ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนมิถุนายน 2553 และในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 15, 2010 09:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เผยในเดือนมิถุนายน 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1.1 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้ากว่า 2.6 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิสูงกว่าเป้าหมายกว่า 2.4 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 24.8 เดือนมิถุนายน 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 108,965 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 26,658 ล้านบาท หรือร้อยละ 32.4 เป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนผ่านการจัดเก็บภาษีจาก การบริโภคและการนำเข้าที่สูงกว่าประมาณการเป็นจำนวนมาก โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีน้ำมัน ภาษีรถยนต์ และอากรขาเข้า ทั้งนี้ ภาษีรถยนต์ในเดือนนี้จัดเก็บได้เป็นจำนวน ถึง 7,099 ล้านบาท ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ ยังได้รับรายได้พิเศษจากการส่งคืนเงินประเดิมและเงินชดเชย และดอกผลของเงินดังกล่าวจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จำนวน 8,135 ล้านบาท ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 (ตุลาคม 2552 — มิถุนายน 2553) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,240,065 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 246,177 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.8 สาเหตุหลักมาจากการจัดเก็บภาษีของ 3 กรมในสังกัดกระทรวงการคลังที่สูงกว่าประมาณการในอัตราที่สูง ได้แก่ กรมสรรพสามิต กรมสรรพากร และกรมศุลกากร ซึ่งจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายถึง 86,360 85,526 และ 17,756 ล้านบาท หรือร้อยละ 39.3 10.8 และ 32.2 ตามลำดับ รวมทั้งได้รับรายได้จากการยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อีกจำนวน 49,016 ล้านบาท นายสาธิต รังคสิริ สรุปว่า “จากผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 ที่สูงกว่าเป้าหมายจำนวนมากและแนวโน้มการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้กระทรวงการคลังมั่นใจว่า การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2553 นี้จะสูงกว่าประมาณการไม่ต่ำกว่า สองแสนแปดหมื่นล้านบาทอย่างแน่นอน” สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร 02 273 9020 ต่อ 3500 และ 3545 ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนมิถุนายน 2553 และในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลประจำเดือนมิถุนายน 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 108,965 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 26,658 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 (ตุลาคม 2552 — มิถุนายน 2553) จัดเก็บได้ทั้งสิ้น 1,240,065 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ ตามเอกสารงบประมาณ 246,177 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ กระทรวง การคลังคาดว่าการจัดเก็บรายได้ตลอดทั้งปี จะสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ (1,350,000 ล้านบาท) ไม่ต่ำกว่า 2.8 แสนล้านบาท โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้ 1. เดือนมิถุนายน 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 108,965 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 26,658 ล้านบาท หรือร้อยละ 32.4 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 24.7) เป็นผลจากการที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีจากการบริโภคและการนำเข้าได้สูงกว่าประมาณการเป็น จำนวนมาก โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีน้ำมัน ภาษีรถยนต์ และอากรขาเข้า สูงกว่าประมาณการ 10,224 3,831 3,571 และ 2,280 ล้านบาท ตามลำดับ สำหรับสาเหตุที่ทำให้การจัดเก็บรายได้ในเดือนมิถุนายน 2553 ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีที่แล้วถึงร้อยละ 24.7 นั้น เนื่องจากวันสุดท้ายของการยื่นชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภงด.50) และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ในปีที่แล้วตรงกับวันหยุดราชการ ผู้ประกอบการจึงยื่นชำระภาษีในเดือนมิถุนายน 2552 ในขณะที่การยื่นชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้ปิโตรเลียมของปีนี้เกือบทั้งหมดได้ยื่นชำระภายในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รายได้จากส่วนราชการอื่นจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 5,678 ล้านบาท เนื่องจากในเดือนนี้มีรายได้พิเศษจากการส่งคืนเงินประเดิมและเงินชดเชย และดอกผลของเงินดังกล่าวจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จำนวน 8,135 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ดี ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษจากค่าสัมปทานปิโตรเลียม จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 3,400 ล้านบาท นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 626 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลจากบริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ยังไม่ได้นำส่งรายได้จำนวน 1,105 และ 238 ล้านบาท ตามลำดับ เนื่องจากอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2. ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 (ตุลาคม 2552 — มิถุนายน 2553) รัฐบาลจัดเก็บ รายได้สุทธิ 1,240,065 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 246,177 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.8 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 21.2) สาเหตุสำคัญสรุปได้ดังนี้ 1) การขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง 2) มูลค่าการนำเข้าที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ 3) การปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิต (น้ำมัน สุรา เบียร์ และยาสูบ) 4) การได้รับเงินจากการยึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำนวน 49,016 ล้านบาท (เดือนเมษายน 2553) ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้ 2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บได้รวม 877,557 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 85,526 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.8 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 6.4) ภาษีที่จัดเก็บได้สูงและต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ - ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 70,646 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.4 เป็นผลจากการบริโภคภายในประเทศและการนำเข้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากสินค้านำเข้าจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ จำนวน 41,330.6 หรือร้อยละ 34.8 และภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคภายใน ประเทศจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ จำนวน 29,314.9 หรือร้อยละ 15.9 - ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 19,030 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.2 เป็นผลจากภาษีที่จัดเก็บได้จากฐานเงินเดือนและฐานอสังหาริมทรัพย์สูงกว่าประมาณการเป็นสำคัญ - ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 16,124 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.5 เนื่องจากผลประกอบการของบริษัทในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ - ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 24,275 ล้านบาท หรือร้อยละ 29.9 ซึ่งเป็นผลจากกำไรสุทธิของบริษัทฯ ที่ลดลง เนื่องจากการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบ และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ รวมทั้งบริษัทมีการขยายการลงทุนเพิ่มมากขึ้นด้วย 2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บได้รวม 306,337 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 86,360 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 39.3 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 48.8) สาเหตุสำคัญมาจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน สุรา เบียร์ และยาสูบ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 ส่งผลให้จัดเก็บภาษีน้ำมัน ภาษียาสูบ ภาษีเบียร์ และสุรา สูงกว่าประมาณการ 41,712 10,156 7,320 และ 2,213 ล้านบาท หรือร้อยละ 56.5 33.8 18.9 และ 7.3 ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังจัดเก็บภาษีรถยนต์ได้สูงกว่าประมาณการ จำนวน 24,009 ล้านบาท หรือร้อยละ 75.8 เป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่และโครงการส่งเสริมการขาย ส่งผลให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมาก 2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บได้รวม 72,861 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 17,756 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 32.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 23.3) เนื่องจากอากรขาเข้าจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 16,498 ล้านบาท หรือร้อยละ 30.9 เป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ (ตุลาคม 2552 — พฤษภาคม 2553) มูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินบาท ขยายตัวสูงถึง ร้อยละ 29.4 และ 22.7 ตามลำดับ นอกจากนี้ รายได้อื่นจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการถึง 1,353 ล้านบาท หรือร้อยละ 90.5 เป็นผลจากในเดือนเมษายน 2553 มีรายได้จากค่าปรับคดีจำนวน 897 ล้านบาท 2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ 65,558 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,218 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.8 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 5.2) เนื่องจากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นำส่งรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย แต่อย่างไรก็ดี การนำส่งรายได้และ การจ่ายเงินปันผลของธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กองทุนรวมวายุภักษ์ และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสูงกว่าเป้าหมาย 2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บได้รวม 125,416 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 63,529 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 102.7 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 85.1) เนื่องจากกระทรวงการคลังได้รับโอนเงินจากการยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำนวน 49,016 ล้านบาท เมื่อเดือนเมษายน 2553 และได้รับรายรับจาก การส่งคืนเงินประเดิมและเงินชดเชย และดอกผลของเงินดังกล่าวจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จำนวน 8,135 ล้านบาท ในเดือนมิถุนายน 2553 2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร 157,581 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสาร งบประมาณ 5,387 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.3 (ต่ำกว่าปีที่แล้วร้อยละ 0.2) ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 112,632 ล้านบาท และการคืนภาษีอื่นๆ 44,949 ล้านบาท โดยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มต่ำกว่าประมาณการ 15,368 ล้านบาท แต่การคืนภาษีอื่นๆ สูงกว่าประมาณการ 9,981 ล้านบาท เนื่องจากการคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ค่อนข้างสูง 2.7 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้ อปท. ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ โดยตั้งแต่ต้นปีงบประมาณได้มีการจัดสรรให้ภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ อปท. แล้ว 3 งวด จำนวนรวมทั้งสิ้น 32,301 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 8,101 ล้านบาท (ร้อยละ 33.5) และสูงกว่าปีที่แล้ว 7,681 ล้านบาท (ร้อยละ 31.2) เนื่องจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่สูงกว่าประมาณการและสูงกว่าปีที่แล้ว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