กรุงเทพฯ--2 ก.พ.--กพช.
“กพช.” เห็นชอบให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมากที่ใช้ก๊าซชีวภาพเป็นเชื้อเพลิง 30 สตางค์ต่อหน่วย เป็นเวลา 7 ปี เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งรับทราบความคืบหน้า พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน เป้าหมายเอ็นจีวีในการทดแทนน้ำมันเบนซินและดีเซลในปี 54 ได้กว่า 75,000 ล้านบาท/ปี และการรุกสำรวจแหล่งปิโตรเลียมในต่างประเทศของ ปตท.สผ.
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน การประชุมวันนี้ (2 กุมภาพันธ์ 2550) มีมติเห็นชอบการเพิ่มเติมการสนับสนุนผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซชีวภาพเป็นเชื้อเพลิง โดยกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่ใช้ก๊าซชีวภาพเป็นเชื้อเพลิง เท่ากับ 30 สตางค์ต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 7 ปี นับจากวันเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) โดยมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายออกประกาศต่อไป ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุด และยังช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมอันเนื่องจากการน้ำเสียหรือของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม หรือฟาร์มปศุสัตว์ผลิตเป็นก๊าซชีวภาพผลิตไฟฟ้าได้และเป็นการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ส่งเสริมพลังงานทดแทนที่ได้กำหนดเป้าหมายในปี 2554 ให้มีการใช้ประโยชน์จากน้ำเสียโรงงานอุตสาหกรรมและมูลสัตว์มาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพและใช้เป็นพลังงาน 30 เมกะวัตต์ ทดแทนการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ได้ประมาณ 14 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ
และในการประชุม กพช. ครั้งนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบความคืบหน้าการยกร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จ และรับทราบขั้นตอนการดำเนินยกร่างกฎหมายดังกล่าว ประกอบด้วย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 กระทรวงพลังงาน กำหนดจัดรับฟังความคิดเห็น จำนวน 4 ครั้ง ใน 4 จังหวัดเพื่อให้ครอบคลุมทั่วทุกภาค ประกอบด้วย 1. จังหวัดสุราษฎร์ธานี (9 ก.พ.50) 2. กทม. (12 ก.พ.50) 3. จังหวัดขอนแก่น (14 ก.พ.50) และ 4 เชียงใหม่ (17 ก.พ.50) ซึ่งภายหลังการจัดรับฟังความคิดเห็นและปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงานฯ จะนำเสนอต่อ กพช. เพื่อพิจารณาภายในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2550 อีกครั้ง เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบภายในเดือนมีนาคม 2550
นอกจากนี้ กพช. รับทราบผลการดำเนินงานตามแผนส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่ง โดยสถานภาพปัจจุบันมีรถยนต์ที่ติดตั้งอุปกรณ์ NGV ทั้งสิ้น 26,985 คัน แบ่งเป็นรถยนต์เบนซิน 23,843 คัน รถดีเซล 2,679 คัน และรถที่เป็นเครื่องยนต์ NGV 463 คัน โดยมีสถานีที่ให้บริการแล้ว 104 สถานี และมีบริษัทรับติดตั้งอุปกรณ์ NGV ทั้งสิ้น 122 บริษัท และได้รับการรับรองมาตรฐานการติดตั้งจาก ปตท. แล้ว 18 บริษัท ทั้งนี้ เป้าหมายในการส่งเสริม NGV ทั้งจำนวนรถและสถานีบริการระหว่างปี 2550-2554
จะมุ่งเน้นกลุ่มรถใหญ่ เช่น รถโดยสารสาธารณะ รถบรรทุก/รถหัวลาก เพราะจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งคนและสินค้า โดยมีเป้าหมายการขยายจำนวนรถในปี 2554 รวมทั้งสิ้น 256,600 คัน แบ่งเป็นรถเบนซินจำนวน 160,000 คัน และรถดีเซลจำนวน 96,600 คัน และคาดว่าเมื่อสิ้นสุดปี 2554 การส่งเสริมการใช้ NGV จะสามารถทดแทนการใช้น้ำมันเบนซินได้ 12% คิดเป็นมูลค่ากว่า 14,015 ล้านบาทต่อปี และทดแทนน้ำมันดีเซล ได้ถึง 24% หรือคิดเป็นมูลค่า 61,720 ล้านบาท รวมมูลค่าการทดแทนน้ำมันเบนซินและดีเซลได้ถึง 75,735 ล้านบาท
นอกจากนี้ กพช.ได้รับทราบความคืบหน้าของ บริษัท ปตท.สผ.จำกัด (มหาชน) ในการดำเนินงานการลงทุนพัฒนาแหล่งพลังงานในต่างประเทศ ซึ่งได้มุ่งเน้นในประเทศที่มีศักยภาพทางปิโตรเลียมสูงเพื่อช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย แบ่งเป็นกลุ่มประเทศในภูมิภาคใหญ่ๆ 3 ภูมิภาค ประกอบด้วย 1.ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา พม่า เวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา และประเทศปาปัวนิวกินี ออสเตรเลีย และติมอร์ 2. กลุ่มภูมิภาคตะวันออกกลางและประเทศในกลุ่มโซเวียตเดิม ได้แก่ โอมาน อิหร่าน บาร์เรน กาตาร์ คาซัคสถาน และ 3. กลุ่มภูมิภาคแอฟริกา ได้แก่ อัลจิเรีย อียิปต์ ซูดาน ไนจีเรีย ประเทศลิเบียและแอลโกล่า