กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--ก.ล.ต.
ก.ล.ต. ออกประกาศเกี่ยวกับการรู้จักลูกค้าและการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (Know-Your-Customer/Customer Due Diligence หรือ KYC/CDD) โดยบริษัทหลักทรัพย์และ บริษัทจัดการลงทุนจะต้องถือปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2550 เป็นต้นไป
เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2550 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบมาตรการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (Anti-Money Laundering and Combating the Financing of Terrorism หรือ AML/CFT) ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม
การฟอกเงิน (ปปง.) เรื่อง "นโยบายการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การรู้จักลูกค้า/การตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าของสถาบันการเงิน และหน่วยธุรกิจหรือผู้ประกอบวิชาชีพที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน" ซึ่งใช้กับสถาบันการเงินทั่วไปตามที่กฎหมายฟอกเงินกำหนด
ก.ล.ต. จึงได้ออกประกาศเรื่อง "หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการจัดให้มีระบบการบริหาร ความเสี่ยงเพื่อป้องกันการใช้บริการธุรกิจหลักทรัพย์เป็นช่องทางในการฟอกเงินและการสนับสนุน ทางการเงินแก่การก่อการร้าย" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ให้แน่ใจว่าบริษัทหลักทรัพย์มีระบบงาน ที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ รองรับการปฏิบัติตามกฎหมายฟอกเงินและมาตรการของ ปปง. และป้องกันความเสี่ยงในการไม่ปฏิบัติตามหรือถูกดำเนินการตามกฎหมายในฐานะตัวการร่วมหรือ
ผู้ให้การสนับสนุนในการฟอกเงิน และ (2) เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดใช้บริการธุรกิจหลักทรัพย์เป็นช่องทางในการฟอกทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำผิดกฎหมายหรือผ่านเงิน และทรัพย์สินเพื่อใช้สนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้าย ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการดำเนินงานและชื่อเสียงของบริษัทหลักทรัพย์ รวมทั้งภาพพจน์และความน่าเชื่อถือของตลาดทุนโดยรวม
ประกาศดังกล่าวกำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์และบริษัทจัดการลงทุนจะต้องจัดให้มีระบบงานที่รัดกุม เพียงพอในการรู้จักลูกค้า/การตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า และกำหนดตัวอย่างธุรกรรมที่ควรพิจารณารายงานต่อสำนักงาน ปปง. โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2550 เป็นต้นไป
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ก.ล.ต. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งซักซ้อมความเข้าใจและสัมมนาในระดับผู้บริหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของบริษัทหลักทรัพย์อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2548 ประกอบกับหลักเกณฑ์ในส่วนที่เกี่ยวกับการรู้จักลูกค้าและการจัดเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องก็สอดคล้อง กับหลักเกณฑ์ที่ถือปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน ก.ล.ต. จึงเชื่อมั่นว่าบริษัทหลักทรัพย์และบริษัทจัดการลงทุนมีความพร้อมที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว