กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--กทม.
กทม. จับมือกระทรวงแรงงาน เดินหน้าโครงการส่งผู้ดูแลผู้สูงอายุไปสวีเดน สานฝันสภา กทม. เตรียมส่งแรงงาน 60 คนแรก นำร่องก่อนขยายโอกาสไปยังเทศบาลอื่นต่อไป พร้อมตั้งคกก.ร่วมพิจารณาคุณสมบัติให้ชัดเจน ด้านกระทรวงแรงงานพร้อมให้ความคุ้มครองแรงงานไทย คาดต้นปี 54 สามารถส่งแรงงานไทย 60 คนแรกไปทำงานที่ประเทศสวีเดนได้
สภากรุงเทพมหานครจัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการจัดส่งผู้ดูแลผู้สูงอายุไปทำงาน ณ ราชอาณาจักรสวีเดน ระหว่างกรุงเทพมหานคร กับกระทรวงแรงงาน โดยมีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหาคร ร่วมลงนามฯ นายกิตพล เชิดชูกิจกุล ประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าวรายงานความเป็นมาของโครงการฯ พร้อมมีคณะสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกทม.ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกทม.
จากสัมพันธ์แน่นแฟ้น “สภาบ้านพี่เมืองน้อง”สู่ความร่วมมือด้านการดูแลผู้สูงอายุ
ประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากการที่สภากรุงเทพมหานครได้สถาปนาความสัมพันธ์สภาบ้านพี่เมืองน้องกับ สภาเทศบาลรากุนด้า ราชอาณาจักรสวีเดน ตั้งแต่ 1 พ.ย.2542 เป็นต้นมา ทั้งสองสภาได้มีการเดินทางมาเยือนซึ่งกันและกัน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความร่วมมือทางด้านต่าง ๆ เช่น ด้านสังคม วัฒนธรรม การศึกษา การท่องเที่ยว การสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งจัดโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชนของทั้งสองเมืองมาอย่างต่อเนื่อง จนมีความสัมพันธ์ ที่ใกล้ชิดแน่นแฟ้น และจากการหารือเรื่องปัญหาผู้สูงอายุในสวีเดนที่ขาดบุคลากรดูแลเป็นจำนวนมาก นำไปสู่ความร่วมมือด้านการสนับสนุนแรงงานไทยไปทำงานที่สวีเดนในฐานะผู้ดูแลผู้สูงอายุ โดยทั้งสองสภาฯ ได้ทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ที่ผ่านมา ณ ราชอาณาจักรสวีเดน เพื่อยืนยันในการเดินหน้าโครงการดังกล่าวร่วมกัน
สวีเดนต้องการ “คนไทย” ไปดูแลผู้สูงอายุจำนวนมาก
เนื่องจากผลพวงของยุค Baby Boom หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้ปัจจุบันในราชอาณาจักรสวีเดนมีผู้สูงอายุมากกว่า 20,000 คน ขณะที่มีประชากรทั้งสิ้นเพียง 9 ล้านคนเศษ มีสภาพเป็นครอบครัวเดี่ยว และขาดคนดูแลผู้สูงอายุ จึงต้องการแรงงานที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งนี้เฉพาะในมณฑลแจมท์แลนด์มีผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปี ถึง 25% และด้วยชื่อเสียง ในด้านอัธยาศัยไมตรีและการดูแลเอาใจใส่ของคนไทยเป็นที่ยอมรับในหมู่ชาวสแกนดิเนเวีย จึงมีความต้องการคนไทยไปทำงานดูแลผู้สูงอายุชาวสวีเดนจำนวนมาก
นำร่องโครงการที่เทศบาลรากุนด้า
ประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในการนำร่องที่เทศบาลรากุนด้า คาดว่าจะส่งผู้ดูแลผู้สูงอายุไปก่อน 60 คน จากนั้นจะขยายความร่วมมือไปยังเทศบาลอื่น เช่น ออสเตอร์ซุนด์ โซเลฟทีโอ ต่อไป ซึ่งก่อนจะไปทำงานที่สวีเดนจะมีการฝึกอบรมในประเทศไทย เกี่ยวกับหลักการด้านพยาบาล การดูแลผู้สูงอายุ ความรู้ด้านวัฒนธรรม ด้านภาษา และการฝึกงานในต่างประเทศ โดยกรุงเทพมหานคร เทศบาลรากุนด้า และกระทรวงแรงงาน จะร่วมกันเป็นผู้ดำเนินการ เบื้องต้นทางเทศบาลรากุนด้าระบุคุณสมบัติ วุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่ามัธยมปลาย สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี และมีความรู้ด้านการดูแลผู้สูงอายุ ทดลองงาน 6 เดือน รายได้ประมาณเดือนละ 17,000 โครน หรือ ประมาณ 68,000 บาท อย่างไรก็ดี หลังจากนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมกันพิจารณากำหนดรายละเอียด และคุณสมบัติที่เหมาะสม ทั้งในส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการเดินทางไป
กระทรวงแรงงานพร้อมให้ความคุ้มครองแรงงานไทย
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โครงการนำร่องส่งผู้ดูแลผู้สูงอายุที่สวีเดนจะส่งเสริมการจ้างงานชาวไทย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศในการผลิตต้นกล้าอาชีพ ส่งเสริมความก้าวหน้าในอาชีพ และนำรายได้มาสู่ประเทศชาติต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้การนำร่องนี้สำเร็จตามเป้าหมาย จึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากกระทรวงแรงงานซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการจัดส่งแรงงานไปต่างประเทศ
ด้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า โครงการนำร่องความร่วมมือฯ ที่ริเริ่มโดยสภากรุงเทพมหานครและสภาเทศบาลรากุนด้า ราชอาณาจักรสวีเดน เพื่อสนับสนุนให้แรงงานไทยได้มีโอกาสเดินทางไปทำงานในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ทำให้ครอบครัวมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเป็นการนำรายได้เข้าประเทศ สำหรับการทำบันทึกข้อตกลงกับ กทม. ในครั้งนี้ถือได้ว่ารัฐได้เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนให้คนหางานมีทางเลือกในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ โดยคนหางานไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบริการจัดหางาน และจะได้รับการฝึกอบรมเตรียมความพร้อมด้านทักษะฝีมือและภาษาก่อนเดินทางไปทำงาน ซึ่งโดยลักษณะพื้นฐานของคนไทยนั้น มีลักษณะเด่นในเรื่องความอ่อนโยน เอื้ออารี นอกจากนั้นยังเป็นคนขยัน อดทนต่อการทำงานหนัก ดังนั้นการส่งเสริมให้คนไทยได้มีโอกาสไปดูแลผู้สูงอายุ ที่ประเทศสวีเดนนั้น นับเป็นประโยชน์ต่อทั้งนายจ้างที่จะได้ผู้ช่วยงานที่มีคุณลักษณะตามที่ต้องการทั้งด้านอุปนิสัยซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวของแรงงานแล้วยังด้านทักษะที่ได้รับการฝึกฝนเป็นอย่างดี และในส่วนคนหางานจะได้งานที่ได้รับค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม ได้รับสวัสดิการที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป ทั้งนี้กระทรวงแรงงานได้ดำเนินนโยบายส่งเสริมแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ และให้ความสำคัญกับการคุ้มครองแรงงานไทยในต่างประเทศ รวมทั้งหาแนวทางในการทำให้คนหางานเสียค่าใช้จ่ายในการไปทำงานต่างประเทศน้อยที่สุด
คาดต้นปี 54 ส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ประเทศสวีเดนได้
ประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มว่า ในขั้นตอนต่อไปหลังจากนี้ทางกรุงเทพมหานคร กระทรวงแรงงาน จะประชุมร่วมกันกับทางเทศบาลรากุนด้า ประเทศสวีเดน ในเรื่องของค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมต่างๆของแรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานที่ประเทศสวีเดนเพื่อจะให้รับการยกเว้นหรือให้มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการน้อยที่สุด รวมถึงคุณสมบัติต่างๆตามที่ทางเทศบาลเมืองรากุนด้าต้องการ ซึ่งจะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อร่วมกันพิจารณาในรายละเอียดให้ชัดเจน รวมถึงระยะเวลาในการเปิดรับสมัคร และการส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ประเทศสวีเดน ซึ่งคาดว่าหลังจากได้ข้อสรุปชัดเจนในช่วงต้นปี 2554 จะสามารถดำเนินการส่งแรงงานไทย 60 คนแรกไปทำงานได้ ทั้งนี้ทางกรุงเทพมหานครจะเป็นผู้จัดฝึกอบรมแรงงานไทยประมาณ 3 เดือนก่อนไปทำงานที่เทศบาลเมืองรากุนด้า ประเทศสวีเดน