กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน — มาร์สเตลเลอร์
ไอเอ็นจีเผยผลสำรวจภาวะการลงทุนไตรมาส 2/2553 ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนไทยประจำไตรมาส 2/2553 ลดลง 6% เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง
ผลสำรวจระบุว่า นักลงทุนไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤติหนี้ยุโรปเพียงเล็กน้อย
ประเด็นสำคัญจากรายงานการสำรวจภาวะการลงทุนประจำไตรมาสของไอเอ็นจี กรุ๊ป
- ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนไทยประจำไตรมาส 2/2553 ลดลง 6% มาอยู่ที่ 127 จากเดิมที่ระดับ 135 ในไตรมาส 1/2553 แต่ยังคงอยู่ในแดนบวก โดยเพิ่มขึ้น 115% จาก 59 ในไตรมาส 4/2552 ซึ่งเกิดวิกฤติการเงิน
- ความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยเป็นสิ่งที่ส่งสัญญาณให้เห็นถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมในไตรมาสหน้า โดยคาดว่า เศรษฐกิจไทย ผลตอบแทนจากการลงทุน สถานะการเงินส่วนบุคคล และสถานะการเงินระดับครัวเรือนจะฟื้นตัวดีขึ้น
- วิกฤติหนี้ยุโรปส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยเพียงเล็กน้อย โดยนักลงทุนไทย 57% ได้รับผลดี จากกลยุทธ์การลงทุนของตน ซึ่งตอกย้ำว่า นักลงทุนไทยมีภูมิคุ้มกันจากวิกฤติต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา
- ความวิตกเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
- นักลงทุนชาวไทยมีความมั่นใจที่จะตัดสินใจเลือกการลงทุนด้วยตนเองมากขึ้น
ไอเอ็นจี กรุ๊ป สถาบันการเงินชั้นนำของโลก เผยข้อมูลจากรายงานการสำรวจภาวะการลงทุนรายไตรมาสว่า ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในประเทศไทยลดลง 6% มาอยู่ที่ 127 ในไตรมาส 2/2553 จาก 135 ในไตรมาส 1/2553 ซึ่งเป็นผลจากการที่นักลงทุนไทยเล็งเห็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า วิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและปัญหาการเมืองไทยจะคลี่คลายลง
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นเฉลี่ยของนักลงทุนในภูมิภาคแพนเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 136 ในไตรมาส 2/2553 จาก 145 ในไตรมาส 1/2553 ซึ่งสูงกว่าดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ที่อยู่ในระดับ 73 ในไตรมาส 4/2551 ถึง 86% แต่ยังคงอยู่ในแดนบวกติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 5
ทั้งนี้ ผลการสำรวจดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้
ความเชื่อมั่นนักลงทุนไทยเป็นผลจากการคาดการณ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3/2553 นายต่อ อินทวิวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายธุรกิจกองทุนและที่ปรึกษาการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ผลการวิจัยดังกล่าว ทำให้คาดการณ์ว่า ในไตรมาส 2/2553 — ไตรมาส 3/2553 จะมี
การฟื้นตัวหลายด้าน ได้แก่ สถานะการเงินส่วนบุคคล สถานะการเงินในครัวเรือน ผลตอบแทนจากการลงทุน และสภาวะเศรษฐกิจโดยรวม นอกจากนี้ นักลงทุนชาวไทยยังรู้สึกมั่นใจยิ่งขึ้นในเศรษฐกิจไทยที่กำลังอยู่ในระยะฟื้นตัว ซึ่งจะส่งผลดีต่อสถานภาพการเงินของตน”
ทัศนะของนักลงทุนไทยเกี่ยวกับ การปรับตัวขึ้นในไตรมาส 2/2553 คาดว่าจะปรับดีขึ้นในไตรมาส 3/2553
ภาวะเศรษฐกิจและผลตอบแทน
การลงทุน
ภาวะเศรษฐกิจไทย 45% 58%
ผลตอบแทนการลงทุน 48% 62%
สถานะการเงินส่วนบุคคล 47% 58%
สถานะการเงินระดับครัวเรือน 42% 61%
