กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยว่าได้รับรายงานจากสำนักงานพาณิชย์ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ว่า หน่วยงาน North Carolina Department of Agriculture and Consumer Services (NCDA&CS) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยในด้านอาหารเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเฉพาะภายในมลรัฐ North Carolina ได้ออกประกาศว่าตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2550 เป็นต้นไป
จะทำการตรวจสอบเพื่อค้นหาสารปฏิชีวนะและสารเคมีที่เจือปนอยู่ในอาหารทะเลนำเข้าเข้มงวด ซึ่งเป็นการตรวจสอบหลังจากที่สินค้าอาหารทะเลได้ผ่านมาตรฐานของ FDA แล้ว รวมทั้งจะขยายมาตรการเพื่อตรวจสอบการหลอกลวงผู้บริโภคของอุตสาหกรรมอาหารทะเลด้วย สรุปได้ดังนี้
1. การตรวจหาสารปฏิชีวนะในตระกูล Fluoroquinolones เช่น สารCiprofloxacin ซึ่งแม้ว่า FDA ได้มีประกาศห้ามนำยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อร้ายแรงในมนุษย์มาใช้ในการเลี้ยงปลาหรือสัตว์ที่ผลิตเป็นอาหารมนุษย์แล้วก็ตาม แต่ยังพบว่าบางประเทศได้มีการใช้ยาปฏิชีวนะดังกล่าวในการเพาะเลี้ยงปลาและกุ้ง
2. การตรวจหาสารเคมีต้องห้ามอื่นๆ เช่น Malachite green ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ในการรักษาโรคพยาธิ เชื้อรา และการติดเชื้อแบคทีเรียในปลา โดย NCDA&CS ได้มีการตรวจพบในปลาและปลาไหลนำเข้าจากจีน
3. การตรวจหาสารปนเปื้อน (Contamination) โดย รัฐ North Carolina จะร่วมกับรัฐ Alabama Arkansas Louisiana และ Mississippi
ในการตรวจหาสิ่งปนเปื้อนในอาหารนำเข้า ทั้งนี้รัฐ Alabama Louisiana และ Mississippi ได้ห้ามนำเข้าปลาดุกจากประเทศจีนและเวียดนามแล้ว หลังจากที่ได้ตรวจพบสารปฏิชีวนะต้องห้ามในสินค้าจากสองประเทศดังกล่าว
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) ของปี 2550 FDA ของสหรัฐฯได้ปฏิเสธการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลจากจีนรวมทั้งสิ้น 78 shipments เนื่องจากตรวจพบยาปฏิชีวนะที่ห้ามใช้ในการเพาะเลี้ยงสินค้าประมง โดยอาหารทะเลที่ถูกปฏิเสธการนำเข้าส่วนใหญ่ได้แก่ปลาดุกและกุ้ง
ดังนั้นผู้ส่งออกสินค้าอาหารทะเลของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯควรมีความระมัดระวังในเรื่องความปลอดภัยและมาตรฐานด้านสุขอนามัย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสารปฏิชีวนะและสารเคมีที่อาจเจือปนในอาหารทะเล เนื่องจากสหรัฐฯกำลังให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวเป็นอย่างมาก นอกจากนี้
แต่ละมลรัฐต่างเริ่มมีกฎระเบียบที่เข้มงวดเกี่ยวกับอาหารมากยิ่งขึ้น
อนึ่ง ประเทศไทยมีการส่งออกอาหารทะเลไปยังสหรัฐฯ เฉลี่ยปีละประมาณ 60,000 ล้านบาท โดยในปี 2549 มีมูลค่าส่งออก 69,709 ล้านบาท และในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2550 มีมูลค่าการส่งออก 27,948 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 0.89