เปิดใจผู้แทนประเทศไทยก่อนคว้าฝันเคมีโอลิมปิก

ข่าวทั่วไป Tuesday July 10, 2007 10:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--สสวท.
เปิดใจผู้แทนประเทศไทยก่อนคว้าฝันเคมีโอลิมปิก อยากเปลี่ยนทัศนคติคนไทย เด็กเก่งไม่จำเป็นต้องเรียนแพทย์ ชอบอะไรก็เข้าคณะนั้น แต่ต้องทำให้ดีที่สุด
เด็ก ๆ แต่ละคน ต่างก็มีความชอบ ความรัก และความฝันในสิ่งที่แตกต่างกัน บางคนโชคดีที่ค้นพบได้เร็วว่าตัวเองชอบอะไร แล้วก็มุ่งไปทางนั้นอย่างเต็มที่ อย่างเช่นเด็กกลุ่มนี้ที่ยิ่งได้สัมผัสกับความงามของเคมีมากเท่าใด ก็ยิ่งสนุกและมีความสุข
เคมีโอลิมปิก หรือ การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ สาขาวิชาเคมี ในปีนี้ จัดขึ้นในวันที่ 15-24 กรกฎาคม 2550 ณ กรุงมอสโคว ประเทศรัสเซีย โดยมีผู้แทนประเทศไทยคนเก่ง จำนวน 4 คน ได้แก่ นายเตชินท์ จุลเทศ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา นายธนธรณ์ ขอทวีวัฒนา โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ นายบวร หงษ์ศรีจินดา โรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก นายพรชัย แก้วทรัพย์ศักดิ์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จะไปร่วมฝ่าด่านระดับโลก
นายเตชินท์ จุลเทศ (เติ้ง) วัย 17 ปี กำลังเรียนชั้น ม. 6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งชอบเรียนภาษาไทยกับภาษาอังกฤษมากที่สุด วิชาที่ชอบรองลงมาคือเคมี แต่เก่งจนได้เป็นผู้แทนประเทศไทยในงานนี้ เล่าว่า เคมีเป็นวิชาที่ใช้ความสร้างสรรค์ ปฏิกิริยาเคมีมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจ เช่น มีแก๊สออกมา เปลี่ยนสี หรือแม้แต่ระเบิด จึงอยากทำการทดลองต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ชอบอ่านหนังสือโดยเฉพาะเคมีอินทรีย์ เพราะรู้สึกสบายอารมณ์และผ่อนคลาย แต่ก็ชอบอ่านหนังสือการ์ตูนด้วย พอรู้ว่าได้เป็นผู้แทนประเทศไทยดีใจมากถึงกับหลั่งน้ำตา ก่อนไปแข่งเคมีโอลิมปิกคิดว่าในส่วนของทฤษฎีผมพร้อมแล้ว แต่ก่อนเดินทางก็พยายามเพิ่มเติมความรู้ภาคปฏิบัติสะสมไว้ก่อนเรื่อย ๆ
“นับเป็นโอกาสดีที่ได้เป็นผู้แทนประเทศไทย จึงมีโอกาสเห็นความก้าวหน้าของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ประเทศไทยเรายังมีเยาวชนอีกมากที่มีศักยภาพ ขาดแต่การสนับสนุนพวกเขาเหล่านั้นแสดงความสามารถอย่างเต็มที่ โอลิมปิกวิชาการจึงเป็นหนึ่งทางเลือกเพื่อสร้างเยาวชนมาร่วมพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ”
ครอบครัวไม่ได้กดดันให้เรียนหนักเลยครับ ทุกอย่างเป็นความต้องการของตัวเอง เมื่ออยากเป็นผู้แทนประเทศไทยครอบครัวก็สนับสนุนทุกทาง ให้คำปรึกษา และซื้อหนังสือเคมีภาษาอังกฤษให้...ยังมีเวลาอีก 1 ปี ผมขอเวลาคิดก่อนว่าจะรับทุนดอลิมปิกวิชาการไหม หรือจะเรียนต่อที่ไหน อย่างไร...เติ้งบอก
นายธนธรณ์ ขอทวีวัฒนา (พลัม) วัย 17 ปี ม. 6 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ในความคิดของ หนุ่มน้อยคนนี้มองว่าเคมีเป็นศาสตร์ที่น่าหลงไหลและมีเสน่ห์มาก ๆ และชอบการทำแลปเคมี เพราะต้องอาศัยทั้งความประณีต การวางแผน การคิดอย่างมีเหตุผลและศิลปะ คุณพ่อคุณแม่คอยเป็นที่ปรึกษาและให้กำลังใจเสมอ และคุณพ่อเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ชอบเคมีด้วย เพราะท่านเป็นอาจารย์สอนคณะอุตสาหกรรมเกษตร ม. เกษตรศาสตร์ ซึ่งต้องใช้ความรู้ทางเคมีอินทรีย์อย่างมาก ผมจึงได้มีโอกาสอ่านหนังสือของคุณพ่อและสนใจวิชาเคมีครับ