(% ของนักลงทุนไทย)
“แม้ว่าตลาดหุ้นไทยจะมีความผันผวนสูง และมีการไหลเข้าของเงินลงทุนต่ำ แต่ผลการวิจัยครั้งนี้ก็ได้สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในเชิงบวกของนักลงทุนไทยในไตรมาส 2/2553 ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในหลายด้านของตลาดเกิดใหม่ รวมถึงการขยายตัวด้านการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว” นายต่อ กล่าวเสริม
สำหรับในไตรมาส 3/2553 นักลงทุนไทย 59% คาดการณ์ว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยจะปรับตัวพุ่งขึ้นเฉลี่ย 9.5% โดยนางสาวศิริพรรณ สุทธาโรจน์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายจัดการกองทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด ได้ให้ความเห็นว่า “ปัจจุบัน ตลาดหุ้นไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งหลากหลายด้าน ทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ นโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลาย การเติบโตด้านรายได้ที่แข็งแกร่ง และความมีเสถียรภาพของงบดุลของบริษัทต่างๆ
นอกจากนี้ ธุรกิจธนาคารและอสังหาริมทรัพย์ยังมีภาพรวมที่เติบโตไปได้ดี อันเป็นผลพวงมาจากการฟื้นตัวของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมอีกหลายประเภท เช่น เหมืองถ่านหิน อาหารและเครื่องดื่มคาดว่าจะมีผลกำไรเพิ่มขึ้น ไอเอ็นจีจึงคาดการณ์ว่า ภายในสิ้นปีนี้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยจะไต่ระดับอยู่ที่ 850 — 880 จุด ”
นักลงทุนชาวเอเชียให้ความระมัดระวังกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและจีน ขณะที่วิกฤติหนี้ยุโรปทำให้นักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น
เมื่อมองในภาพรวมแล้ว นักลงทุนชาวเอเชียยังคงให้ความระมัดระวังกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและจีน
เนื่องจากนักลงทุนเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) เห็นว่า สองประเทศดังกล่าวได้แก่สหรัฐอเมริกา (75%) และจีน (65%) ยังคงเป็นสองพลังหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
นอกจากนี้ สัญญาณการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ทำให้นักลงทุนเอเชียรวมทั้งนักลงทุนชาวไทยระบุว่า สัญญาณดังกล่าวส่งผลกระทบเชิงลบต่อการตัดสินใจลงทุนของตนเพิ่มขึ้น ทั้งยังมีนักลงทุนที่คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อการตัดสินใจลงทุนของตนในไตรมาสถัดไปอีกด้วย
ทัศนะของนักลงทุนเกี่ยวกับผลกระทบของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่มีต่อการตัดสินใจลงทุนของตน
นักลงทุนชาวเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) ไตรมาส 2/2553 ไตรมาส 1/2553
ผลกระทบเชิงลบต่อการตัดสินใจลงทุน 34% 26%
ผลกระทบเชิงลบต่อการตัดสินใจลงทุนในไตรมาสถัดไป 28% 22%
(% ของนักลงทุนชาวเอเชีย ยกเว้นญี่ปุ่น)
นักลงทุนชาวไทย ไตรมาส 2/2553 ไตรมาส 1/2553
ผลกระทบเชิงลบต่อการตัดสินใจลงทุน 39% 29%
ผลกระทบเชิงลบต่อการตัดสินใจลงทุนในไตรมาสถัดไป 31% 27%
(% ของนักลงทุนไทย)
ผลการสำรวจยังระบุว่า นักลงทุนชาวเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) 48% คิดว่า เศรษฐกิจจีนอาจร้อนแรงเกินไป โดยนักลงทุน 26% มีความกังวลว่า จะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของตน
วิกฤติหนี้ยุโรปเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดความหวั่นวิตกในหมู่นักลงทุน โดยนักลงทุนชาวเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) 60% คาดว่า วิกฤติหนี้ยุโรปจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ขณะที่นักลงทุน 92% คาดว่า วิกฤติหนี้ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก นอกจากนี้ นักลงทุนชาวเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) 45% เชื่อมั่นว่า วิกฤติหนี้ยุโรปอาจจะก่อให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนในครึ่งหลังของปี 2553
มร.แกรนท์ ไบเลย์ ผู้จัดการประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ไอเอ็นจี อินเวสเมนท์ แมเนจเม้นท์ กรรมการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด ให้ความเห็นว่า “ตลาดเอเชียจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยกระตุ้นทางการเงิน
ในสหรัฐอเมริกาที่เริ่มก้าวเข้าสู่สภาวะถดถอย รวมถึงวิกฤติหนี้ยุโรปที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย ค่าเงินยูโรที่อ่อนตัวลงและมาตรการประหยัดที่ใช้กับภาคเศรษฐกิจโดยรวมในยุโรป อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีนที่มั่นใจได้ว่าจะไม่มีภาวะเศรษฐกิจถดถอย เกิดขึ้นอย่างแน่นอน เสริมด้วยสภาพคล่องที่โดดเด่นของตลาดการเงินทั่วโลก ทำให้เราคาดการณ์ว่า ตลาดเอเชียจะมีการเติบโตสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว”
แต่สำหรับนักลงทุนชาวไทย 57% เชื่อว่า วิกฤติหนี้ยุโรปได้ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อกลยุทธ์การลงทุนของตน และ 16% เผยว่า ไม่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากวิกฤติหนี้ยุโรปดังกล่าว สำหรับประเด็นนี้ นายต่อได้ให้ความเห็นว่า “นักลงทุนชาวไทยน่าจะมีความปลอดภัยจากวิกฤติหนี้ยุโรป เพราะไม่ได้ลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหนี้ยุโรป แต่วิกฤติที่เกิดขึ้นก็เปิดโอกาสให้นักลงทุนได้เข้ามาลงทุนในตลาดที่มีศักยภาพในราคาที่ต่ำกว่า สำหรับปัญหาหนี้ในกรีซอาจส่งผลกระทบเชิงลบอย่างมากต่อตลาดการลงทุนโดยรวม แต่ด้วยนโยบายการปรับโครงสร้างและฟื้นฟูการเงินของรัฐบาลกรีซจะได้รับการตอบรับอย่างโดดเด่นจากตลาดการลงทุนโดยรวม”
นักลงทุนเอเชียยังคงเผชิญภาวะเสี่ยง โดยให้ความสำคัญกับการถือครองเงินสด ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หุ้น และทองคำต่อไปอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังมีนักลงทุนเอเชียจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน ฮ่องกง และสิงคโปร์ที่ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในไตรมาส 2/2533 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยนักลงทุนไทยที่มีผลตอบแทนการลงทุนเพิ่มขึ้นยังคงมีสัดส่วนอยู่ในระดับที่ไม่เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน
ผลตอบแทนการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ไตรมาส 2/2553 ไตรมาส 1/2553 (%ของนักลงทุน)
ภูมิภาคเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) 48% 56%
จีน 38% 58%
ฮ่องกง 38% 68%
ไทย 48% 49%
สิงคโปร์ 54% 60%
