงใหม่ เริ่มมีการฟื้นฟูไปในทางที่ดี และตลาดใกล้อย่างเช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี มีแนวโน้มที่ดีขึ้น คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากจีนเดินทางเข้ามาประเทศไทยประมาณ 1.2 ล้านคน ในสิ้นปีนี้ นอกจากนี้ ภาคเอกชนต้องการให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเร่งงบกระตุ้นการท่องเที่ยว 360 ล้านบาท ที่ค้างอยู่ที่สำนักงบประมาณให้มีการดำเนินการโดยเร็วที่สุด เพื่อจะให้ ททท.เร่งทำฮาร์ด เซลล์ กระตุ้นตลาดภายในประเทศต่อไป นายชุมพล กล่าวปิดท้ายว่า อยากให้ทุกหน่วยงานเน้นหนักการทำตลาดในช่วงโลว์ซีซันทั้งในส่วนของท่องเที่ยวและกีฬา เพราะจะก่อประโยชน์ให้กับประเทศไทยได้มากในช่วงไฮซีซันที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากอยู่แล้ว อีกทั้งตลาดที่ฟื้นฟูช้าอย่างตลาดภาคเหนือจะต้องทำการปรับเปลี่ยนตำแหน่งทางด้านการท่องเที่ยวใหม่ โดยท่านรองนายกรัฐมนตรี นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ได้อนุมัติงบประมาณจำนวนหนึ่ง ผ่านสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว (สพท.) ในการวางแผนฟื้นฟู และปรับเปลี่ยนตำแหน่งทางการตลาดในกลุ่มภาคเหนือ 8 จังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ควรจะมีภาพลักษณ์ทางการท่องเที่ยวใหม่ (Repositioning) และให้ดีขึ้นกว่าเดิม หากศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ สร้างเสร็จคาดว่า เชียงใหม่จะได้รับการตอบรับเป็นเมืองที่มีความนิยมในการจัดประชุมลักษณะธุรกิจไมซ์มากแห่งหนึ่งที่สุดในโลก นอกจากนี้ อยากให้ทุกภาคส่วนมีการประชุมสัมมนาในประเภทต่างๆ ในลักษณะคนไทยช่วยเมืองไทยคนละไม้คนละมือมากขึ้น อาทิ ประชุมศิษย์เก่า ประชุมแซ่ สมาคม ชมรมต่างๆให้มากขึ้น ก็จะทำตลาดท่องเที่ยวประเทศไทยมีความเชื่อมั่นและฟื้นฟูได้เร็วกว่าที่เป็นอยู่มากขึ้น ตลอดจนจะทำให้ต่างชาติเชื่อถือและเชื่อมั่นประเทศไทยในวงกว้างต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 023560650 PR.mots

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