TCELS พร้อมปันข้อมูลยีนเสี่ยงเกิดPTSDกับทั่วโลก

ข่าวทั่วไป Wednesday March 28, 2007 11:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 มี.ค.--TCELS
TCELS ส่งยีน PTSD ตรวจญี่ปุ่น 1 มิ.ย.นี้ คาดปลายปีเสร็จสามารถวิเคราะห์ได้ใครเสี่ยงเป็นโรค และหาวิธีป้องกันได้ตั้งแต่ยังไม่ป่วย พร้อมปันข้อมูลในฐานะที่มีกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยมากสุดกับนานาประเทศ หลังพบโรคดังกล่าวเป็นปัญหาทั่วโลก จากเหตุภัยธรรมชาติ และภาวะสงคราม
นายกำจร พลางกูร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS) กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยจากโรคผู้ที่มีอาการเครียดหลังเกิดเหตุวิกฤต หรือ PTSD (Post Traumatic Stress Disorder) เป็นจำนวนมากจากเหตุภัยพิบัติอันเกิดจากภัยธรรมชาติ และจากเหตุการณ์ความไม่สงบในหลายพื้นที่รวมถึงกรุงเทพมหาคร และไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้นที่ประสบปัญหา ขณะนี้ทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญกับโรคดังกล่าว อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ที่พบว่า ทหารที่ไปรบประเทศอิรักมีอาการ PTSD เป็นจำนวนมาก จึงทำให้ทั่วโลกเริ่มหันมาให้ความสำคัญและเร่งหาทางป้องกันตั้งแต่ยังไม่ป่วย
“นับเป็นความโชคดีของประเทศไทยที่สามารถเก็บยีนของผู้ป่วย PTSD และเครือญาติ จากเหตุคลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่ม 6 จังหวัดภาคใต้ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ที่ผ่านมา ได้จำนวนกว่า 3,000 ตัวอย่าง ซึ่งมีปริมาณเพียงพอต่อการวิเคราะห์เพื่อยืนยันผลว่ายีนมีผลต่อการเกิดโรคนี้หรือไม่ โดยในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ นักวิจัยจากประเทศไทยซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก TCELS จะส่งยีนดังกล่าวเพื่อส่งตรวจที่สถาบันพันธุกรรมมนุษย์แห่งประเทศญี่ปุ่น คาดว่าประมาณปลายปีนี้จะสามารถวิเคราะห์ได้ว่ายีนมีผลต่อการเกิดโรคหรือไม่ ซึ่งหากทำได้นอกจากจะเป็นความสำเร็จของชาวเอเชียแล้วยังถือเป็นผลสำเร็จของคนทั่วโลกด้วย” นายกำจร กล่าวว่าและว่า หากทั่วโลกที่มีประชากรมีอาการ PTSD ประเทศไทยสามารถแบ่งปันข้อมูลเพื่อประโยชน์ต่อการวิเคราะห์และสามารถหาทางป้องกันได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
พญ.นันทิกา ทวิชาชาติ จิตแพทย์จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้มีส่วนในการสำรวจผลกระทบด้านจิตใจและปัจจัยทางพันธุกรรมของการเกิดภาวะเครียดหลังเกิดเหตุสึนามิ กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาตนและทีมงานเดินทางไปพบผู้ป่วย PTSD ณ พื้นที่จังหวัดพังงา พบว่าแม้เหตุการณ์ TSUNAMI จะผ่านมากว่า 2 ปีแล้วก็ตามแต่ผู้ป่วยบางรายยังมีอาการซึมเศร้าอยู่ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง ซึ่งไม่แต่เฉพาะเหตุการณสึนามิเท่านั้น เหตุการณ์ความรุนแรงอื่นๆ ที่ประเทศไทยประสบอยู่ก็มีความเสี่ยงจะทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นการดีที่ญี่ปุ่นจะร่วมมือกับประเทศไทยวิเคราะห์ยีนเพื่อหาความสัมพันธ์ของการเกิดโรค และสามารถหาทางป้องกันได้ตั้งแต่ยังไม่ป่วย โดยให้ความรู้และดูแลอย่างใกล้ชิดเมื่อพบว่าคนในครอบครัว มีปัจจัยเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคดังกล่าว หรืออาจจะเยียวยาด้วยวิธีการพัฒนายาใหม่ให้ตรงโรค
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