สวทช. เพิ่มคุณภาพผ้าฝ้ายทอมือล้านนา

ข่าวเทคโนโลยี Monday April 9, 2007 15:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--สวทช.
โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP)
สวทช. พัฒนาคุณภาพผ้าฝ้ายทอมือล้านนา แก้ปัญหาคุณภาพสีไม่สม่ำเสมอ สีตกและด่าง โดยนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ภายใต้การสนับสนุนจากโครงการ iTAP ( สวทช. ) ช่วยเอกชนลดต้นทุนการผลิตและของเสียลงได้กว่า 10% ขณะเดียวกันยังสามารถนำสีกลับมาใช้ซ้ำได้ใหม่แก้ปัญหาการสิ้นเปลืองและสิ่งแวดล้อม
“ผ้าฝ้ายทอมือ”เป็นงานหัตถกรรมจากภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ยังได้รับความนิยมในทุกยุคสมัย เพราะเป็นงานฝีมือล้วนๆ ตั้งแต่เรื่องของย้อมสี ทอผ้า และการออกแบบลวดลายที่เป็นเอกลักษณะเฉพาะถิ่น ไปจนถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่สำคัญวัตถุดิบที่ใช้ล้วนมาจากธรรมชาติทั้งสิ้น นอกจากนี้ลวดลายบนผ้าทอยังสามารถบ่งบอกถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อมีการผลิตเพื่อการค้ามากขึ้นทำให้การแข่งขันมากขึ้น ปัญหาหนึ่งที่เลี่ยงไม่ได้คือการตัดราคา และ การลดคุณภาพของผ้าทอ ทำให้กลุ่มอาชีพผ้าทอบางกลุ่มต้องเลิกลาไป
กลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูปก๋ำปอ เป็นหนึ่งในสมาชิกเครือข่ายผ้าทอจังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นจากการรวมกลุ่มของช่างเย็บผ้าฝีมือที่เคยทำงานในโรงงานเย็บผ้าและรับงานเหมาจากโรงงานมาตัดเย็บที่บ้าน ตั้งปี 2540 จนกระทั่งปี 2545 จึงได้จัดตั้งกลุ่มอย่างเป็นทางการโดยใช้ชื่อว่า “กลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูปก๋ำปอ”อย่างเป็นทางการ มีการมอบหมายการทำงานอย่างควบวงจร แบ่งเป็นงานด้านต่างๆ ตั้งแต่การย้อมฝ้าย ทอผ้าผืนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น และออกแบบตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่มีเอกลักษณะเฉพาะ เป็นที่ยอมรับทั้งจากคนไทยและชาวต่างประเทศ และเพื่อให้มีช่องทางการจัดจำหน่ายมากขึ้น จึงได้มีการจัดตั้ง “ห้างหุ้นส่วนสามัญ ก๋ำปอ (คณะบุคคล)” ขึ้นในปี 2546 โดยนายเจริญ และนางใจประนม เจริญทรัพย์ เพื่อทำหน้าที่เป็นฝ่ายการตลาดและฝ่ายขายของกลุ่มฯ ภายใต้เครื่องหมายการค้า “ Kumpor”
นางสมศรี พุทธานนท์ ที่ปรึกษาเทคโนโลยี โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เครือข่าย ภาคเหนือ เปิดเผยว่า เนื่องจากห้างหุ้นส่วนสามัญ ก๋ำปอ (คณะบุคคล) ประสบปัญหาเรื่องของการย้อมสีที่ไม่สามารถย้อมสีซ้ำได้ตามที่ลูกค้าต้องการ เพราะเป็นการย้อมสีธรรมชาติจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ทำให้คุณภาพของผ้าย้อมที่ผลิตได้ไม่สม่ำเสมอ เช่น เกิดสีด่าง สีตกเมื่อชักล้าง สีซีดเมื่อถูกแดด เนื้อผ้ามีความกระด้าง และไม่ทิ้งตัว นอกจากนี้ยังพบปัญหาการสูญเสียจากกระบวนการผลิต ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น จึงมีความต้องการผู้เชี่ยวชาญเข้าไปให้คำปรึกษาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อให้สามารถสนองตอบความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น
