กรุงเทพฯ--16 พ.ค.--พีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง
คุณครูวิทยาศาสตร์ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นประมาณ 30 คนจากหลากหลายโรงเรียนในประเทศไทย ได้มารวมตัวกัน ณ โรงแรมศาลายาพาวิลเลี่ยน วิทยาลัยนานาชาติ ม.มหิดล เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันและค้นหาเคล็ดลับที่ในคุณครูแต่ละท่าน ที่ทำอย่างไรจึงกลายเป็น “ครูวิทย์ฯในดวงใจ” ที่สร้างสรรค์การสอนให้นักเรียนมีใจรักและประสบความสำเร็จทางด้านวิทยาศาสตร์
การรวมตัวกันของครูวิทย์ในครั้งนี้ มีชื่อเป็นทางการว่า “การประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการเครือข่ายนวัตกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในระดับโรงเรียน” เป็นกิจกรรมแนวสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ที่เกิดจากความร่วมมือของหลายองค์กรชั้นนำทางด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศ โดยแกนหลัก คือ บัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (บวท.) ซึ่งได้ร่วมดำเนินการกับศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยการสนับสนุนของสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)
คุณครูที่ได้เข้าร่วมในการประชุมนี้ นับว่าเป็นสุดยอดครูวิทย์ที่จุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กนักเรียน โดยเป็นผู้ที่ได้รับการคัดสรรอย่างเข้มข้นจากการเสนอชื่อของเยาวชนในโครงการส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ เช่น โครงการเจเอสทีพี (JSTP) ของทีเอ็มซี และโครงการ พสวท. ของ สสวท. เป็นต้น ซึ่งวิธีนี้เป็นแนวคิดที่แตกต่างไปจากการส่งเสริมวิทยาศาสตร์แบบเดิมๆ ที่มักจะเลือกเด็กเก่งหรือครูที่มีผลงานตามระบบมาพัฒนา แต่กิจกรรม “ครูวิทย์ฯ ในดวงใจ” นี้ได้หันมาเน้นพัฒนาต่อยอดคุณครูที่มีวิธีการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในระดับที่มีนวัตกรรมด้วยเคล็ดลับเฉพาะตัว แล้วส่งผลให้เด็กๆ มีความคิดเชิงวิทยาศาสตร์ โดยหวังว่าจะมีการขยายผลให้ได้เป็นเครือข่ายสร้างเสริมให้มีครูที่มีความสามารถในด้านการสอนวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการพัฒนาเด็กไทยให้มีใจรักและคิดแบบวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
หลังจากที่ได้รับคัดเลือกแล้ว คุณครูจะได้รับเชิญแบบถึงตัวให้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ดี ความประทับใจ และความภาคภูมิใจในการเป็นครูวิทยาศาสตร์ ที่สำคัญ คือ ให้มาถ่ายทอดเคล็ดลับของการจัดการเรียนการสอนที่ทำให้เด็กนักเรียนเกิดความคิดเชิงวิทยาศาสตร์ (scientific thinking) ความสำเร็จจากการประชุมครั้งนี้ เกิดจากการนำเอา “การจัดการความรู้” (Knowledge Management) หรือ เคเอ็ม (KM) มาใช้ในการดึงเอาเคล็ดลับประสบการณ์ที่ฝังลึกอยู่ในตัวของครูแต่ละคน (tacit knowledge) ออกมา คุณครูที่ร่วมในกลุ่มย่อยต่างก็ได้เรียนรู้นวัตกรรมการสอนที่ไม่มีบอกไว้ในตำราเล่มใด แต่ได้มาจากการนำเสนอกระบวนการที่ได้ทำมาแล้วประสบผลดีในชีวิตจริงของเพื่อนครู การคุยกันแต่เรื่องดีๆ นับเป็นการยกระดับจิตใจในเชิงบวก สร้างความสัมพันธ์ที่งดงามระหว่างคุณครูที่เข้าร่วม ทุกคนอิ่มเอิบใจ เกิดสัญญากัลยาณมิตรว่าจะเป็นเครือข่ายกัน จะช่วยกันกระจายความรู้และนวัตกรรมการสอนที่ได้เรียนรู้ไปสู่คุณครูท่านอื่นๆ ต่อไปในวงกว้าง
