การบินไทยรุกพัฒนาองค์กรสู่ยุคใหม่

ข่าวท่องเที่ยว Thursday July 22, 2010 10:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ก.ค.--การบินไทย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เผยความสำเร็จการปรับปรุงองค์กรตามกลยุทธ์ ภายใต้ Mission TG100 ทั้งในการลดต้นทุน การปรับปรุงฝูงบินให้ทันสมัย การปรับปรุงบริการที่สนองความต้องการของลูกค้าและแข่งขันได้ดีขึ้น และการจัดการองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และความสามารถในการแข่งขันขององค์กร นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยผลการพัฒนาองค์กรใน 9 เดือนที่ผ่านมาว่า “การที่บริษัทฯ ได้กำหนดกลยุทธ์อย่างชัดเจนภายใต้ แนวนโยบาย Mission TG100 ประกอบกับความร่วมมือจากพนักงานทุกส่วนในการช่วยกันผลักดันให้ องค์กรสามารถบรรลุเป้าหมาย ที่จะทำให้การบินไทยกลายเป็นองค์กรที่มีความคล่องตัวสูงมากขึ้น สามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความสามารถในการแข่งขันและหาช่องทางเพิ่มโอกาสทางธุรกิจได้มากขึ้น เราจะดำเนินการลดต้นทุน อย่างต่อเนื่องต่อไป ปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการให้สามารถสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น ตลอดจนการพัฒนาการบริหารจัดการองค์กรให้เป็นบริษัทที่มุ่งเน้นประสิทธิภาพและความโปร่งใส ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในอนาคต รวมทั้งเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่น ที่มีต่อบริษัทฯ” เมื่อปลายปี 2552 ฝ่ายบริหารการบินไทยได้ประกาศแนวนโยบาย Mission TG100 ซึ่งมี เป้าหมายที่จะนำการบินไทยสู่การเป็นสายการบินชั้นนำอันดับ 1 ใน 3 ของเอเชีย และอันดับ 1 ใน 5 ของโลก โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณลักษณะที่สำคัญ 3 ประการคือ การเป็นองค์กรที่มุ่งเน้นลูกค้า การเป็นองค์กรที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง และการเป็นองค์กรที่มีความคล่องตัวสูง ลดต้นทุน เพิ่มความแข็งแกร่ง ในปี 2552 บริษัทฯ ได้ดำเนินนโยบายลดต้นทุน และสามารถลดต้นทุนการดำเนินงานที่ไม่ใช่ค่าน้ำมันได้ถึง 12,781.3 ล้านบาทหรือร้อยละ 13.1 โดยลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรจำนวน 4,342.8 ล้านบาท และลดค่าใช้จ่ายทางด้านค่าบริการการบินเป็นจำนวนเงินถึง 2,247.0 ล้านบาท ในปัจจุบัน ถึงแม้บริษัทฯ จะมีฐานะการดำเนินงานที่ดีขึ้นแล้ว แต่ก็ยังคงเฝ้าระวังในด้านต้นทุนการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีมาตรการในการเพิ่มศักยภาพของแต่ละหน่วยงาน BU (Business Unit) เพื่อพัฒนาธุรกิจให้แต่ละ BU สามารถสร้างรายได้และพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น พร้อมทั้งมีการแสดง ผลประกอบการของแต่ละ BU ที่ชัดเจน พัฒนาฝูงบิน สร้างจุดแข็งใหม่ นอกจากนโยบายด้านการลดค่าใช้จ่ายและต้นทุนในด้านต่างๆ แล้ว การบินไทยยังได้กำหนดแผนการปรับฝูงบินให้ใหม่ขึ้นและปรับปรุงพื้นที่ห้องโดยสาร ในส่วนของการปรับฝูงบินให้ใหม่ขึ้นนั้น บริษัทฯ จะปลดระวางเครื่องบินรุ่นเก่าและจัดหาเครื่องบินใหม่เข้ามาแทนที่พร้อมทั้งขยายฝูงบิน คณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติให้บริษัทฯ จัดหาเครื่องบินแอร์บัส A330-300 จำนวน 7 ลำ และเครื่องบินโบอิ้ง B777-300ER จำนวน 8 ลำ ซึ่งจะค่อยๆ ทะยอยรับมอบใน 