สรุปภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ ประจำไตรมาส 2/2553 และเดือนมิถุนายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 15, 2010 10:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.ค.--ตลท. ณ สิ้นไตรมาส 2/2553 ดัชนีหลักทรัพย์ไทย (SET Index) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.18% จากสิ้นไตรมาส 1/2553 และเพิ่มขึ้น 8.55% จากสิ้นปี 2552 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ยังขยายตัวต่อเนื่องในเกณฑ์ดี ทำให้ SET Index ยังสามารถปรับเพิ่มขึ้นได้ แม้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนจะได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปและปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ทวีความรุนแรงขึ้น การปรับเพิ่มขึ้นของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั้ง SET และ mai ส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) เพิ่มขึ้น 1.70% จากสิ้นไตรมาส 1/2553 สำหรับ Forward P/E Ratio ณ สิ้นไตรมาส 2/2553 ของไทยลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 11.53 เท่าจาก 11.90 เท่า ณ สิ้นไตรมาส 1/2553 ขณะที่อัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) ของไทย ณ สิ้นไตรมาส 2/2553 ยังคงสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคโดยอยู่ที่ 3.91% ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 3.34% ณ สิ้นไตรมาส 1/2553 ภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ในไตรมาส 2/2553 มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยรายวันรวมของ SET และ mai อยู่ที่ 23,493.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.94% จากไตรมาส 1/2553 และเพิ่มขึ้น 8.14% จากไตรมาส 2/2552 โดยนักลงทุนต่างประเทศเปลี่ยนฐานะเป็นผู้ขายสุทธิ 60,008.54 ล้านบาท จากผู้ซื้อสุทธิ 42,474 .28 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2553 ส่งผลให้ตลอดช่วง 6 เดือนนักลงทุนต่างประเทศเป็นผู้ขายสุทธิ 17,534.26 ล้านบาท ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันในตลาดอนุพันธ์ในไตรมาส 2/2553 อยู่ที่ 18,179 สัญญา เพิ่มขึ้น 24.52% จากไตรมาส 1/2553 โดยเป็นผลจากปริมาณการซื้อขายของ SET50 Index Futures และ Single Stock Futures อย่างไรก็ตาม ในเดือนมิถุนายน 2553 ตลาดอนุพันธ์มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันอยู่ที่ 16,899 สัญญา ลดลง 8.83% จากเดือนก่อน ด้านการระดมทุนในไตรมาส 2/2553 บริษัทจดทะเบียนมีการระดมทุนในรูปตราสารทุนรวม 38,441.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 2.62 เท่า จากไตรมาส 1/2553 โดยเกิดจากการระดมทุนของบริษัทจดทะเบียนเข้าใหม่ 2 บริษัท คือ บริษัท ธีระมงคล อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) (TMI) และ บริษัท ไซเบอร์แพลนเน็ต อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด (มหาชน) (CYBER) และมีกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์จดทะเบียนใหม่ 1 กองทุน คือ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทยคอมเมอร์เชียลอินเวสเม้นต์ (TCIF) ขณะที่การระดมทุนในตลาดรองของ SET และ mai มีมูลค่ารวม 36,315.57 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการระดมทุนของ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BTS) เป็นสำคัญ 1. ภาพรวมของตลาดหลักทรัพย์ไทย ในไตรมาส 2/2553 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET Index) ปิดที่ 797.31 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.18% จากสิ้นไตรมาส 1/2553 และเพิ่มขึ้น 8.55% จากสิ้นปี 2552 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ยังขยายตัวต่อเนื่องในเกณฑ์ดี ทำให้ SET Index ยังสามารถปรับเพิ่มขึ้นได้แม้นักลงทุนต่างประเทศจะเป็นผู้ขายสุทธิจากผลกระทบของปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปและปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ทวีความรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤษภาคม การปรับเพิ่มของ SET Index ส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ของ SET ปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 6,438,317 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.64% จากสิ้นไตรมาส 1/2553 ส่วนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai Index) ปิดที่ 230.84 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.67% จากสิ้นไตรมาส 1/2553 และเพิ่มขึ้น 7.22% จากสิ้นปี 2552 ในขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ของตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ปรับตัวมาอยู่ที่ 43,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.90% จากสิ้นไตรมาส 1/2553 ความเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคเอเชียมีความผันผวนค่อนข้างมากในช่วงไตรมาสนี้ตามความผันผวนของเงินทุนจากต่างประเทศ โดยในช่วงเดือนเมษายน เงินทุนยังไหลเข้ามาในตลาดในภูมิภาคอย่างต่อเนื่องจากช่วงไตรมาส 1/2553 แต่กลับไหลออกในช่วงเดือนพฤษภาคมจากความกังวลของนักลงทุนกับผลกระทบของวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปที่อาจมีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจเอเชียซึ่งเป็นกลุ่มผู้ส่งออกสุทธิของโลก อย่างไรก็ตาม ในเดือนมิถุนายน เงินทุนเริ่มกลับเข้ามาในตลาดในภูมิภาคอีกครั้งโดยเฉพาะในเศรษฐกิจที่อุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวดีและเป็นสัดส่วนสูงของระบบเศรษฐกิจ จึงไม่ต้องพึ่งพาการส่งออกมากนัก เช่น อินเดีย และอินโดนีเซีย รวมทั้งได้รับปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากการยกเลิกการตรึงค่าเงินหยวนกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นสัญญาณว่าค่าเงินในภูมิภาคมีโอกาสที่จะแข็งค่ามากขึ้นในช่วงต่อไป อัตรากำไรสุทธิต่อหุ้นคาดการณ์ (Forward P/E Ratio) ณ สิ้นไตรมาส 2/2553 ของไทยอยู่ที่ระดับ 11.53 เท่าลดลงเล็กน้อยจาก 11.90 เท่า ณ สิ้นไตรมาส 1/2553 สอดคล้องกับตลาดส่วนใหญ่ในภูมิภาคที่ Forward P/E Ratio ณ สิ้นไตรมาส 2/2553 ปรับลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับ ณ สิ้นไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่อัตราเงินปันผลตอบแทนของไทย (Dividend Yield) ณ สิ้นไตรมาส 2/2553 อยู่ที่ 3.91% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดอื่นในภูมิภาค และเพิ่มขึ้นจาก 3.34% ณ สิ้นไตรมาส 1/2553 ณ สิ้นเดือนมิถุนายน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET Index) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.25% จากสิ้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาค โดยได้รับปัจจัยบวกจากเงินทุนต่างประเทศที่ไหลกลับเข้ามาในตลาดภูมิภาคเอเชียอีกครั้ง หลังจากที่ได้ไหลออกไปในช่วงเดือนพฤษภาคมจากความกังวลของนักลงทุนต่อวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป นอกจากนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เริ่มคลี่คลาย รวมทั้งเครื่องชี้เศรษฐกิจของไทยที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องมีส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ด้านดัชนีตลาดหลักทรัพย์ mai ปรับตัวเพิ่มขึ้น 11.18% จากสิ้นเดือนก่อนหน้า 2. ภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ ในไตรมาส 2/2553 มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยรายวันรวมทั้งตลาดหลักทรัพย์ SET และ mai ปรับเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 2/2552 และช่วงไตรมาส 1/2553 โดยในไตรมาส 2/2553 มีมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์รวม 1,315,632.69 ล้านบาท และมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันอยู่ที่ 23,493.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.14% จากไตรมาส 2/2552 และเพิ่มขึ้น 19.94% จากไตรมาส 1/2553 เมื่อพิจารณาการซื้อขายหลักทรัพย์ (รวม SET และ mai) แยกตามประเภทนักลงทุน ในไตรมาส 2/2553 นักลงทุนต่างประเทศเปลี่ยนฐานะจากผู้ซื้อสุทธิ 42,474.28 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2553 เป็นผู้ขายสุทธิ 60,008.54 ล้านบาท ส่งผลให้ตลอดช่วง 6 เดือนนักลงทุนต่างประเทศเป็นผู้ขายสุทธิ 17,534.26 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายลดลงเล็กน้อยจาก 22.02% ในไตรมาส 1/2553 เป็น 21.82% ในไตรมาส 2/2553 ด้านนักลงทุนบุคคลทั่วไปและนักลงทุนสถาบันเปลี่ยนสถานะจากผู้ขายสุทธิในไตรมาส 1/2553 เป็นผู้ซื้อสุทธิในไตรมาส 2/2553 โดยนักลงทุนบุคคลทั่วไปเป็นผู้ซื้อสุทธิ 49,052.40 ล้านบาทจากขายสุทธิ 31,347.44 ล้านบาทในไตรมาส 1/2553 และมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นจาก 55.90% ในไตรมาส 1/2553 เป็น 58.03% ในไตรมาส 2/2553 ขณะที่นักลงทุนสถาบันในไตรมาสนี้มีฐานะเป็นผู้ซื้อสุทธิ 10,949.00 ล้านบาท ด้านบริษัทหลักทรัพย์ยังมีการซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ด้วยมูลค่าซื้อสุทธิ 7.44 ล้านบาทลดลงจากไตรมาส 1/2553 ที่ซื้อสุทธิ 641.43 ล้านบาท และมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายลดลงจาก 14.45% ในไตรมาส 1/2553 เป็น 12.90% ในไตรมาส 2/2553 การย้ายหมวดธุรกิจของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF) ซึ่งเคยถูกจัดอยู่ในหมวดธุรกิจการเกษตร (Agribusiness) มาอยู่ในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2553 เป็นต้นมา ส่งผลให้สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 1.00% ในไตรมาส 1/2553 เป็น 7.06% ในไตรมาส 2/2553 ขณะที่สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์กลุ่มพลังงานมีการปรับตัวลดลงจาก 31.72% ในไตรมาส 1/2553 เป็น 28.02% ในไตรมาส 2/2553 สำหรับสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายแยกตามกลุ่มหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) พบว่า สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดในกลุ่ม Non SET50 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 20.86% ในไตรมาส 1/2553 เป็น 26.75% ในไตรมาส 2/2553 ขณะที่สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงสุดอันดับ 11-30 (SET11-30) และ 31-50 (SET 31-50) มีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายลดลงจาก 28.40% และ 11.32% ในไตรมาส 1/2553 เป็น 25.99% และ 8.18% ในไตรมาส 2/2553 ตามลำดับ ในเดือนมิถุนายน 2553 มูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยรายวันอยู่ที่ 22,008.52 ล้านบาท ลดลง 7.97% จากเดือนพฤษภาคม 2553 ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศกลับมาเป็นผู้ซื้อสุทธิ 2,872.65 ล้านบาทหลังเป็นผู้ขายสุทธิในช่วงเดือนเมษายน—พฤษภาคม 2553 สำหรับนักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ด้วยมูลค่า 4,555.48 ล้านบาท และบริษัทหลักทรัพย์ที่ซื้อสุทธิ 1,375.43 ล้านบาท ด้านนักลงทุนบุคคลทั่วไปในเดือนนี้เป็นนักลงทุนกลุ่มเดียวที่เป็นผู้ขายสุทธิ โดยมีมูลค่าขายสุทธิ 8,803.56 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเพื่อทำกำไรจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ปรับตัวสูงขึ้นหลังจากที่เป็นผู้ซื้อสุทธิในเดือนก่อน สำหรับสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในเดือนมิถุนายน 2553 แยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่า สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายในกลุ่มพลังงานและกลุ่มธนาคารปรับตัวลดลงจาก 31.49% และ 23.02% ในเดือนพฤษภาคม 2553 มาอยู่ที่ 22.24% และ 20.62% ตามลำดับ ขณะที่สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายในกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพิ่มสูงขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2553 ซึ่งอยู่ที่ 5.55% และ 3.46% มาอยู่ที่ 9.55% และ 6.61% ตามลำดับ สำหรับสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายแยกตามกลุ่มหลักทรัพย์ตามราคาตลาดพบว่า สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงสุด 10 อันดับแรก (SET10) และกลุ่มหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงสุดอันดับ 11-30 (SET11-30) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหลักทรัพย์ในกลุ่มพลังงาน และธนาคาร ปรับลดลงจาก 42.42% และ 28.22% ในเดือนพฤษภาคม 2553 มาอยู่ที่ 30.03% และ 23.10% ในเดือนมิถุนายน 2553 ขณะที่การซื้อขายในกลุ่มหลักทรัพย์ SET 31-50 และ Non SET50 เพิ่มขึ้นจาก 6.91% และ 22.45% ในเดือนพฤษภาคม 2553 มาอยู่ที่ 10.42% และ 36.45% ตามลำดับ 3. จำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายหลักทรัพย์ จำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายในเดือนพฤษภาคม 2553 ปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า 1.92% โดยมีจำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายในเดือนทั้งสิ้น 134,671 บัญชี ทั้งนี้ สัดส่วนของบัญชีที่มีการซื้อขายในเดือน (Active Rate) อยู่ที่ 23.23% และมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อบัญชีอยู่ที่ 2.84 ล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่มีสัดส่วนของบัญชีที่มีการซื้อขายในเดือนอยู่ที่ 23.76% และมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อบัญชีอยู่ที่ 3.27 ล้านบาท สำหรับจำนวนบัญชีการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตและมูลค่าการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ต พบว่ามีการปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าเช่นกัน โดยในเดือนพฤษภาคม 2553 จำนวนบัญชีอินเทอร์เน็ตที่มีการซื้อขายในเดือนเท่ากับ 51,879 บัญชี โดยมีมูลค่าการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตทั้งสิ้น 