กิจกรรมเคเอ็ม มีทั้งการแบ่งกลุ่มย่อยแล้วใช้เทคนิค “การเล่าเรื่อง” ให้คุณครูได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงความสำเร็จและความภาคภูมิใจในการสอนให้เด็กนักเรียนมีใจรักวิทยาศาสตร์ภายใต้บรรยากาศที่ทุกคนในกลุ่มได้เปิดใจรับฟังด้วยความเป็นมิตรและชื่นชม จากนั้นเคล็ดลับฝังลึกที่ได้จากเรื่องเล่าของคุณครูแต่ละท่านนั้น จะถูกเก็บรวมรวมผ่านการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ด้านสารสนเทศ เช่น การสร้างบล็อก (Blog) ในอินเตอร์เน็ต ที่เว็บไซต์ http://gotoknow.org/ ของ สคส. เพื่อเก็บความคิดเห็นและเป็นช่องทางในการสร้างเครือข่ายการติดต่อแลกเปลี่ยนกันในอนาคต
เพียงแค่ในช่วงเวลาสั้นๆ แต่เรื่องเล่ามากมายที่อบอุ่นและน่าประทับใจได้ถูกถ่ายทอดร้อยเรียงออกมา ดังที่คุณครูผานิต เทศนา แห่งโรงเรียนหนองขาหย่างวิทยา จังหวัดอุทัยธานี ได้เล่าให้ฟังอย่างยิ้มแย้มว่า “สิ่งที่ดิฉันภูมิใจ คือ การที่ลูกศิษย์ซึ่งจบไปเป็นพยาบาล เป็นครูบาอาจารย์ หรือเป็นปลัด จะกล่าวกับเพื่อนร่วมงานของเขาถึงตัวดิฉันอย่างภาคภูมิใจ ว่าอาจารย์ผานิตเป็นผู้จุดประกายการเรียนให้เขา จากการสอนวิทยาศาสตร์แบบนำเอาชีวิตประจำวันหรือของครอบครัวเด็กนักเรียนมาเป็นสื่อ และการให้นักเรียนไปสืบค้นหาความรู้และนำเสนอผลงาน ทำให้เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยได้โดยง่าย” คุณครูผานิตยังได้เล่าถึงลูกศิษย์บางคนว่า “เด็กเคยมาเล่าว่าจำสูตรที่อาจารย์สอนได้ติดตา และยังสามารถอธิบายตัวแปรต่างๆ ที่ครูสอนได้อยู่เลย”
เรื่องเล่าของคุณครูแน่งน้อย แสงพล จากโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย กรุงเทพฯ ได้ทำให้คณะครูในกลุ่มปลาบปลื้มไปตามๆ กัน คุณครูเล่าให้ฟังถึงนักเรียนคนหนึ่งที่ได้ไปแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกและรับรางวัลเหรียญทอง เมื่อเด็กคนนี้กลับมาเยี่ยมโรงเรียน เขาได้เล่าให้ฟังว่า “อาจารย์ครับ ผมให้สัมภาษณ์ทางสถานีวิทยุว่า อาจารย์แน่งน้อยเป็นคนจุดประกายให้ผมรักวิชาวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่ชั้นมัธยมหนึ่ง” ประโยคที่น่าประทับใจและภูมิใจเป็นอย่างยิ่งนี้ แน่นอนว่าเกิดจากการที่คุณครูแน่งน้อยมีความเชื่อว่าลูกศิษย์ของตนเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญที่จะช่วยพัฒนาประเทศไทย จึงมีความตั้งใจสูงที่จะทำให้นักเรียนรักวิทยาศาสตร์และได้พัฒนาศักยภาพของตนเองให้สูงต่อไป
“ทำอย่างไรให้นักเรียนเรียนวิทยาศาสตร์อย่างมีความสุข” เป็นเคล็ดลับที่ยิ่งใหญ่และอยู่ในใจของคุณครูเกือบทุกท่าน หลักการสอนที่ฟังดูง่ายนี้จะต้องใช้ความพยายามและใจรักอย่างมากจึงจะบรรลุได้ ดังที่คุณครูอัญมณี พุทธมงคล แห่งโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จังหวัดชลบุรี ได้ยึดถือมาตลอด โดยคุณครูได้พยายามคิดถึงตนเองในสมัยเรียนว่าชอบครูแบบไหน อยากให้ห้องเรียนเป็นอย่างไร แล้วนำมาประยุกต์ใช้ในการสอนอย่างกระตือรือร้น คุณครูอัญมณีมักจะสร้างความเป็นกันเองกับเด็ก โดยจำชื่อ-สกุลนักเรียนได้ทุกคนและเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นและร่วมทำการทดลองให้มากที่สุด ที่สำคัญคืออาจารย์ได้เล่าว่า “ดิฉันจะไม่ยึดติดกับการสอนในตำรา แต่จะให้เด็กได้อภิปรายได้ซักถามในห้อง พยายามตอบคำถามทุกคำถามและชื่นชมกับนักเรียนที่ถามทุกคน” ซึ่งนี้เป็นจุดกระตุ้นให้เด็กนักเรียนกล้าแสดงออกและมีใจรักในวิทยาศาสตร์จากมุมมองของเขาเอง