3 ปี ทั้งยังจะรับมอบเครื่องบินแอร์บัส A380-800 จำนวน 6 ลำ ในปี 2555-2556 นอกจากนี้บริษัทฯ จะดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ห้องโดยสารในเครื่องบินอีกจำนวน 20 ลำ โดยจะปรับปรุงเก้าอี้โดยสาร ระบบสาระบันเทิงบนเครื่องบิน และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ โดยมีงบประมาณในการปรับปรุงทั้งสิ้น 5,600 ล้านบาท นโยบายนี้จะทำให้บริษัทฯ มีฝูงบินที่มีอายุน้อย โดยอายุเฉลี่ยของ เครื่องบินจะอยู่ที่ 8 ปี ภายในปี 2567 ซึ่งจะทำให้ลดต้นทุนทั้งค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบำรุงรักษา และ ค่าบริหารจัดการฝูงบิน รวมทั้งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนเพิ่ม ขีดความสามารถในการแข่งขันกับสายการบินอื่น เพิ่มความคล่องตัวในการจัดเส้นทางการบินเพื่อดึงดูด ผู้โดยสารให้มาใช้บริการของบริษัทฯ มากขึ้น ยกระดับบริการ เพิ่มความพึงพอใจและคุณค่าให้แก่ลูกค้า การบินไทยได้ปรับปรุงบริการซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจและมีทัศนคติที่ดีต่อบริษัทฯ รวมทั้งดึงดูดลูกค้ากลับมาใช้บริการอีก อาทิ การออกแบบเมนูอาหารใหม่ในห้องรับรองสำหรับ ผู้โดยสารชั้นหนึ่งและชั้นธุรกิจที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยในปี 2553 การบินไทยได้รับรางวัล สายการบินยอดเยี่ยมอันดับที่ 1 ด้านห้องรับรองพิเศษสำหรับผู้โดยสารชั้นหนึ่ง และ สายการบินยอดเยี่ยมอันดับที่ 1 ด้านการบริการภาคพื้นที่สนามบินจากสกายแทร็กซ์ การบินไทยยังได้กำหนดเวลาใน การรับกระเป๋าเดินทางของผู้โดยสารให้รวดเร็วขึ้น และเริ่มบริการเช็คอินด้วยตู้ kiosk เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้า นอกจากนั้นแล้วยังได้ปรับปรุงคุณภาพและการนำเสนออาหาร โดยได้เพิ่มความถี่ของ การปรับเปลี่ยนเมนูและได้เชิญเชฟที่มีชื่อเสียงมาร่วมพัฒนาเมนูเพื่อให้มีความโดดเด่นยิ่งขึ้น การตลาดใหม่ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน บริษัทฯ ได้เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันโดยการปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางบินใหม่ ล่าสุดการเปิดให้บริการบินตรงระหว่างกรุงเทพฯ และโจฮันเนสเบิร์กอีกครั้งหนึ่งในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ช่วยให้บริษัทฯ สามารถมีเครือข่ายเส้นทางบินครอบคลุม 5 ทวีป ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารของการบินไทย นอกจากนี้ การเปิดบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-โจฮันเนสเบิร์กยังประสบความสำเร็จมาก โดยในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งที่ผ่านมา การจองที่นั่งในเส้นทางดังกล่าวมีสูงถึงร้อยละ 80 - 90 เพื่อเพิ่ม ประสิทธิภาพในการทำตลาดและเข้าถึงลูกค้าทั่วโลกมากขึ้น บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบออนไลน์หรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะเพิ่มความสะดวกสบายแก่ลูกค้าในการจองบัตรโดยสารและเช็คอินทางอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ร่วมมือด้านการตลาดและเครือข่ายเส้นทางบินกับสายการบินนกแอร์ โดยมีเป้าหมายให้สายการบินนกแอร์เป็นสายการบินหลักในการแข่งขันในตลาดสายการบินต้นทุนต่ำ โดยโอน เส้นทางบินรองภายในประเทศบางเส้นทางซึ่งมีความเหมาะสมสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำที่จะดำเนินการให้นกแอร์ทำการบินแทน