นอกจากนี้ ผลการสำรวจดังกล่าวยังชี้ให้เห็นว่า นักลงทุนไทย 73% คาดว่าจะได้รับผลตอบแทนการลงทุนมากกว่า 10% ในปีหน้า และนักลงทุนไทย 32% มีความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมที่จะตัดสินใจเลือกรูปแบบการลงทุนของตนเอง ทั้งนี้ นายต่อ ให้ความเห็นต่อความคาดหวังด้านผลตอบแทนการลงทุนว่า “ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกับพฤติกรรมที่แท้จริงของนักลงทุน สำหรับนักลงทุนไทยทั่วไป ส่วนใหญ่ให้น้ำหนักพอร์ตการลงทุนของตนในรูปของการถือครองเงินสดและพันธบัตรเฉลี่ย 65% นักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นตัวเลขสองหลัก จึงจำเป็นต้องพร้อมรับความเสี่ยงในการลงทุนในระดับสูงขึ้น”
เมื่อพิจารณาจากทิศทางตลาดการเงินและสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ความต้องการของนักลงทุนยังคงมุ่งให้ความสำคัญกับการลงทุนที่ไม่เสี่ยงมาก และยังคงนิยมใช้กลยุทธ์การลงทุนที่มีความสมดุลมากขึ้น หรือในรูปแบบคุ้มครองเงินต้นแบบอนุรักษ์นิยมมากกว่าการใช้แนวทางการลงทุนเชิงรุกที่มุ่งเน้นเพิ่มมูลค่าเงินลงทุน โดยนักลงทุนชาวเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) 81% เน้นการลงทุนแบบคุ้มครองเงินต้นในระยะกลางและระยะยาว
นักลงทุนชาวเอเชียยังคงเลือกลงทุนในรูปแบบของการถือครองเงินสด/เงินฝาก อสังหาริมทรัพย์ หลักทรัพย์ ทองคำ และกองทุนรวม ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นรูปแบบการลงทุนที่ปลอดภัย
รูปแบบการลงทุนที่เลือกใช้มากสุด ไตรมาส 2/2553 ไตรมาส 1/2553
เงินสด/เงินฝาก 77% 78%
อสังหาริมทรัพย์ประเภทที่พักอาศัยในไทย (พักอาศัยเอง) 49% 47%
รูปแบบการลงทุนที่เลือกใช้มากสุด ไตรมาส 2/2553 ไตรมาส 1/2553
หลักทรัพย์/หุ้น 48% 49%
ทองคำ 36% 38%
กองทุนรวม/กองทุนบริหารจัดการ & หน่วยลงทุน (ในประเทศ) 31% 31%
(% ของนักลงทุนชาวเอเชีย ยกเว้นญี่ปุ่น)
สำหรับนักลงทุนไทย มีเพียง 68% เท่านั้นที่ระบุว่า ได้เน้นใช้กลยุทธ์การลงทุนระยะกลางและระยะยาว โดยมีนักลงทุนที่มุ่งเน้นใช้กลยุทธ์การลงทุนเชิงรุกระยะสั้นเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย (จาก 30% ในไตรมาส 1/2553 เพิ่มขึ้นเป็น 32% ในไตรมาส 2/2553)
ผลการสำรวจดังกล่าวยังระบุถึงรูปแบบการลงทุนที่ได้รับความนิยมสูงสุด 3 อันดับแรกของนักลงทุนไทย ได้แก่ เงินสด (67%) ทองคำ (66%) และพันธบัตร (41%) ตอกย้ำถึงความคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนที่ไม่ตรงกับสินทรัพย์ที่ได้ลงทุนไป ดังนั้น การให้ข้อมูลความรู้ด้านการเงินจึงเป็นสิ่งจำเป็น ในการแก้ไขปัญหาความไม่สอดคล้องระหว่างความคาดหวังผลตอบแทนการลงทุน และรูปแบบการลงทุนให้ลดน้อยลง นายต่อ กล่าวว่าอีกว่า “นักลงทุนจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัย พื้นฐานการลงทุนที่ถูกต้อง เพื่อนำมาใช้ในการประเมินความเสี่ยงในการลงทุนให้สอดคล้องกับการประเมินผลตอบแทนการลงทุน ที่เป็นไปได้มากที่สุด สำหรับการลงทุนในรูปแบบการถือครองเงินสดจะได้รับผลตอบแทนในอัตราที่ต่ำ ดังนั้นนักลงทุนจึงจำเป็นต้องพิจารณาทางเลือกการลงทุนรูปแบบอื่นๆ แต่การที่จะเลือกรูปแบบการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นักลงทุนจำเป็นต้องมีทักษะ ความรู้ และข้อมูลทางการเงินอย่างเหมาะสมและพอเพียง เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ”
“เงินเป็นสิ่งที่มีความสำคัญกับนักลงทุน และเราก็เห็นด้วยว่า คำกล่าวดังกล่าวเป็นเรื่องจริง ดังนั้น นักลงทุนจึงควรใช้เวลากำหนดระดับความเสี่ยงที่ตนรับได้ เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้ถูกต้องยิ่งขึ้น และสร้างอนาคตทางการเงินได้อย่างแข็งแกร่งต่อไป การมีความรู้เกี่ยวกับระดับความเสี่ยงที่นักลงทุนแต่ละคนสามารถรับได้ถือเป็นพื้นฐานสำหรับนักลงทุน ซึ่งจะนำไปใช้กำหนดกลยุทธ์และรูปแบบการลงทุนที่ถูกต้องและเหมาะสมสำหรับตนเอง” นายต่อ กล่าวปิดท้าย
