กรุงเทพฯ--14 พ.ค.--กทม.
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดอุบัติเหตุก๊าซแอมโมเนียรั่วไหลจากท่อลำเลียงน้ำยาไปยังเครื่องทำความเย็นในบริษัทห้องเย็นลี่ฮะฮวด จำกัด เลขที่ 452/18 ซอยท่าดินแดง 6 เขตคลองสาน ของนายบุญชู เอื้อเวชนิชกุล ที่เปิดเป็นโรงงานผลิตอาหารเย็นแช่แข็ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนในละแวกใกล้เคียง และได้สั่งปิดโรงงาน เพื่อให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมเข้าตรวจสอบสาเหตุและประเมินความปลอดภัยอีกครั้งนั้น ตนได้สั่งการโดยเร่งด่วนไปยังปลัดกรุงเทพมหานคร เพื่อมอบหมายให้ผู้อำนวยการเขตทุกเขตในพื้นที่กรุงเทพมหานครสำรวจสถานประกอบการต่างๆ ทั้งเอกสารประกอบกิจการโรงงาน เอกสารการรับอนุญาตจัดเก็บแอมโมเนีย หรือก๊าซต่างๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน เช่น การจัดเก็บก๊าซหุงต้ม วัตถุไวไฟ รวมทั้งสารเคมีที่เป็นอันตราย โดยรวบรวมสถานที่ผลิต เก็บรวบรวม เพื่อการกำกับ ตรวจสอบ และบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบัญญัติและระเบียบของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงสถานประกอบการดังกล่าวทราบ และร่วมกับกรุงเทพมหานครในการตรวจสอบ หากมีการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กรุงเทพมหานครและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะได้เข้าไปแก้ไขโดยเร็ว
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า ตนได้มอบให้ นายวัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการเก็บรวบรวมสารเคมีอันตรายต่างๆ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 เพื่อหารือมาตรการตรวจสอบ ป้องกัน และการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยมากที่สุด ทั้งนี้ในเบื้องต้นกรุงเทพมหานคร โดยผู้อำนวยการเขตพื้นที่ได้ใช้อำนาจในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นบังคับการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 มาตรา 45 ที่บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ดำเนินกิจการใดๆ ตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติ กฎกระทรวง ข้อกำหนดของท้องถิ่น หรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าว หรือคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่กำหนดไว้เกี่ยวกับการดำเนินกิจการนั้น ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้ผู้ดำเนินกิจการนั้นแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องได้ และถ้าผู้ดำเนินกิจการไม่แก้ไขหรือถ้าการแก้ดำเนินการนั้นจะก่อให้เกิดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชน เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะสั่งให้ผู้นั้นหยุดดำเนินกิจการนั้นไว้ทันทีเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะเป็นที่พอใจแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นว่าปราศจากอันตรายแล้วก็ได้