และพิจารณาขยายความร่วมมือกับสายการบินนกแอร์ในเส้นทางอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อที่จะส่งเสริมสถานภาพของบริษัทฯ ในฐานะสายการบินที่ให้บริการระดับพรีเมียม การบริหารจัดการองค์กรด้วยระดับมาตรฐานสากล เพิ่มความคล่องตัวและโปร่งใส บริษัทฯ ได้มุ่งเน้นการพัฒนาการบริหารจัดการในองค์กร โดยการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการปฏิบัติงานมากขึ้น บริษัทฯ ได้พัฒนา วัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน โดยกำหนดให้พนักงานทุกระดับ มีเป้าหมายและทิศทางในการปฏิบัติงานไปในแนวเดียวกันทั่วทั้งองค์กร มีการจัดทำหลักเกณฑ์ การประเมินผลการปฏิบัติงาน หรือ KPI ของพนักงานทุกระดับตั้งแต่ระดับกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ลงไป ซึ่งในปัจจุบัน ได้มีการดำเนินการแล้วในระดับกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ลงไปจนถึงระดับผู้อำนวยการ และคาดว่าจะขยายผลให้ครอบคลุมทุกระดับภายในปีนี้ ระบบการบริหารผลการปฏิบัติงานและการประเมินผลที่ชัดเจน การบินไทยมองว่าการดำเนินงานของบริษัทฯ จะมีความคล่องตัวมากขึ้น และจะสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับภาวะตลาดและการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทฯ ได้ลงนามในข้อตกลงสินเชื่อระยะยาวกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยให้การสนับสนุนสินเชื่อระยะยาวจำนวน 8,000 ล้านบาท รวมถึงการแก้ไขสัญญาสินเชื่อเดิมจำนวน 5,000 ล้านบาทที่ได้ให้การสนับสนุนก่อนหน้านี้ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้สถานะทางการเงินและ เพิ่มศักยภาพทางธุรกิจให้กับบริษัทฯ จากการดำเนินการตามกลยุทธ์ต่างๆ ดังกล่าวทำให้การบินไทยมีผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 ที่แข็งแกร่ง โดยมีรายได้ 49,805.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไร 10,744.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ในระดับประมาณ 2.35 เท่า หมายเหตุข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในเอกสารฉบับนี้ไม่ถือเป็นการเสนอขายหรือคำเชื้อเชิญที่จะเสนอซื้อหลักทรัพย์ในประเทศสหรัฐอเมริกา หลักทรัพย์นี้ไม่สามารถเสนอหรือขายในสหรัฐอเมริกาได้หากมิได้มีการจดทะเบียน หรือหากมิได้รับ การยกเว้นจากการจดทะเบียนหลักทรัพย์ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์แห่งสหรัฐฯ ค.ศ. 1933 (U.S. Securities Act of 1933) และที่แก้ไขเพิ่มเติม และตามกฎและข้อบังคับที่ออกภายใต้พระราชบัญญัติดังกล่าว การเสนอขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ในประเทศสหรัฐอเมริกา จะต้องมีการจัดทำหนังสือชี้ชวนโดยบริษัทฯ และจะต้องมีรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท และผู้บริหาร รวมถึงรายงานผลประกอบการทางการเงิน การเผยแพร่ข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในเอกสารฉบับนี้ในเขตใดๆ ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ห้ามแจกจ่ายเอกสารนี้ในประเทศแคนาดา ญี่ปุ่น และ ออสเตรเลีย ข้อมูลต่างๆ ในเอกาสารนี้ไม่ถือเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ในประเทศแคนาดา ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