MDP ขานรับนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม ชูแนวทาง “Be part of You, Be part of the future”

ข่าวทั่วไป Thursday March 29, 2007 14:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--สถาบันไทย-เยอรมัน
MDP ขานรับนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม ชูแนวทาง “Be part of You, Be part of the future” ขับเคลื่อนเครือข่ายสู่บูรณาการอุตสาหกรรมแม่พิมพ์อย่างยั่งยืน
สถาบันไทย-เยอรมันระบุ 2 ปีของการดำเนินโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ เสมือนการสร้างเครือข่ายให้เกิดกลไกการพัฒนาในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ย้ำปี 50 ชูนโยบาย “ Be part of You, Be part of the future” เชื่อมโยงเครือข่ายสู่บทบาทการบูรณาการอย่างยั่งยืน เพิ่มความเข้มข้นเชิงลึกต่อพันธกิจ 4 ยุทธศาตร์ เพื่อเพิ่มศักยภาพการเติบโตอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยโดยรวม รศ.ณรงค์ วรงศ์เกรียงไกร ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ กล่าวถึงผลสำเร็จที่ผ่านมาว่า ระยะเวลากว่า 2 ปีของการดำเนินโครงการฯ ถือเป็นจุดเริ่มต้นพัฒนาเครือข่าย ให้มีศักยภาพและความพร้อมรองรับการพัฒนาในอนาคต จนถึงวันนี้ ผลงานต่างๆ ของเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็น องค์ความรู้ มาตรฐานวิชาชีพแม่พิมพ์ การเตรียมความพร้อมหน่วยงานเพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (Excellence Center) ผลงานวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการรวมกลุ่มผู้ประกอบการแม่พิมพ์ กำลังได้รับการถ่ายทอดไปสู่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ตลอดจนผู้ประกอบการ เพื่อนำไปพัฒนาให้เกิดเป็นรูปธรรม และผลักดันให้เกิดระบบบูรณาการที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต“ สำหรับในปี 2550 นี้
กิจกรรมส่วนใหญ่จะเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาแต่จะเน้นความเข้มข้นในเชิงลึกร่วมกับหน่วยงานเครือข่าย เพราะความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการทำงานภายใต้แนวทาง Be part of you, Be part of the future เป็นตัวผลักดันกลไกของการพัฒนาในลักษณะบูรณาการอย่างยั่งยืน โดยโครงการฯ
จะเป็นเสมือนผู้ประสานงานและผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ผ่านกิจกรรมเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษา ซึ่งนับเป็นความท้าทายที่พิสูจน์ถึงความสำเร็จของการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยให้ก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยะประเทศ ”
สำหรับแต่ละยุทธศาสตร์ที่จะดำเนินการต่อเนื่อง ในปี 2550 นั้น ต่างก็มีเป้าหมายและทิศทางการดำเนินที่ชัดเจนดังนี้ ยุทธศาสตร์การพัฒนาบุคลากรและสถานศึกษา จะเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายพัฒนาบุคลากรจำนวน 20 แห่ง และให้การฝึกอบรมทั้งแบบเตรียมเข้าทำงานและแบบยกระดับฝีมือจำนวน 1,070 คน และที่สำคัญที่สุดของแผนงานในปีนี้คือการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับบุคลากรในวิชาชีพแม่พิมพ์ ซึ่งโครงการฯ ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยในการสร้างระบบการรับรองมาตรฐานวิชาชีพแม่พิมพ์ และพัฒนาระบบฐานข้อมูลบุคลากรในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ให้เป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน ผ่านกิจกรรมการจัดทำหลักสูตร และคู่มือการฝึกอบรมระดับ T1 — T5 การจัดทำหลักเกณฑ์การประเมินผล และการจัดทำข้อสอบพร้อมแบบทดสอบเพื่อการประเมินผล โดยจะเนินการเสร็จสิ้นประมาณกลางปี 2550
ทางด้าน ยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยี ก็จะมีการสนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ( Excellent Center ) ด้วยแนวทางการบูรณาการแบบยั่งยืน โดยจะส่งเสริมและผลักดันให้ศูนย์ฯ นี้เป็นกลไกหลักของการดำเนินงานทางด้าน การวิจัยและพัฒนาในเชิงลึก ให้เพิ่มขึ้นอีก 15 เรื่อง พร้อมทั้งการให้คำปรึกษาด้านอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ จำนวน 400 คน-วัน รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยี ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อให้เกิดความรู้ใหม่ต่อผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ยังมีการดำเนินงานในส่วนของการสร้างคู่มือปฎิบัติจำนวน 8 เรื่อง และการยื่นจดสิทธิบัตรผลงานวิจัยเพิ่มขึ้นอีก 2 เรื่อง
สำหรับ ยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ โครงการฯ จะเน้นการสร้างปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงและรวมกลุ่มในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์เพิ่มขึ้น ผ่านกิจกรรมด้านการประชาสัมพันธ์และการตลาด ด้วยการนำกลุ่มพันธมิตรเครือข่ายผู้ประกอบการร่วมงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ พร้อมทั้งเร่งสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่ม Cluster ผู้ประกอบการแม่พิมพ์ที่มีอยู่
นอกจากนี้ยังตั้งเป้าหมายในการพัฒนาต้นแบบโรงงานอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจและเป็นต้นแบบที่ดีให้กับโรงงานอื่นจำนวน 10 รายและในส่วนของยุทธศาสตร์สุดท้าย การพัฒนาสารสนเทศอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ที่จะเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับนโยบาย
และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ได้มาตรฐานอย่างครอบคลุมและทั่วถึง โดยจะเน้นดำเนินการสำรวจข้อมูลผู้ประกอบแม่พิมพ์ของประเทศ เพื่อจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูล เพิ่มขึ้นอีกจำนวน 500 ราย และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ภาคอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ จำนวน 4 เรื่อง พร้อมทั้งจัดระบบดัชนีอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ จำนวน 6 เรื่อง เพื่อให้ฐานข้อมูลมีความทันสมัยและต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลที่ได้ ไปใช้ประโยชน์กับอุตสาหกรรมแม่พิมพ์และอุตสาหรรมที่เกี่ยวข้องได้มากที่สุด
“ นอกจากนั้นในปี 2550 โครงการฯ จะดำเนินการประเมินผลโครงการฯระยะกลาง (Midterm Evaluation) โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภายนอกเข้ามาเก็บรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ประเมินผล เพื่อรับทราบผลการดำเนินงาน และนำผลที่ได้มาปรับปรุงการดำเนินยุทธศาสตร์ต่างๆให้สอดคล้องกับสถานการณ์
และความต้องการของภาคอุตสาหกรรม”
ทางด้าน ดร.ดำริ สุโขธนัง รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวถึงอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยว่า เป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนที่มีความสำคัญยิ่ง ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของภาคการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ ที่มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นทุกขณะ ในขณะที่แต่ละปี ตัวเลขการนำเข้าแม่พิมพ์และชิ้นส่วนมากกว่า 20,000 ล้านบาท โดยในปี 2549
ที่ผ่านมามีมูลค่าการนำเข้าถึง 25,300 ล้านบาท ในขณะที่การส่งออกแม่พิมพ์ของไทยมีตัวเลขเพียง 5,700 ล้านบาท รัฐบาลจึงได้ดำเนินนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมพิมพ์พิมพ์ไทย เพื่อลดตัวเลขการนำเข้า ตลอดจนเพิ่มปริมาณการส่งออกแม่พิมพ์อย่างจริงจังและต่อเนื่องและจากระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ได้เพิ่มศักยภาพและแก้ปัญหาต่างๆ ให้กับภาคการผลิตอุตสาหกรรมของไทย ได้เดินทางมาถึงครึ่งทางของแผนการพัฒนาแล้ว และถือได้ว่า โครงการฯ ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ทั้งในด้านการพัฒนาบุคลากร การพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี การพัฒนาระบบเครือข่ายเพื่อการเชื่อมโยง
รวมทั้งการพัฒนาสารสนเทศอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคตส่วน นายวิโรจน์ ศิริธนาศาสตร์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย ก็ได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของโครงการฯที่ส่งผลต่อสมาคมฯ ว่าโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ นับเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงต่อวงการอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยอย่างแท้จริง
ทั้งนี้จากการดำเนินโครงการฯ ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแม่พิมพ์เข้าร่วมในโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ จำนวนกว่า 500 ราย สมาคมฯ เองก็ได้พยายามสานต่อเจตนารมย์ของโครงการ ที่ต้องการสร้างเครือข่ายให้แข็งแกร่ง และสามารถก้าวไปสู่เวทีการแข่งขันในระดับโลกได้ต่อไป ด้วยการสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ให้กับสมาชิกได้เข้าร่วมอยู่บ่อยครั้ง เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการผลิตและการตลาด และที่สำคัญที่สุด คือ การสร้างเครือข่ายที่มีวิสัยทัศน์ที่เข้มแข็ง และพร้อมที่จะร่วมขับเคลื่อนไปกับภาครัฐด้วยกันต่อไปในอนาคต
นอกจากนั้น จากวิสัยทัศน์ในการดำเนินงานของโครงการฯ โดยเฉพาะในปี 2550 ที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงเครือข่าย ด้วยแนวคิดการทำงานแบบบูรณาการของทุกองค์กรที่เกี่ยวข้อง ก็คาดว่าจะกระตุ้นให้วงการอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยตื่นตัวมากขึ้น เนื่องจากจะเป็นอีกปีหนึ่งที่ผลลัพท์ที่เกิดขึ้น สามารถจับต้องได้อย่างชัดเจน
และเมื่อเกิดผลที่ดีเช่นนี้ ย่อมเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ การสร้างสร้างฐานรากอันแข็งแกร่ง ของวงการอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ สามารถก้าวไปสู่การเติบโตที่แข็งแรงและยั่งยืนในที่สุด
สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลที่เกี่ยวข้อง สามารถติดต่อที่เว็บไซต์ของโครงการ www.thaimould.com หรือที่ สำนักงานบริหารโครงการ อาคารสถาบันไทย — เยอรมัน 700/1 หมู่ 1 นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ถ. บางนา-ตราด กม. 57 ต. คลองตำหรุ อ.เมือง จ. ชลบุรี 20000 โทร 038 215033 -44 ต่อ 1731 — 7

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