น้องพลัมบอกว่าแต่ก่อนชอบอ่านนวนิยายและวรรณกรรมเยาวชน โดยเฉพาะแนวแฟนตาซีมาก ๆ แต่ตอนนี้ชอบอ่านหนังสือเคมีมากกว่าแล้วครับ โดยฌพาะเคมีอินทรีย์ ความจริงผมไม่ได้เรียนเก่งมากหรอกครับ เพียงแต่วิชาเคมีเป็นวิชาที่ผมรัก ผมจึงทุ่มเทให้ทุกครั้งที่ได้เรียน ได้อ่าน ได้ทำแลป ก็รู้สึกว่านี่คือตัวเรา ทำให้ผมเรียนได้อย่างมีความสุขครับ
“ผมอยากให้เพื่อนทุกคนมุ่งมั่นตั้งใจทำในสิ่งที่ตนเองรัก ผมเชื่อว่าถ้าหากเราได้ทำในสิ่งที่ชอบที่สนใจ และมีประโยชน์ย่อมเกิดผลดีตามมา แน่นอนว่าโอลิมปิกวิชาการเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้รักในวิทยาศาสตร์ที่จะได้รับความรู้ ประสบการณ์และมิตรภาพที่หาไม่ได้จากที่ใดแน่นอน และตั้งใจว่าเมื่อจบ ม. 6 แล้วจะรับทุนโอลิมปิกวิชาการ จาก สสวท. ไปเรียนต่อปริญญาตรี-เอกด้านเคมีที่ต่างประเทศแน่นอน เนื่องจากอยากมีส่วนช่วยพัฒนาประเทศไทยให้เป็นประเทศชั้นนำทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งอยากเปลี่ยนค่านิยมของคนไทยที่คิดว่าเด็กเก่งต้องเข้าคณะแพทยศาสตร์ให้กลายเป็นว่าเราชอบอะไรก็เข้าคณะนั้น แล้วทำให้ดีที่สุด ไม่ต้องทำตามกระแสสังคม”
นายบวร หงษ์ศรีจินดา (บ๊วย) วัย 18 ปี เพิ่งจบโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก ปัจจุบันเรียนปี 1 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะมีเป้าหมายจะเป็นแพทย์นักวิจัยเอาชนะโรคมะเร็งให้ได้ หนุ่มบ๊วยที่ไม่เป็นรองใครคนนี้ เล่าถึงทางเดินชีวิตตัวเองว่า ตอน ม. 3 ผมไม่ตั้งใจเรียนจึงรู้สึกว่าตัวเองเป็นขยะ จึงอยากเปลี่ยนตัวเอง เลยมาลองเข้าโครงการโอลิมปิกวิชาการ เพื่อจะได้เห็นคุณค่าของตัวเอง และชอบการทำแลป เพราะเป็นเหมือนศิลปะที่ต้องใช้ความปราณีตอย่างสูงในการทดลอง ถ้ามีเวลาว่างจะเล่นบาสเกตบอลและอ่านหนังสือ โดยเฉพาะนิยาย ของวินทร์ เลียววาริณ ที่ชื่อ ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน ซึ่งเป็นนักเขียนที่รู้สึกชื่นชมเสมอ
“การแข่งขันครั้งนี้ผมจะต้องคว้าเหรียญใดเหรียญหนึ่งติดมือมาให้ได้ครับ จริง ๆ แล้วตั้งใจคว้าเหรียญเงิน แต่ถ้าเป็นไปได้ก็เหรียญทอง ค่อนข้างมั่นใจ เพราะพยายามเต็มที่แล้ว”
นายพรชัย แก้วทรัพย์ศักดิ์ (ชัย) วัย 18 ปี เพิ่งจบ ม. 6 จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กำลังจะไปเรียนต่อต่างประเทศด้วยทุนโอลิมปิกวิชาการ เล่าว่า เคมีมีการทดลองที่น่าตื่นเต้นอยู่มากมาย การเตรียมตัวก่อนไปแข่งนั้น สสวท. ได้จัดค่ายอบรมเพิ่มเติมให้อยู่แล้ว นอกจากนั้นก็ยังมีการอ่านหนังสือทบทวนเนื้อหาที่ได้เรียนมาตั้งแต่แรก รวมทั้งศึกษาแนวโจทย์ที่ประเทศเจ้าภาพส่งมาให้ ผมคิดว่าผมพร้อมที่สุดเท่าที่จะทำได้ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ
“สิ่งที่ภูมิใจที่สุดก็คือการได้เป็นผู้แทนประเทศไทย เป้าหมายสูงสุดในชีวิตตอนนี้คือการได้เรียนจบปริญญาเอกด้านเคมี จึงได้รับทุนจาก สสวท. ที่ให้ทุนแก่ผู้แทนประเทศไทย ฯ ทุกคนทุกวิชาไปเรียนต่อปริญญาตรีถึงปริญญาเอกที่ต่างประเทศ โดยผมจะไปเรียนเคมีที่อเมริกา ต้องการต่อยอดความรู้ให้ถึงที่สุดจะได้กลับมาพัฒนาประเทศได้อย่างเต็มที่”