บริษัทฯ จึงได้ขอรับการสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย(iTAP)ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี(สวทช.) ในโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตผ้าฝ้ายทอมือ โดยได้จัดส่ง ผศ.ดร.อภิชาติ สนธิสมบัติ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งทอ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เข้ามาให้คำปรึกษาและฝึกอบรมเพิ่มความรู้และทักษะในการย้อม พิมพ์ และการตกแต่งสำเร็จให้แก่สมาชิกของกลุ่ม
ผลที่ได้รับจากการดำเนินโครงการดังกล่าว ทำให้คุณภาพของผ้าย้อมดีขึ้น ได้สีสม่ำเสมอ สามารถย้อมสีตามที่ลูกค้าต้องการได้อย่างต่อเนื่อง และสีไม่ตกมีความคงทนมากกว่าเดิม นอกจากนี้ ยังทำให้สมาชิกของกลุ่มมีความรู้และทักษะเกี่ยวกับกระบวนการผลิตต่างๆ สามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกวิธี ทำให้ห้างหุ้นส่วนสามัญก๋ำปอ เกิดการทำงานอย่างเป็นระบบมากขึ้น สามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ 10% และสามารถลดของเสียจากกระบวนการย้อมได้ 5%
ขณะเดียวกันยังสามารถนำสีที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่หรือใช้ซ้ำได้อีกจากเดิมที่ใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการบำบัด และลดการสูญเสียจากการใช้สีสิ้นเปลืองอย่างที่ผ่านมา ที่สำคัญ ยังได้สูตรการทำความสะอาดเส้นใยฝ้าย และสูตรการย้อมสีที่ถูกต้องเหมาะสมในเชิงวิชาการ รวมทั้งได้เครื่องมือที่ถูกต้องแม่นยำมากขึ้นมาใช้ในกระบวนการผลิต คาดว่า หลังการพัฒนาจะทำให้ผลิตภัณฑ์ของห้างฯ มีคุณภาพดีขึ้น ทั้งคุณภาพของผ้าและสีที่ย้อม สร้างความพึงพอใจให้ลูกค้ามากขึ้น ทำให้มียอดขายเพิ่มขึ้นได้กว่า 10% อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวยังถือเป็นโครงการช่วยเหลือชุมชน เพราะนอกจากสมาชิกของกลุ่มฯ จะได้รับความรู้ที่ถูกต้องแล้ว ทางสมาชิกของกลุ่มฯ ยังได้มีการถ่ายทอดความรู้ที่ได้ดังกล่าวให้กับกลุ่มชุมชนในบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย
ด้าน นางใจประนม เจริญทรัพย์ ผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนสามัญ ก๋ำปอ (คณะบุคคล) กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากพื้นฐานความรู้และประสบการณ์ในการย้อมและทอผ้าที่มาจากภูมิปัญญาดั่งเดิมของกลุ่มย้อมผ้า ทำให้คุณภาพของผ้าย้อมที่ผลิตได้ไม่สม่ำเสมอ แต่หลังจากที่ได้รับความรู้ทางวิชาการเข้ามาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอมือได้เป็นอย่างดีแล้วและสร้างความพึ่งพอใจให้กับลูกค้าได้เป็นอย่างดี จึงมีแนวคิดที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์มากขึ้น เนื่องจากผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผ้าฝ้ายนั้นยังมีอะไรให้พัฒนาได้อีกมาก ที่สำคัญคือจะต้องนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นใส่เข้าไปในผลิตภัณฑ์นั้นด้วย อาทิ แนวคิดในการนำเอาสมุนไพรไทยมาใช้ประโยชน์ในการกำจัดไรฝุ่น ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคภูมิแพ้เป็นโครงการที่จะพัฒนาต่อไป ”
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) โทร.0-2270-1350-54 ต่อ 114
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