กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--สวรส.
หน่วยงานวิจัยด้านไข้หวัดนกในไทยร่วมมือกับ 4 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ จีน เวียดนาม กัมพูชา และอินโดนีเซีย ทำการศึกษาวิจัยเรื่องไข้หวัดนก โดยเน้นไปที่การวิจัยเพื่อเสนอนโยบายควบคุมการระบาดของไข้หวัดนก พร้อมทั้งศึกษาผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ที่เกิดขึ้นจากการระบาดของไข้หวัดนก เผยความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้เกิดเครือข่ายด้านไข้หวัดนกระหว่างประเทศเข้มแข็งขึ้น พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศสมาชิกในการส่งต่อข้อมูลในอนาคต
การระบาดของไข้หวัดนก ในภูมิภาคเอเชียที่ระบาดติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 3 ปี ได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ และสังคมอย่างมาก ส่งผลให้หลายประเทศมุ่งทำการวิจัยเพื่อรับมือและแก้ไขวิกฤตที่จะเกิดขึ้นในครั้งต่อไปให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด งานวิจัยจากหน่วยงานวิจัยของประเทศต่างๆที่ผ่านมา มักเป็นความลับ การส่งต่อข้อมูลข่าวการแพร่ระบาดระหว่างประเทศซึ่งมีความสำคัญต่อการเฝ้าระวังการแพร่เชื้อสู่ประเทศข้างเคียง ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ด้วยเกรงว่าข้อมูลงานวิจัยจะรั่วไหล
ด้วยเหตุนี้ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหานี้ในภูมิภาคเอเชีย จึงเกิดโครงการความร่วมมือการทำวิจัยเรื่องไข้หวัดนกขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานวิจัยของประเทศแคนาดาคือ IDRC หรือ International Development Research Center มีประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมทำวิจัยครั้งนี้ 5 ประเทศ ได้แก่ จีน เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย และประเทศไทย ในระยะเวลาดำเนินโครงการ 2 ปีแรก ประเทศไทยเป็นหน่วยงานประสานงานหลักของโครงการ โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ
นายแพทย์พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เปิดเผยว่า ความร่วมมือของประเทศในภูมิภาคเอเชียครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะทุกประเทศที่เข้าร่วมล้วนได้รับผลกระทบจากการระบาดของไข้หวัดนกทั้งสิ้น ซึ่งการทำวิจัยร่วมกันโดยหลายประเทศสมาชิกจะทำให้ได้ผลงานวิจัยที่สามารถแก้ปัญหาได้ในวงกว้าง และผลการวิจัยที่ได้จะมีประโยชน์อย่างยิ่งกับประเทศสมาชิก และทุกประเทศทั่วโลก
ทั้งนี้งานวิจัยที่โครงการมุ่งเน้นในการศึกษา จะประกอบด้วย 6 ประเด็นที่มีความสำคัญในเชิงนโยบายและผลกระทบ ได้แก่ 1. การศึกษาและสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังไข้หวัดนกในสัตว์ปีกอพยพ (Forming of regional network for surveillance and monitoring of Avian Influenza viruses in migratory birds) โดยจะศึกษาสัตว์ปีกอพยพสายพันธุ์ที่อาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อไข้หวัดนก และศึกษารูปแบบการกระจายตัวของสัตว์ปีกอพยพสายพันธุ์ต่างๆ เพื่อสร้างเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังไข้หวัดนกจากสัตว์ปีกอพยพ 2. การศึกษาผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม เมื่อเกิดการระบาดของไข้หวัดนก (Socio-Economic Impact of HPAI outbreaks and control measures on small-scale and backyard poultry producers in Asia) 3. การวิเคราะห์นโยบายเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการระบาดของไข้หวัดนก (Policy Analysis for Pandemic Influenza Preparedness) โดยศึกษาวิเคราะห์ 2 นโยบาย คือ นโยบายการใช้ยาต้านไวรัส และนโยบายการใช้วัคซีนไข้หวัดนก เพื่อศึกษากระบวนการพัฒนานโยบาย และนำไปปรับใช้สำหรับการกำหนดนโยบายอื่นๆต่อไป
4. การศึกษาผลกระทบของไข้หวัดนกที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคม จากการใช้มาตรการควบคุมต่างๆ ในประเทศแถบเอเชีย (Studies on the effectiveness of Avian Influenza control measures in the Asian partnership countries) 5. การศึกษาพฤติกรรม และการเคลื่อนย้ายของสัตว์ปีกที่เลี้ยงตามบ้าน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของการแพร่กระจายของไข้หวัดนก (Characteristics and dynamics of backyard poultry systems in 5 Asian countries in relations to reduce and manage AI risks) และ 6. การศึกษาเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมความเสี่ยงของกลุ่มเป้าหมาย ในประเทศเวียดนาม จีน และไทย (Avian influenza risk behavior change among populations in Vietnam, Thailand and China)
นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวต่อว่าจากความร่วมมือครั้งนี้ นอกจากจะได้ผลงานวิจัยที่มีประโยชน์กับทุกประเทศแล้ว ยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ของนักวิจัยและหน่วยงานวิจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทำให้ทราบว่ามีหน่วยงานวิจัยด้านไข้หวัดนกอยู่ที่ใดบ้าง ทราบนโยบาย และแนวทางการป้องกันไข้หวัดนกของประเทศต่างๆ พร้อมทั้งยังดึงกลุ่มนักวิจัยที่ไม่ใช่ทางการแพทย์อย่างเดียวเท่านั้น แต่ได้รวบรวมนักวิจัยในสาขาใกล้เคียง เช่น สัตวแพทย์ เข้ามาร่วมทำวิจัย ซึ่งจะกลายเป็นความร่วมมือในวงกว้าง โดยทั้งหมดนี้จะทำให้การเกิดความไว้วางใจกัน ในการให้ข้อมูลงานวิจัย และข่าวสารที่มีความสำคัญไม่ถูกปิดกั้นอีกต่อไป
“การสร้างเครือข่ายวิจัยด้านไข้หวัดนกนับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการร่วมมือกันศึกษาโรคที่มีผลกระทบต่อคนในวงกว้าง และกระทบกับคนทั่วโลก ซึ่งโรคในลักษณะเดียวกันนี้ยังมีอีกหลายโรค เช่น โรคเอดส์ และโรคซาร์ส ซึ่งโรคเหล่านี้จะมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไป และจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการวิจัยโดยได้รับความร่วมมือระหว่างองค์กรด้านสุขภาพระหว่างประเทศ ในรูปแบบเดียวกันนี้”
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สวรส.