ชัยบอกว่า สิ่งหนึ่งที่ประทับใจจากโครงการโอลิมปิกวิชาการ คือ มิตรภาพของเพื่อนจากโรงเรียนต่าง ๆ ที่สนใจวิชาเดียวกัน ได้ใช้ชีวิตในค่ายด้วยกัน ทั้งกินข้าว อ่านหนังสือ เที่ยวเล่นด้วยกัน ทำให้เรามีมิตรภาพแน่นแฟ้น และเป็นเพื่อนสนิทกันหลายคน
ในขณะที่คนบางส่วน ดีใจ ภูมิใจ และตื่นเต้นด้วยทุกครั้งที่เด็กไทยได้ไปร่วมการแข่งขันแล้วประสบความสำเร็จคว้าเหรียญกลับมา แต่มุมมองของบางคนนั้น กลับมองว่าการจัดส่งโอลิมปิกวิชาการเป็นเรื่องฉาบฉวย ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับเด็กไทยในวงกว้างเท่าไหร่
งานนี้ รศ. ดร. วุฒิชัย พาราสุข จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมที่นำเด็กไทยไปแข่งเคมีโอลิมปิก กลับไม่ได้คิดอย่างนั้น ซึ่งได้ให้ความคิดเห็นว่า “โครงการโอลิมปิกวิชาการอาจดูเหมือนเกี่ยวข้องกับคนเพียงน้อยนิดเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วโครงการนี้จะสร้างผลกระทบอันยิ่งใหญ่ต่อวงการวิชาการของไทยและต่อประเทศไทย ประการแรกผู้แทนประเทศไทยจะเป็นแบบอย่างให้นักเรียนคนอื่น ๆ ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดความสนใจที่จะเข้าร่วมรับการอบรมพัฒนาตนเองให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น และเป็นการพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์โดยทางอ้อม การกระตุ้นความสนใจของคนจำนวนมากเป็นจุดเริ่มต้นของผู้ที่รักจะเป็นนักวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนั้นโครงการโอลิมปิกวิชาการยังช่วยให้นักเรียนหลายคนได้ค้นพบว่าตัวเองชอบอะไร และมองเห็นว่าทางเลือกของคนเก่งไม่ได้มีเพียงการเข้าเรียนคณะแพทยศาสตร์เท่านั้น ซึ่งเห็นได้จากจำนวนผู้แทนประเทศไทยที่สนใจรับทุนโอลิมปิกวิชาการ จาก สสวท. เพิ่มขึ้น และตอนนี้ก็เริ่มมีนักเรียนที่เคยเข้าค่ายโอลิมปิกวิชาการและนักเรียนที่เคยเป็นผู้แทนประเทสไทยที่เรียนต่อจนจบปริญญาเอก เริ่มทยอยกลับมาประเทศไทย ซึ่งคนเหล่านี้ได้รับการศึกษาและการอบรมที่ดี ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป”
นักเรียนบางคนที่ไม่ได้เป็นผู้แทนประเทศไทยแต่ผ่านการเข้าค่ายคัดเลือกครั้งที่ 2 ในโครงการโอลิมปิกวิชาการ ก็สามารถเข้าเรียนต่อในคณะต่าง ๆ ตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ โดยไม่ต้องสอบคัดเลือกตามระบบ อีกด้วย เช่นคณะแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ฯลฯ
ได้เห็นเป้าหมายและความมุ่งมั่นของเด็กเหล่านี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการเป็นผู้แทนโอลิมปิกวิชาการไม่ใช่เพียงแค่ทำดีและมุ่งมั่นให้ได้เหรียญรางวัลแล้วก็สิ้นสุดลงตรงนั้น แต่ปลายทางของพวกเขาอยู่ที่การเรียนต่อยอดสิ่งที่อยู่ในสมองและจิตใจให้งอกงาม แล้วกลับมาสร้างองค์ความรู้ หรือคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ให้ประเทศไทย แล้วรู้สึกชื่นชม พร้อมกับวาดหวังว่าอนาคต พวกเขาทั้ง 4 คนจะเรียนจบมาเป็นกำลังสำคัญ ช่วยพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้บ้านเราแน่นอน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