สามารถดาวน์โหลดข้อมูลดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนของไอเอ็นจี กรุ๊ป และผลสำรวจล่าสุดได้ที่http://www.ing.asia/investor_dashboard
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสำรวจไอเอ็นจี อินเวสเตอร์ แดชบอร์ด
การสำรวจภาวะการลงทุนไอเอ็นจี อินเวสเตอร์ แดชบอร์ด (ING Investor Dashboard) ได้ดำเนินการมายาวนานกว่า 2 ปี จัดทำขึ้นเพื่อประเมินทัศนคติและพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนเป็นรายไตรมาสในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 12 ประเทศ ได้แก่ จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย และนับเป็นการสำรวจรายไตรมาสรายแรกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งแสดงดัชนีความเชื่อมั่นด้านการลงทุนในภูมิภาคแพนเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ทั้งยังเสนอภาพรวมของตลาดการลงทุนและทัศนคติของนักลงทุนในแต่ละประเทศ และยังมีการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นเฉลี่ยของนักลงทุนในภูมิภาคแพนเอเชียโดยคิดค่าเฉลี่ยจากทุกประเทศข้างต้น ยกเว้นญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เพื่อใช้อ้างอิงเปรียบเทียบกับดัชนีความเชื่อมั่นของแต่ละประเทศ
สำหรับการสำรวจประจำไตรมาส 2/2553 ได้ดำเนินการเมื่อเดือนมิถุนายน 2553 โดยการสัมภาษณ์ออนไลน์จากกลุ่มตัวอย่างนักลงทุนจำนวน 3,792 คน จาก 12 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กลุ่มตัวอย่างมีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป มีสินทรัพย์สุทธิหรือเงินลงทุนรวมอย่างน้อย 100,000 เหรียญสหรัฐ ยกเว้นประเทศอินโดนีเซีย (สินทรัพย์สุทธิหรือเงินลงทุนรวมตั้งแต่ 60,000 เหรียญสหรัฐขึ้นไป) และฟิลิปปินส์ (สินทรัพย์สุทธิหรือเงินลงทุนรวม 60,000 เหรียญสหรัฐหรือรายได้ต่อเดือนตั้งแต่ 200,000 เปโซขึ้นไป) โดยผลสำรวจจัดทำโดยเดอะ นีลเส็น คอมปะนี (The Nielsen Company) และได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ทั้งจากสถาบันการเงินและสื่อมวลชนใน 12 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชีย
เกี่ยวกับไอเอ็นจี
ไอเอ็นจี เป็นสถาบันการเงินระดับโลกสัญชาติดัชต์ ที่ให้บริการทางด้านการธนาคาร การลงทุน การประกันชีวิต และการวางแผนการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ ให้แก่ลูกค้ารายบุคคล องค์กร และสถาบันจำนวนกว่า 85 ล้านราย ในกว่า 40 ประเทศ และด้วยบุคลากรกว่า 107,000 คน ไอเอ็นจีมุ่งมั่นในการให้บริการด้านการจัดการทางการเงินแก่ลูกค้าด้วยมาตรฐานสูงสุด
เกี่ยวกับเดอะ นีลเส็น คอมปะนี
เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (The Nielsen Company) เป็นบริษัทชั้นนำของโลกที่ให้บริการเกี่ยวกับข้อมูลทางการตลาดและผู้บริโภค การสำรวจความนิยมทีวีและสื่อต่างๆ การทำวิจัยออนไลน์ รวมถึง Trade show และสิ่งพิมพ์ทางธุรกิจ โดยเป็นบริษัทเอกชนที่เปิดดำเนินการมากกว่า 100 ประเทศ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นิวยอร์กสหรัฐอเมริกา ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.nielsen.com
ติดต่อสอบถาม
ต่อ อินทวิวัฒน์ จามรี คุปตะเวทิน / สาธิดา ศรีธัญญาธรณ์
บลจ. ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด อาซิแอม เบอร์สัน — มาร์สเตลเลอร์
โทร. 02-688-7777 โทร. 02-252-9871