กรุงเทพฯ--19 ก.ค.--เจริญโภคภัณฑ์อาหาร
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ “ซีพีเอฟ” ชูกิจการในต่างประเทศเป็นส่วนงานสำคัญของการเติบโตของบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศตุรกีและอินเดียที่มีการขยายตัวอย่างมากและมีแนวโน้มที่ดีขึ้นต่อเนื่องในอนาคต
นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร กล่าวว่าจากการที่กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เช่น อิรัก อิหร่าน และประเทศดูไบ กำลังประสบภาวะขาดแคลนอาหารและเนื้อสัตว์ ระดับราคาเนื้อสัตว์ค่อนข้างสูง ส่งผลดีต่อกิจการของซีพีเอฟในประเทศตุรกีซึ่งอยู่ใกล้เคียง โดยสามารถทำการส่งออกเนื้อไก่และไข่ไก่ไปยังประเทศดังกล่าวได้เป็นจำนวนมาก และคาดว่าราคาเนื้อสัตว์จะดีต่อเนื่องไปถึงครึ่งปีหลัง ขณะเดียวกันยังส่งผลิตภัณฑ์เนื้อไก่เข้าไปจำหน่ายยังรัสเซีย ภายหลังจากที่รัสเซียชะลอการสั่งซื้อเนื้อไก่จากสหรัฐฯ และหันมาซื้อจากผู้ผลิตในตุรกีแทน
นอกจากนี้ ซีพีตุรกีก็เพิ่งเปิดโรงงานผลิตอาหารแปรรูปขนาดใหญ่ เพื่อทำการผลิตอาหารแปรรูปประเภทไส้กรอก มีทบอล กอร์ดอนบลู และเบอร์เกอร์ไก่ ตามนโยบายการขยายสัดส่วนธุรกิจอาหารให้เพิ่มขึ้น ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้บริโภคชาวตุรกี จะเห็นได้จากรางวัล “แบรนด์ยอดเยี่ยม” และ “แบรนด์ยอดนิยม” ที่ผลิตภัณฑ์ซีพีได้รับจากผู้บริโภคในตุรกี ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อเข้ามาเกินกว่ากำลังการผลิต ทำให้ต้องขยายการผลิตเพิ่มขึ้นอีก
สำหรับกิจการในประเทศอินเดียก็ให้ผลประกอบการที่โดดเด่นเช่นเดียวกัน โดยซีพีเอฟได้ลงทุนโรงงานผลิตอาหารกุ้งและปลาถึง 3 แห่ง รวมกำลังการผลิตราว 150,000 ตันต่อปี เนื่องจากอินเดียมีการเพาะเลี้ยงกุ้งมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอินเดีย มีชายฝั่งทะเลที่ยาวและเหมาะสมกับการเลี้ยงกุ้งมาก จึงทำให้มีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดดต่อเนื่องทุกปี ปัจจุบันธุรกิจสัตว์น้ำของซีพีเอฟถือเป็นอันดับ 1 ในประเทศอินเดีย ตลอดจนยังมีโอกาสขยายธุรกิจในส่วนสัตว์บกเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างมากของบริษัทในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศตุรกี-อินเดีย ประกอบกับการขยายการขายสินค้าหมวดอาหารพร้อมรับประทานภายใต้ตราสินค้าซีพีไปยังตลาดต่างๆทั่วโลก และประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุนการผลิตและต้นทุนทางการเงินของบริษัทที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล้วนเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลดีต่อผลประกอบการของบริษัท
ทั้งนี้ คาดว่าสิ้นปีนี้ (2553) ยอดขายจะเป็นไปตามเป้าหมาย คือ 1.8 แสนล้านบาท จากประมาณ 1.6 แสนล้านบาทในปีที่ผ่านมา (2552
ด้านสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ CPF โทร. 02-625-7343-5, 02-631-0641, 02-638-2713
E-mail : pr@cpf.co.th