กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--ส.อ.ท.
นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนพฤษภาคม 2550 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 478 ตัวอย่าง ครอบคลุม 35 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 86.1 จาก 77.0 ในเดือนเมษายน ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การที่ค่าดัชนียังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อ ภาวะการณ์อุตสาหกรรมในระดับที่ไม่แข็งแกร่งนัก โดยเมื่อพิจารณาสาเหตุที่ทำให้ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากในช่วงเดือนพฤษภาคมที่มีการสำรวจ ยอดคำสั่งซื้อและยอดขายมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้ดัชนีผลประกอบการปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย รวมทั้งมีปัจจัยบวกด้านอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงทำให้ต้นทุนทางการเงินของการประกอบการปรับตัวลดลง ประกอบกับภาครัฐได้มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ มีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างต่อเนื่อง จึงล้วนเป็นปัจจัยที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากค่าดัชนีความเชื่อมั่นมีการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจะถือเป็นสัญญาณที่ดีมากต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยจำแนกตามสัดส่วนการส่งออกต่อยอดขาย พบว่า ค่าดัชนีมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดส่งออกได้รับผลดีจากยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมที่เน้นจำหน่ายภายในประเทศก็ได้รับผลดีจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและการปรับลดอัตราดอกเบี้ย
ด้านของปัจจัยที่มีผลกระทบต่อกิจการในแต่ละอุตสาหกรรม ผลสำรวจพบว่าปัจจัยที่ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมดีขึ้น ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ส่วนใหญ่ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ อัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยผู้ประกอบการมีความเห็นว่า สถานการณ์การเมืองยังคงเป็นอุปสรรคที่ส่งผลต่อเนื่องไปยังความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมทั้งความเชื่อมั่นในการลงทุน อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการมองว่า หากร่างรัฐธรรมนูญสามารถผ่านประชามติ และการเลือกตั้งสามารถเกิดขึ้นได้ภายในปีนี้ จะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของประชาชนและผู้ประกอบการฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว และทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจนในไตรมาสสุดท้าย
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาค่าดัชนีรายอุตสาหกรรมเปรียบเทียบระหว่างเดือนเมษายนกับเดือนพฤษภาคม 2550 โดยจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ จำนวน 35 กลุ่ม พบว่า มีอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น จำนวน 19 กลุ่มอุตสาหกรรม ลดลง 16 กลุ่มอุตสาหกรรม ในส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่แยกพิจารณาตามขนาดของกิจการ พบว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทั้ง 3 ขนาด ได้แก่ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่มีจำนวนแรงงาน 1 - 49 คน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางที่มีจำนวนแรงงาน 50 - 199 คน และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีจำนวนแรงงานมากกว่า 200 คนขึ้นไป มีความเชื่อมั่นต่อสภาวะการประกอบการอุตสาหกรรมในระดับที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเมษายน ที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นจาก 64.0 80.0 และ 83.4 ในเดือนเมษายน เป็น 74.6 85.3 และ 96.0 ในเดือนพฤษภาคม ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงจึงช่วยส่งผลดีต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรม
ในส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่แยกพิจารณาตามภูมิภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกภูมิภาคโดยได้รับผลดีเช่นเดียวกับภาพรวมของอุตสาหกรรม ยกเว้นภาคเหนือที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลงเล็กน้อย ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับตัวลดลงของอุตสาหกรรมเซรามิก ที่ตลาดภายในประเทศได้รับผลกระทบจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่แย่ลงทำให้ผลประกอบการปรับตัวลดลง ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทำให้ต้นทุนในการขนส่งเพิ่มขึ้น คู่แข่งที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท
ด้านข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการต่อภาครัฐ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องกันว่า ต้องการให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคของประชาชนในประเทศ และสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจ ตลอดจนเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน รวมทั้งควรมีมาตรการส่งเสริมนักลงทุนไทยในต่างประเทศอย่างมีแบบแผน
ส.อ.ท. เผย 5 เดือน ยอดส่งออกรถยนต์โตกว่า ร้อยละ 15
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยจำนวนการผลิตและการส่งออกรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ของประเทศในเดือน มกราคม - พฤษภาคม 2550 ดังต่อไปนี้
รถยนต์
การผลิต
จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนพฤษภาคม 2550 มีจำนวนทั้งสิ้น 111,585 คัน และ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2549 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.24 ในจำนวนนี้ผลิตเพื่อการส่งออก 56,932 คัน และเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 54,653 คัน
จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือน มกราคม-พฤษภาคม 2550 มีจำนวนทั้งสิ้น 488,200 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือน มกราคม - พฤษภาคม 2549 ลดลงร้อยละ 1.9 ในจำนวนนี้ผลิตเพื่อการส่งออก 251,924 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วระยะเวลาเดียวกันร้อยละ 12.68 และเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 236,276 คัน ลดลงจากเดือน มกราคม - พฤษภาคม 2549 ร้อยละ 13.80
รถยนต์นั่ง เดือนพฤษภาคม 2550 ผลิตได้ 29,285 คัน และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2549 แล้ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.71
ยอดผลิตของรถยนต์นั่งตั้งแต่เดือน มกราคม - พฤษภาคม 2550 เท่ากับ 116,538 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือน มกราคม - พฤษภาคม 2549 แล้ว ลดลงร้อยละ 5.30
รถยนต์โดยสารขนาด 10 ตัน ขึ้นไป ในเดือนพฤษภาคม 2550 ผลิตได้ 21 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2549 ร้อยละ 38.24 รวมเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2550 ผลิตได้ 140 คัน ลดลงจากเดือน มกราคม - พฤษภาคม 2549 ร้อยละ 7.89
รถยนต์บรรทุก เดือนพฤษภาคม 2550 ผลิตได้ทั้งหมด 82,279 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2549 ร้อยละ 2.74 และตั้งแต่เดือน มกราคม - พฤษภาคม 2550 ผลิตได้ทั้งสิ้น 371,522 คัน ลดลงจากเดือน มกราคม - พฤษภาคม 2549 ร้อยละ 0.78
รถกระบะขนาดต่ำกว่า 1 ตัน เดือนพฤษภาคม 2550 ไม่มียอดการผลิต ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2549 ร้อยละ 100 รวมเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2550 ไม่มียอดการผลิต ลดลงจากเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2549 ร้อยละ 100
รถกระบะขนาด 1 ตัน เดือนพฤษภาคม 2550 มียอดการผลิต 80,178 คัน และเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2549 ร้อยละ 2.90 และตั้งแต่เดือน มกราคม-พฤษภาคม 2550 ผลิตได้ทั้งสิ้น 362,139 คัน ลดลงจากเดือน มกราคม - พฤษภาคม 2549 ร้อยละ 0.68 โดยแบ่งเป็น
รถกระบะบรรทุก 176,313 คัน ลดลงจากเดือน มกราคม - พฤษภาคม 2549 ร้อยละ 8.46
รถกระบะดับเบิลแค๊บ 170,463 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือน มกราคม - พฤษภาคม 2549 ร้อยละ 17.96
รถกระบะ PPV 15,363 คัน ลดลงจากเดือน มกราคม - พฤษภาคม 2549 ร้อยละ 44.15
รถบรรทุกต่ำกว่า 5 ตัน เดือนพฤษภาคม 2550 ผลิตได้ 785 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2549 ร้อยละ 11.82 รวมเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2550 ผลิตได้ 3,179 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือน มกราคม - พฤษภาคม 2549 ร้อยละ 10.65
รถบรรทุกขนาด 5 - 10 ตัน เดือนพฤษภาคม 2550 ผลิตได้ 554 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2549 ร้อยละ 1.09 รวมเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2550 ผลิตได้ 2,111 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือน มกราคม - พฤษภาคม 2549 ร้อยละ 7.43
รถบรรทุกมากกว่า 10 ตัน เดือนพฤษภาคม 2550 ผลิตได้ 762 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2549 ร้อยละ 6.62 รวมเดือน มกราคม - พฤษภาคม 2550 ผลิตได้ 4,093 คัน ลดลงจากเดือน มกราคม - พฤษภาคม 2549 ร้อยละ 11.25
ผลิตเพื่อการส่งออก
รถยนต์นั่ง เดือนพฤษภาคม 2550 ผลิตเพื่อการส่งออก 12,211 คัน และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2549 แล้ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.06 ยอดผลิตของรถยนต์นั่งตั้งแต่เดือน มกราคม - พฤษภาคม 2550 เท่ากับ 55,475 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือน มกราคม - พฤษภาคม 2549 แล้ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.19
รถกระบะขนาด 1 ตัน เดือนพฤษภาคม 2550 มียอดการผลิตเพื่อการส่งออก 44,721 คัน และเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2549 ร้อยละ 28.54 และตั้งแต่เดือน มกราคม - พฤษภาคม 2550 ผลิตได้ทั้งสิ้น 196,449 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือน มกราคม - พฤษภาคม 2549 ร้อยละ 13.47 โดยแบ่งเป็น
รถกระบะบรรทุก 56,585 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือน มกราคม - พฤษภาคม 2549 ร้อยละ 15.03
รถกระบะดับเบิลแค๊บ 133,819 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือน มกราคม - พฤษภาคม 2549 ร้อยละ 22.95
รถกระบะ PPV 6,045 คัน ลดลงจากเดือน มกราคม - พฤษภาคม 2549 ร้อยละ 59.97
ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ
รถยนต์นั่ง เดือนพฤษภาคม 2550 ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 17,074 คัน และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2549 แล้ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.69 ยอดผลิตของรถยนต์นั่งตั้งแต่เดือน มกราคม - พฤษภาคม 2550 เท่ากับ 61,063 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือน มกราคม - พฤษภาคม 2549 แล้ว ลดลงร้อยละ 16.02
