กรุงเทพฯ--22 ก.ค.--สถาบันอาหาร
สถาบันอาหาร จับมือ สสว. จัดสัมมนา “โอกาสทองของไทยในอินเดีย” ภายใต้โครงการดำเนินงานตามภารกิจพื้นฐานสำนักงาน ณ เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้เอสเอ็มอีตามยุทธศาสตร์สสว. รับสมัครผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภาคอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ที่มีศักยภาพในการส่งออกเดินทางไปศึกษาตลาดด้วยตนเอง หวังสร้างโอกาสทองให้ เอสเอ็มอีไทยในอินเดีย ที่เศรษฐกิจมีอัตราเติบโตสูงถึงร้อยละ 5.4 ในปี 2552 และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง มีกำลังซื้อสูง ชี้อินเดียมีความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรแปรรูป และอาหารสำเร็จรูป สูงขึ้น ทั้งนิยมรับประทานอาหารนอกบ้าน เริ่มเปิดรับและลิ้มลองอาหารรสชาติแปลกใหม่มากขึ้น คาด เอสเอ็มอีไทยใช้จุดแข็งเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยพร้อมควบคุมราคาให้สามารถแข่งขันได้ ทั้งมั่นใจเป็นโอกาสทองของนักลงทุนธุรกิจร้านอาหารไทยขยายตลาดในอินเดียได้ไม่ยาก
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) กล่าวถึงการจัดสัมมนาเรื่อง “โอกาสทองของไทยในอินเดีย” และการจัดให้มีโครงการจับคู่ธุรกิจ ณ ประเทศอินเดีย โดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) และสถาบันอาหารในครั้งนี้ว่า เป็นหนึ่งในกิจกรรมย่อยสนับสนุนเงินทุนแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Capacity Building Program 2553) ภายใต้โครงการดำเนินงานตามภารกิจพื้นฐานสำนักงาน ณ เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นแนวทางการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมโดยเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย เพื่อมุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เอสเอ็มอี สร้างรายได้และศักยภาพทางเศรษฐกิจในระดับฐานราก ทั้งการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศในภูมิภาค
“สสว.มีแนวทางการขับเคลื่อนเอสเอ็มอี โดยการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยให้บริการที่ปรึกษาเชิงลึกด้านการเพิ่มผลผลิต บริการบ่มเพาะธุรกิจ การพัฒนาทักษะฝีมือ สร้างช่องทางและขยายโอกาสทางการตลาด ขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาปัจจัยที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ อาทิ การเผยแพร่องค์ความรู้โดยการสัมมนา เวิร์คช็อป ส่งเสริมการรวมกลุ่มผู้ประกอบการ เช่น การออกงานแสดงสินค้า กิจกรรมดูงาน กิจกรรมผู้ซื้อพบผู้ขาย เป็นต้น เช่นเดียวกับการให้การสนับสนุนเอสเอ็มอีกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารในครั้งนี้” นายยุทธศักดิ์ กล่าว
นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวถึงสินค้าอาหารไทยส่งออกไปยังประเทศอินเดียระหว่างปี 2550-2552 นั้นมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี แต่มีประเทศคู่แข่งที่สำคัญของไทยในตลาดอินเดียที่ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณา โดยเฉพาะ สิงคโปร์ เพราะเป็นประเทศที่เป็นแหล่งนำเข้าสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนของอินเดีย โดยในปี 2551-2552 อินเดียมีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากสิงคโปร์เฉลี่ยร้อยละ 28.1 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดจากอาเซียน ขณะที่อินเดียนำเข้าสินค้าจากไทยเพียงร้อยละ 10.8 เท่านั้น นอกจากนี้สิงคโปร์ยังเป็น 1 ใน 2 ชาติอาเซียนนอกจากไทยที่มี FTA ทวิภาคีกับอินเดียและมีผลบังคับใช้แล้ว ส่งผลให้สินค้าสิงคโปร์ได้รับสิทธิจาก FTA เช่นเดียวกับสินค้าไทย นอกจากนี้ยังมี กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ประเทศกลุ่มอาเซียนใหม่ที่มีมูลค่าการส่งออกไปยังอินเดียเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมาก
นายอมร กล่าวว่า “จากการที่เศรษฐกิจอินเดียมีอัตราการขยายตัวสูงขึ้นและต่อเนื่องนั้น ทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคระดับกลาง-สูง เริ่มหันมาบริโภคอาหารต่างชาติรวมถึงอาหารไทยมากขึ้น นิยมออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีร้านอาหารไทยในอินเดียอยู่ประมาณ 80 แห่ง อย่างไรก็ตาม ชาวอินเดียยังนิยมรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของเครื่องเทศและรสชาติค่อนข้างจัด และรับประทาน เนื้อไก่ ปลา และแกะ ทั้งกว่าร้อยละ 50 ของประชากรจะบริโภคอาหารมังสวิรัติ และเนื่องจากเทคโนโลยีการเกษตรของอินเดียยังไม่ทันสมัย ประกอบกับยังไม่มีคู่แข่งจากประเทศอื่นเข้าไปทำตลาดมากนัก สินค้าเกษตรแปรรูปจึงเป็นกลุ่มสินค้าที่ค่อนข้างมีโอกาสสูงในการบุกตลาดอินเดีย ทั้งนี้สินค้าไทยที่อินเดียให้ความสนใจ คือ ผลไม้อบแห้ง สับปะรดกระป๋อง ข้าวโพดกระป๋อง ถั่วปรุงรส ขนมไทยสำเร็จรูป และบรรจุภัณฑ์อาหาร สำหรับอาหารสำเร็จรูปซึ่งปัจจุบันมีราคาแพง หากไทยจะขยายตลาดควรเน้นที่คุณภาพ ความปลอดภัย และบริหารต้นทุนให้ราคาสามารถแข่งขันได้”
ด้านนายจักรกฤษณ์ ดวงพัสตรา ผู้อำนวยการสำนักเอเชีย กรมเจราจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงภาพรวมการค้าระหว่างไทยกับอินเดียว่า อินเดียเป็นตลาดส่งออกอันดับ 10 และเป็นตลาดนำเข้าอันดับ 15 ของไทย มูลค่าการค้ารวม 169 พันล้านบาท ในปี 2552 โดยอินเดียนั้นมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก โดยเฉพาะการเติบโตของรายได้ของคนชั้นกลางที่มีรายได้ประมาณ 20,000 — 100,000 เหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งมีไม่น้อยกว่า 100 ล้านคน
สำหรับภาพรวมการลงทุนของไทยในอินเดียนั้น พบว่าไทยเป็นนักลงทุนอันดับที่ 33 มีมูลค่าลงทุนเพียง 44.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่เศรษฐกิจอินเดียมีอัตราขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งด้านการค้า การผลิต การก่อสร้าง การขนส่ง สื่อสาร เหมืองแร่ พลังงาน และบริการ นอกจากนี้ภาครัฐยังมีนโยบายปฏิรูประบบโครงสร้างต่างๆ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค การศึกษา การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ขยายฐานภาษี เปิดเสรีการค้า และส่งเสริมการลงทุน
“สำหรับนักลงทุนไทยที่สนใจเข้าไปทำธุรกิจร้านอาหารไทยในอินเดียนั้น นับเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจ เพราะปัจจุบันพบว่าร้านอาหารไทยในอินเดียมีจำนวนน้อยไม่ถึง 100 ร้าน และส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก มักเปิดบริการในโรงแรมระดับ 4-5 ดาว โดยขณะนี้อาหารไทยเป็นที่นิยมของคนอินเดีย และคนต่างชาติในอินเดียมาก โดยเฉพาะคนชั้นกลางที่เริ่มมีรสนิยมชอบออกไปทานข้าวนอกบ้าน ขณะเดียวกันก็มีการขยายตัวของธุรกิจ ค้าปลีกและการลงทุนสร้างโอกาสอย่างมากกับธุรกิจร้านอาหารไทย โดยเฉพาะเมืองสำคัญ เช่น นิวเดลี มุมไบ กัลกัตตา บังคาลอร์ ที่คนมีกำลังซื้อสูงและมีคนต่างชาติมาทำงานมาก โดยอาหารไทยจานโปรดของผู้บริโภค ในอินเดีย ได้แก่ ผัดไทย แกงเขียวหวาน และต้มยำกุ้ง” นายจักรกฤษณ์ กล่าว
อย่างไรก็ตามปัญหาและอุปสรรคทางการค้าในอินเดียที่สำคัญๆ คือ อินเดียเก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูง และยังมีการเก็บภาษีอื่นๆภายในประเทศ ระบบพิธีการศุลกากรมีความยุ่งยาก ซับซ้อน และล่าช้า สาธารณูปโภคพื้นฐานยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการขนถ่ายสินค้า มีพื้นที่ขนาดใหญ่ การขนส่งสินค้าใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายสูง มีการลอกเลียนแบบสินค้าเกิดขึ้นจำนวนมากและรวดเร็ว
อนึ่ง สถาบันอาหาร เปิดรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ทำธุรกิจผลิตสินค้าในภาคอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ทั้งที่แปรรูปแล้วและยังไม่ได้แปรรูป ซึ่งมีศักยภาพในการส่งออก และมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ โดยมีความต้องการเปิดตลาดการค้าภายในประเทศอินเดีย เพื่อร่วมโครงการจับคู่ธุรกิจ ณ เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ศูนย์กลางการค้า การเงิน และการคมนาคม ระหว่างวันที่ 15-21 สิงหาคม ศกนี้ โดยผู้ประกอบการจะได้พบปะ พูดคุย เจรจาการค้า และสร้างเครือข่ายธุรกิจกับตัวแทนผู้นำเข้าอาหารไปยังประเทศอินเดีย ทั้งสำรวจตลาด และพฤติกรรมการบริโภคของชาวอินเดีย พร้อมชมงานแสดงสินค้า Thailand Trade Exhibition 2010 สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0 2886 8088 ต่อ 5312, 5321, 5322, 5327 โทรสาร 0 2883 5021
รายละเอียดเพิ่มเติม : สุขกมล งามสม E-mail : sukkamon12@yahoo.com