88,701.51 ล้านบาท ลดลง 8.57% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2553 และลดลงถึง 15.89% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราการเปลี่ยนแปลงติดลบครั้งแรกในรอบ 12 เดือน ทั้งนี้ สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตต่อมูลค่าการซื้อขายรวมในเดือนพฤษภาคม 2553 อยู่ที่ 21.09% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 19.67% ในเดือนเมษายน 2553 4. สรุปภาวะตลาดอนุพันธ์ ในไตรมาส 2/2553 ตลาดอนุพันธ์มีการซื้อขายรวม 1,018,043 สัญญา และมีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวัน 18,179 สัญญา เพิ่มขึ้น 24.52% จากไตรมาส 1/2553 โดยเป็นผลจากปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันของ SET50 Index Futures ที่เพิ่มขึ้น 21.93% และ Single Stock Futures ที่มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวถึง 123.44% หากเทียบกับไตรมาส 2/2552 ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันในไตรมาส 2/2553 ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากถึง 41.98% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของทุกตราสาร โดยเฉพาะ Gold Futures ที่มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า หรือเพิ่มขึ้น 344.14% และ Single Stock Futures ที่เพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า หรือ 1,070.63% จากไตรมาส 2/2552 ในเดือนมิถุนายน 2553 ตลาดอนุพันธ์มีปริมาณการซื้อขาย 371,780 สัญญา และมีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันอยู่ที่ 16,899 สัญญา ลดลง 8.83% จากเดือนก่อนหน้า ที่สำคัญมาจาก SET50 Index Futures ที่ลดลง 21.84% ขณะที่ Single Stock Futures มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันสูงสุดที่ 3,306 สัญญา เพิ่มขึ้น 43.55% จากเดือนก่อน 5. ภาพรวมการระดมทุน ในไตรมาส 2/2553 บริษัทจดทะเบียนมีการระดมทุนในรูปตราสารทุนรวม 38,441.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 10,617.20 ล้านบาทในไตรมาส 1/2553 หรือเพิ่มขึ้นถึง 2.62 เท่า เป็นผลจากการระดมทุนของ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เป็นสำคัญ โดยในไตรมาส 2/2553 มีการระดมทุนของบริษัทจดทะเบียนเข้าใหม่ (IPO:Initial Public Offering) จำนวน 2 บริษัท คือ บริษัท ธีระมงคล อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) (TMI) และ บริษัท ไซเบอร์แพลนเน็ต อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด (มหาชน) (CYBER) โดยมีมูลค่าระดมทุน 70.40 และ 96.00 ล้านบาท ตามลำดับ นอกจากนี้ มีกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์จดทะเบียนเข้าใหม่ 1 กองทุน คือ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทยคอมเมอร์เชียลอินเวสเม้นต์ (TCIF) มูลค่าระดมทุน 1,960.00 ล้านบาท ขณะที่การระดมทุนในตลาดรองของ SET และ mai ในไตรมาส 2/2553 มีมูลค่ารวม 36,315.57 ล้านบาท คิดเป็น 94.34% ของมูลค่าการระดมทุนทั้งหมด ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนจากผู้ถือหุ้นในวงจำกัด (PP:Private Placement) มูลค่า 22,332.95 ล้านบาท รองลงมาคือ การระดมทุนจากผู้ถือหุ้นเดิม (RO:Right Offering) มูลค่า 11,984.79 ล้านบาท และการระดมทุนจากการออกใบสำคัญแสดงสิทธิ (XE:Warrant Exercising) 1,997.83 ล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ มูลค่าการระดมทุนในไตรมาส 2/2553 ที่เพิ่มขึ้นมากจากไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการระดมทุนของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BTS) ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนเป็นสำคัญ โดยมีการระดมทุนรวมมูลค่า 31,368.98 ล้านบาท หรือ 81.60% ของมูลค่าการระดมทุนทั้งหมดในไตรมาสนี้ เพื่อใช้ในการปรับโครงสร้างบริษัท สำหรับการระดมทุนในเดือนมิถุนายน 2553 บริษัทจดทะเบียนมีการระดมทุนทั้งหมด 17,903.73 ล้านบาท ลดลง 11.50% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งการระดมทุนส่วนใหญ่เกิดจากการระดมทุนของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BTS) และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทยคอมเมอร์เชียลอินเวสเม้นต์ (TCIF) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. S-E-T Call Center 0-2229-2222 ติดต่อส่วนประชาสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229—2036 /กนกวรรณ เข็มมาลัย โทร. 0-2229—2048 / ณัฐยา เมืองแมน โทร. 0-2229-2043
แท็ก SET INDEX  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