กรุงเทพฯ--21 ก.ค.--สสวท.
ในการดำเนินชีวิตแต่ละวัน เรามักพบกับความขัดแย้งทางความคิด ซึ่งอาจเกิดขึ้น ในตัวเราเอง บุคคล และกลุ่มบุคคล ทั้งในระดับครอบครัว และสังคม ทำให้เกิดการสร้างและแสวงหาข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก เพื่อนำมาเป็นเหตุผลในการเอาชนะกัน สร้างพรรคพวก สร้างความชอบธรรม หรือเป็นความรู้เพื่อแก้ปัญหาให้อยู่รอด
ข้อมูลข่าวสารที่ถูกสร้างขึ้น หรือค้นหามาใช้ หากเป็นความจริง ตรงประเด็น ชัดเจน ย่อมสร้างความถูกต้อง ความมีเหตุผล ก่อให้เกิดการยอมรับในข้อมูลนั้น เป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ และเป็นข้อมูลซึ่งนำไปใช้แก้ปัญหาที่ให้ผลลัพธ์ได้ถูกต้อง สามารถลดหรือแก้ไขความขัดแย้งทางความคิดได้
ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทำให้ในแต่ละวันเกิดข้อมูลข่าวสารจำนวนมากขึ้น ทั้งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว และกระจายไปในวงกว้าง แหล่งที่มาของข้อมูลจึงเกิดขึ้นมากมาย การสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชนไทยมีความสามารถเลือกรับข้อมูลที่ตรงตามความเป็นจริง โดยพิจารณาข้อมูลจากแหล่งที่มาของข้อมูลจึงมีความสำคัญยิ่ง เพราะแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ ย่อมให้ข้อมูลที่เชื่อถือได้
การเรียนการสอนในชั้นเรียน สามารถฝึกให้เยาวชน รู้จักค้นหาแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ แล้ว นำมาคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ กลั่นกรอง ก่อนที่จะนำข้อมูลนั้นมาใช้ประโยชน์ โดย นายนิพนธ์ ศุภศรี ผู้ชำนาญสาขาคอมพิวเตอร์ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) อธิบายว่า หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 สาระที่ ๓ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในชั้น ป.1 - 6 ได้กำหนดตัวชี้วัดที่จะระบุให้นักเรียนไทยมีความรู้ และทักษะที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง ข้อมูล และแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ไว้ดังนี้
ป. 1 บอกข้อมูลที่สนใจและแหล่งข้อมูลที่อยู่ใกล้ตัว
ป.2 บอกประโยชน์ของข้อมูลและรวบรวมข้อมูลที่สนใจจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ
ที่เชื่อถือได้ บอกประโยชน์และการรักษาแหล่งข้อมูล
ป.5 ค้นหา รวบรวม ข้อมูลที่สนใจและเป็นประโยชน์จากแหล่งข้อมูลต่างๆ
ที่เชื่อถือได้ ตรงตามวัตถุประสงค์
ป.6 ใช้คอมพิวเตอร์ในการค้นหาข้อมูล เก็บรักษาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ
จากตัวชี้วัดข้างต้น สาขาคอมพิวเตอร์ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้จัดทำแนวคิดสำหรับเนื้อหาสาระ ในชั้น ป.1 - 6 ไว้ว่า ข้อมูลเป็นข้อเท็จจริง เรื่องราว หรือรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่เราสนใจ ข้อมูลของสิ่งที่สนใจหาได้จากแหล่งต่างๆ สถานที่ บุคคลและสื่อ ต่าง ๆ เป็นแหล่งที่ให้ข้อมูล ข้อมูลบางอย่างมีประโยชน์ในการดำเนินชีวิตต้องพิจารณาก่อนนำไปใช้ข้อมูลและแหล่งข้อมูลมีประโยชน์ ประโยชน์ของข้อมูลเช่น ช่วยในการเรียน
นอกจากนั้น แหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้เป็นแหล่งที่มีการรวบรวมข้อมูลอย่างมีหลักเกณฑ์ มีเหตุผล และมีการอ้างอิง เช่น แหล่งข้อมูลของทางราชการ แหล่งข้อมูลที่มีผู้เชี่ยวชาญมีประสบการณ์ตรง และศึกษาในเรื่องนั้นๆ การรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้หลายแหล่ง ช่วยให้ได้ข้อมูลที่มีความถูกต้องสมบรูณ์ยิ่งขึ้น การวางแผนอย่างเป็นขั้นตอนมีประโยชน์ต่อการค้นหาข้อมูล การกำหนดหัวข้อที่ต้องการ การเลือกแหล่งข้อมูล และเตรียมอุปกรณ์เป็นการวางแผนและเตรียมตัวก่อนการค้นหาข้อมูล
ข้อมูลที่ได้จากการวางแผนที่ดีและแหล่งที่เชื่อถือได้หลายแหล่งช่วยให้การสรุปผลเป็นไปอย่างถูกต้อง “แนวคิดสำหรับเนื้อหาสาระ ที่ สสวท. จัดทำไว้นี้ เป็นแนวทางในการสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ ในการพัฒนาสื่อสำหรับครูและนักเรียน ซึ่งนอกจากจะช่วยให้นักเรียนมีความรู้และทักษะบรรลุผลตามตัวชี้วัดแล้ว ความสามารถในการเลือกรับข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ ก็ถือได้ว่าเป็นทักษะชีวิตที่ช่วยให้เยาวชนของชาติมีส่วนช่วยลดความขัดแย้งทางความคิดในสังคมไทยด้วย” นายนิพนธ์ ศุภศรี กล่าว