รถกระบะขนาด 1 ตัน เดือนพฤษภาคม 2550 มียอดการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 35,457 คัน และลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2549 ร้อยละ 17.79 และตั้งแต่เดือน มกราคม - พฤษภาคม 2550 ผลิตได้ทั้งสิ้น 165,690 คัน ลดลงจากเดือน มกราคม - พฤษภาคม 2549 ร้อยละ 13.48 โดยแบ่งเป็น
รถกระบะบรรทุก 119,728 คัน ลดลงจากเดือน มกราคม - พฤษภาคม 2549 ร้อยละ 16.52
รถกระบะดับเบิลแค๊บ 36,644 คัน ลดลงจากเดือน มกราคม - พฤษภาคม 2549 ร้อยละ 2.73
รถกระบะ PPV 9,318 คัน ลดลงจากเดือน มกราคม - พฤษภาคม 2549 ร้อยละ 24.89
รถจักรยานยนต์
เดือนพฤษภาคม 2550 ผลิตรถจักรยานยนต์ได้ทั้งสิ้น 315,030 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2549 ร้อยละ 2.7 แยกเป็นรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU) 158,275 คัน ลดลงจากปี 2549 ร้อยละ 16.56 และชิ้นส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ (CKD) 156,755 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ร้อยละ 16.91
ยอดการผลิตรถจักรยานยนต์เดือน มกราคม - พฤษภาคม 2550 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,370,773 คัน ลดลงจากปี 2549 ร้อยละ 9.77 แยกเป็นรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU) 696,564 คัน ลดลงจากปี 2549 ร้อยละ 25.36 และชิ้นส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ (CKD) 674,209 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ร้อยละ 15.05
การส่งออก
รถยนต์สำเร็จรูป
เดือนพฤษภาคม 2550 ส่งออก 54,035 คัน ส่งออกเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2549 ร้อยละ 25.26 มีมูลค่าการส่งออก 23,567.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2549 ร้อยละ 20.78
เครื่องยนต์ มีมูลค่าการส่งออก 872.29 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2549 ร้อยละ 11.25
ชิ้นส่วนรถยนต์อื่นๆ มีมูลค่าการส่งออก 9,141.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2549 ร้อยละ 28.91
อะไหล่รถยนต์ มีมูลค่าการส่งออก 658.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2549 ร้อยละ 50.88
รวมมูลค่าส่งออกรถยนต์เดือนพฤษภาคม 2550 เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอะไหล่ มีมูลค่า 34,239.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2549 ร้อยละ 23.06
เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2550 ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 251,670 คัน และส่งออกเพิ่มขึ้นจากปี 2549 ร้อยละ 15.55 มีมูลค่าการส่งออก 110,886.65 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากมกราคม - พฤษภาคม 2549 ร้อยละ 13.94
เครื่องยนต์ มีมูลค่าการส่งออก 3,691.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2549 ร้อยละ 5.54
ชิ้นส่วนรถยนต์อื่นๆ มีมูลค่าการส่งออก 39,505.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2549 ร้อยละ 13.22
อะไหล่รถยนต์ มีมูลค่าการส่งออก 2,778.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2549 ร้อยละ 41.21
รวมมูลค่าส่งออกรถยนต์เดือนมกราคม - พฤษภาคม 2550 เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอะไหล่ มีมูลค่า 156,861.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2549 ร้อยละ 13.94
รถจักรยานยนต์
เดือนพฤษภาคม 2550 มีจำนวนส่งออก 166,723 คัน (รวม CBU+CKD) เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2549 ร้อยละ 14.77 โดยมีมูลค่า 2,467.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2549 ร้อยละ 20.37
ชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 1,223.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2549 ร้อยละ 26.91
อะไหล่รถจักรยานยนต์ มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 223.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2549 ร้อยละ 491.85
รวมมูลค่าการส่งออกรถจักรยานยนต์ เดือนพฤษภาคม 2550 ชิ้นส่วน และอะไหล่รถจักรยานยนต์ 3,915.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2549 ร้อยละ 28.27
เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2550 รถจักรยานยนต์ มีจำนวนส่งออก 718,843 คัน (รวม CBU + CKD) เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ร้อยละ 11.43 โดยมีมูลค่า 10,651.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ร้อยละ 4.66
ชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 5,763.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ร้อยละ19.14
อะไหล่รถจักรยานยนต์ มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 443.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ร้อยละ101.66
รวมมูลค่าการส่งออกรถจักรยานยนต์ เดือนมกราคม - พฤษภาคม 2550 ชิ้นส่วนและอะไหล่รถจักรยานยนต์ 16,858.58 เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2549 ร้อยละ 10.66
เดือนพฤษภาคม 2550 รวมมูลค่าการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนอื่นๆ อะไหล่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วน และอะไหล่รถจักรยานยนต์ มีทั้งสิ้น 38,154.59 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ร้อยละ 23.57
เดือน มกราคม-พฤษภาคม 2550 รวมมูลค่าการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนอื่นๆ อะไหล่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วน และอะไหล่รถจักรยานยนต์ มีทั้งสิ้น 173,720.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ร้อยละ 13.61
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร. 0-2345-1012-3 โทรสาร 0-2345-1296-9