กรุงเทพฯ--21 ก.ค.--ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย
“ปลัด ยธ.” ย้ำชัดทำอย่างไรให้เกิดตัวกฎหมายและการบังคับใช้เป็นธรรมทั้งคู่ บังคับใช้โดยเสมอภาคไม่เลือกปฏิบัติ คนรากหญ้าสามารถเข้าถึงความเป็นธรรมได้ แนะต้องเปลี่ยนเป็นมุมมองข้างล่างขึ้นบน
นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.)ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย ถึงประเด็นการสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยเฉพาะเรื่องความยุติธรรมจะต้องมีกรอบการทำงานที่กว้างจากเดิม จากที่มองกระบวนการยุติธรรมแค่เฉพาะในเรื่องเชิงกระบวนการยุติธรรมที่เป็นทางการ ระบบยุติธรรมกระแสหลักกับตัวกฎหมายให้มุ่งที่ประเด็นระบบความเป็นธรรมที่ประชาชนโดยเฉพาะรากหญ้าจะต้องสามารถเข้าถึงความเป็นธรรมได้ดีขึ้น
สำหรับการแก้ปัญหากระบวนการยุติธรรม จากเดิมที่มุ่งแก้ปัญหาเชิงนโยบาย มีมุมมองแก้ปัญหาจากข้างบนลงล่าง นายกิตติพงษ์ กล่าวว่า ต้องเปลี่ยนเป็นมุมมองข้างล่างขึ้นบน โดยดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในบ้านเรานั้น มีทั้งปัญหากฎหมายที่ไม่เป็นธรรม กระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เพราะฉะนั้นจึงต้องมองถึงโอกาสของประชาชนในการเข้าถึงความเป็นธรรมด้วย
“วันนี้เราจึงตั้งกรอบไว้กว้างๆ ในกรรมการสมัชชาปฏิรูป ไม่ใช่แค่เรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น แต่ต้องเป็นการปฏิรูประบบความยุติธรรม” ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าว และยกตัวอย่าง กรณีชุมชนถูกเอาเปรียบด้านที่ทำดิน การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือนโยบายในการพัฒนาที่ไปขัดในสิทธิพื้นฐานของชุมชน ทำให้ประชาชนมาเดินชุมนุมเรียกร้องสิทธิที่ทำกิน แต่ได้ทำผิดกฎหมายในการมาประท้วง กีดขวางการจราจร ก็ต้องคิดด้วยว่า เรื่องผิดกฎหมายเป็นเรื่องเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับผลกระทบหลักที่คนกลุ่มนี้มาเรียกร้อง เป็นต้น
เมื่อถามถึงปัญหาประเด็นการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า มีหลายประเด็น ทั้งปัญหาตัวกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงกรณีกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมและมีบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นธรรมซ้ำด้วย ยิ่งเป็นปัญหาใหญ่กลายเป็นความ อยุติธรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นจะทำอย่างไรให้เกิดตัวกฎหมายและการบังคับใช้เป็นธรรมทั้งคู่ บังคับใช้โดยเสมอภาคไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งต้องทำเรื่องนี้ลงไปสู่ระดับชุมชนท้องถิ่นให้ร่วมผลักดันด้วย
“ในส่วนของกระบวนการยุติธรรมเพื่อสร้างความเป็นธรรมนั้น ที่ผ่านมามีการปฏิรูปมาหลายครั้ง แต่จากนี้ทิศทางใหญ่ คือ จะทำอย่างไรที่ทำให้ประเด็นแนวคิดเรื่องการปฏิรูปความยุติธรรมนี้ลงไปถึงระดับชุมชนจริงๆ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีการระดมความคิด ให้เห็นความสำคัญเรื่องนี้ และเข้ามาร่วมผลักดัน ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงยุติธรรมได้ทำไปบ้างแล้ว เช่น เรื่องยุติธรรมชุมชนที่ต้องการให้ชุมชนเข้ามาร่วมเป็นหุ้นส่วนในการผลักดันเรื่องความยุติธรรม แต่ก็ยังไม่ชัดเพราะยุติธรรมชุมชนต้องมีจินตนาการร่วมกัน มีมุมมองใหม่ที่ไม่ซ้ำกับเรื่องเดิมๆ ” ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าว
เมื่อถามถึงประเด็นการสร้างความยุติธรรมในส่วนของกรรมการสมัชชาปฏิรูป จะเชื่อมโยงกับคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ชุด ศ.ดร.คณิต ณ นคร ได้อย่างไรนั้น นายกิตติพงษ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีเป็นการทำงานร่วมกันที่เป็นประโยชน์ ข้อสรุปที่คอป.ทำนั้นอาจจะพบตัวปัญหาความไม่ยุติธรรม ซึ่งอาจจะมีการนำมาเสนอให้คสป. เพื่อนำมาแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างใหญ่ต่อไปด้วยชุดของคอป.จะช่วยเป็นเครื่องมือยืนยันตอกย้ำในการทำเรื่องนี้อีกทางหนึ่งด้วย