ตัวอย่างที่เด่นที่สุดเรื่องหนึ่งของนวัตกรรมการเรียนการสอนทางวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นที่โรงเรียนสตรีวิทยา กรุงเทพฯ จากการที่คุณครูสุทธาทิพย์ เลิศจุลัศจรรย์ ได้พัฒนาเทคนิคการสอนของตน จากเนื้อหาการสอนเรื่องการชั่งตวงสารเคมีตามในตำรานั้น อาจารย์ได้เปลี่ยนให้การเป็นเกมส์ที่เด็กแต่ละกลุ่มในชั้นเรียนสามารถจะแข่งชั่งสารให้แม่นยำถูกต้องกว่ากัน หรือเมื่อจะต้องสอนเกี่ยวกับวิชาธรณีวิทยา คุณครูสุทธาทิพย์ได้สร้างเป็นสวนหินขึ้นในโรงเรียนให้นักเรียนได้ศึกษาตัวอย่างหินของจริง รวมถึงของใช้ในชีวิตประจำวันที่ทำจากแร่ต่างๆ นอกจากนี้อาจารย์ยังให้เด็กลองทำโครงงานวิทยาศาสตร์ใกล้ตัวอีกด้วย “ดิฉันอยากจะให้เด็กนักเรียนได้บูรณาการความรู้หลายด้านเข้าด้วยกัน จึงได้ให้เด็กๆ ทำโครงการประหยัดไฟกำไร 3 ต่อ โดยให้พวกเขาไปศึกษาระบบเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน แล้วหาทางประหยัดค่าไฟให้ถูกลงใน 3 เดือน ซึ่งน่าภูมิใจมากที่สุดท้ายเด็กๆ สามารถลงมือช่วยผู้ปกครองที่บ้านลดค่าไฟลงได้เยอะ บางคนลดได้ถึง 3 พันบาทก็มี แถมยังสามารถอธิบายเรื่องยากๆ อย่างค่าเอฟทีได้ด้วย”
ยังมีเรื่องน่าประทับใจอีกมากมายหลายเรื่องที่คุณครูที่มาร่วมงานได้เล่าไว้ แต่เชื่อได้ว่าไม่มีท่านใดจะลืมเรื่องของคุณครูศีลวัต ศุศิลวรณ์ หรือ ครูปาด จากโรงเรียนเพลินพัฒนา กรุงเทพฯ ครูปาดไม่ได้เป็นครูวิทย์ แต่สอนวิชาประวัติศาสตร์ โดยไม่ยึดติดกับตำรา แต่ใช้วิธีให้เด็กนักเรียนสืบค้นประวัติศาสตร์จากการเรียนรู้ “สำนึกอดีต” ครูยกตัวอย่างการจัดของในห้องที่เมื่อไปพบกับของสิ่งหนึ่งที่ประทับใจก็จะพาให้ตกลงไปในห้วงคำนึงที่มีต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งในวัยเด็กและย้อนไปได้ลึกถึงวัยทารก ครูปาดและเด็กนักเรียนได้ทำให้ห้องเรียนกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้นไปทุกที ด้วยการจัดแสดงสิ่งของต่างๆ มีตู้จัดเก็บ มีการแบ่งอายุ และป้ายจัดแสดงจากประวัติศาสตร์ของตัวเด็กเอง ขยายออกมาเป็นประวัติศาสตร์ของครอบครัว ประวัติศาสตร์ของสังคมไทยในช่วงเวลาเดียวกัน ไปจนกระทั่งสังคมสยามที่เก่าลงไปกว่านั้น และเด็กสามารถ "อ่าน" วิธีของการจัดแสดงได้ว่าที่ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์มุ่งนำเสนอความเป็นไทยที่เกี่ยวพันกับนานาชาติ ซึ่งเทคนิคนี้ทำให้คุณครูในกลุ่มซาบซึ้งว่าการเรียนรู้ด้วยแนวคิดเชิงวิทยาศาสตร์นั้น ไม่จำเป็นต้องจำกัดว่าเป็นวิชาวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่วิชาอื่นๆ ก็สามารถที่จะใช้แนวคิดเชิงวิทยาศาสตร์ในการเรียนรู้ได้เช่นกัน ถ้าคุณครูผู้สอนได้จัดลำดับความคิดและกระบวนการเรียนรู้ของวิชา ผ่านความเข้าใจหัวใจของวิชานั้น
ความสำเร็จของการประชุม “ครูวิทย์ฯ ในดวงใจ” นี้ ได้รับการยืนยันและชื่นชมจากผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านที่ได้มาร่วม ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช ผู้อำนวยการ สคส. และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความรู้ที่ผลักดัน แนะนำ และสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมนี้ขึ้น ได้เขียนบันทึกในบล็อกของท่านเรื่อง “ก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของ KM ประเทศไทย” แสดงความยินดีที่เทคนิค เคเอ็ม ได้ช่วยดึงเอาเคล็ดลับในการสอนวิทยาศาสตร์ระดับโรงเรียนออกมารวบรวมไว้ได้ และหวังว่าแนวคิดนี้จะแพร่กระจายออกไปสู่คณะครูคนอื่นๆ อาจารย์ทิ้งท้ายไว้ว่า “ถึงช่วงนี้อากาศจะร้อนจนนอนไม่ค่อยจะหลับ แต่ผมก็มีความสุขมากจากการประชุมครั้งนี้”
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net