กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--สวทช.
การคิดค้นนวัตกรรม อาจไม่ยากอย่างที่คิด หากรู้จักสังเกตและนำธรรมชาติมาใช้เป็นต้นแบบในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) โดยศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคม ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) นำทัพเยาวชนคนเก่งผู้ที่ได้รับเหรียญรางวัลโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2552 กว่า 100 ชีวิต เข้าร่วมกิจกรรมค่าย “คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์” ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร เพื่อเติมเต็มทักษะกระบวนการคิด การวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ และเปิดโลกทัศน์การเรียนรู้จากธรรมชาติที่อาจสร้างแรงบันดาลใจในการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ให้กับเยาวชน
นางฤทัย จงสฤษดิ์ นักวิชาการศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้นอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมเด็กผู้มีความสามารถพิเศษกลุ่มนี้ ให้มีศักยภาพในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่ลึกซึ้งมากไปกว่าในห้องเรียนแล้ว ในปีนี้ยังเน้นการสอนให้เด็กรู้จักสังเกต สัมผัส และเชื่อมโยงความรู้กับธรรมชาติรอบตัวให้มากขึ้นด้วย
“ภายในค่าย เด็กๆ จะได้รู้จักกับเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ ได้ทดลองต่อวงจรเซ็นเซอร์อย่างง่ายด้วยตนเอง ในกิจกรรม “โลกเซ็นเซอร์มหาสนุกและนวัตกรรมใหม่จากเซ็นเซอร์” เนื่องจากปัจจุบันมีการนำอุปกรณ์เซ็นเซอร์มาใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย อาทิ เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ตรวจวัดสารเคมี ตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ หรือใช้ตรวจสอบสิ่งกีดขวางในการพัฒนาหุ่นยนต์ เป็นต้น จากนั้นสนุกกับการตะลุยแดน “คณิตศาสตร์มหัศจรรย์” เด็กๆ จะต้องแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ที่ไม่ใช่สมการในหนังสือ แต่เป็นการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน เช่น ความสูงของคนเท่ากับความยาวกี่ก้าวของตัวเอง? ถ้าเราเป็นคนขายน้ำเต้าหู้ ลองคิดดูสิว่าเราควรใช้อุปกรณ์อะไร และมีวิธีตักอย่างไรที่จะช่วยให้ตักน้ำเต้าหู้ให้ลูกค้าในปริมาตรที่เท่ากันทุกครั้ง?
นอกจากนี้ เด็กๆ ยังได้เรียนรู้ถึงความสามารถอันทรงประสิทธิภาพของธรรมชาติที่ผ่านกระบวนการวิวัฒนาการอันยาวนาน พบกับตัวอย่างการนำต้นแบบจากธรรมชาติมาสร้างสรรค์เทคโนโลยีประสิทธิภาพสูงในแง่มุมต่างๆ ที่ไม่เพียงทำให้คุณภาพชีวิตของมนุษย์ดีขึ้น แต่ยังคงอยู่กับธรรมชาติได้อย่างดีอีกด้วย เช่น เทคโนโลยีทางด้านการบินที่ได้แรงบันดาลใจมาจากนก ผลงานอาคารประหยัดพลังงาน อีสต์เกตเซ็นเตอร์ ในประเทศซิมบับเว ที่ได้แนวความคิดมาจากจอมปลวก กาวกันน้ำ ผลผลิตจากการศึกษาเส้นใยเหนียวหนึบของหอยแมลงภู่ เป็นต้น พร้อมกันนี้เด็กๆ ยังได้ลงมือปฏิบัติในฐานกิจกรรมต่างๆ เพื่อทดสอบความน่าทึ่งของธรรมชาติอีกด้วย อาทิ ฐานแสงนี้มาจากไหน ร่วมค้นความลับว่าหิ่งห้อยเรืองแสงได้อย่างไร และทดลองประดิษฐ์หิ่งห้อยเรืองแสงด้วยตนเอง ฐานใบไม้มหัศจรรย์ ห้องครัวใหญ่ของโลกถูกย่อส่วนมาในใบไม้ได้อย่างไร ฐานเราจะเดินทางไปด้วยกัน ชวนเด็กๆ มาลองจินตนาการดูซิว่าหากอนาคตต้องไปอยู่ในภูเขาน้ำแข็งอันหนาวเหน็บ สิ่งมีชีวิตจะวิวัฒนาการรูปร่าง หน้าตาเปลี่ยนไปเป็นเช่นไร และปิดท้ายด้วยกิจกรรม สร้างเมืองอนาคต “Future Town by Thai kids” เปิดเวทีแห่งการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ด้วยการให้เด็กๆ ได้ร่วมกันนำความรู้ทั้งหมดมาช่วยกันออกแบบและลงมือสร้างเมืองในฝันจากแป้งโด
ด.ญ.ภัสวาท วัชรกาฬ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีทื่ 6 โรงเรียนเทศบาลวัดมเหยงคญ์ กล่าวว่า จากการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ได้ความรู้ใหม่ๆ มากมาย ได้พบกับความน่าทึ่งของธรรมชาติและความสามารถของมนุษย์ที่สามารถประดิษฐ์สิ่งของใหม่ๆ ที่เหมือนกับสิ่งมีชีวิตสร้างขึ้นมาได้ เช่น ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์สร้างกาวที่ติดหนึบเหมือนเท้าของตุ๊กแกได้แล้ว อีกทั้งยังลอกออกแล้วใช้ใหม่ได้เป็นพันๆ ครั้ง นอกจากติดแน่นแล้วยังใช้ได้นานด้วย อัศจรรย์มาก
“กิจกรรมที่ชอบมาก คือ แสงนี้มาจากไหน ได้รู้ว่าหิ่งห้อยเรืองแสงได้อย่างไร และยังได้ทดลองผสมสารเคมีเพื่อให้ทำปฏิกิริยากัน และเกิดสารเรืองแสงออกมาเช่นเดียวกับหิ่งห้อย สนุกและตื่นเต้นมากค่ะ เพราะได้ทำการทดลองสร้างสารเรืองแสงด้วยตนเอง ไม่เคยได้ทำในห้องเรียน และได้รู้จักสารเคมีใหม่ๆ ซึ่งไม่มีในบทเรียนด้วย”
ด.ญ.พัชราภรณ์ กันทะเสน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีทื่ 6 จากโรงเรียนมารดาอุปถัมภ์ กล่าวว่า “จากการเข้าร่วมค่ายครั้งนี้ทำให้ได้ฝึกทักษะต่างๆ เช่นการสังเกต การจดบันทึก และการทดลองต่างๆ อีกทั้งยังนำความรู้ที่ได้ไปฝึกฝนและประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้ด้วย สำหรับกิจกรรมที่ชอบมากที่สุดคือ สร้างเมืองวิทยาศาสตร์ เพราะได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีมกับเพื่อนๆ รู้จักวิธีการวางแผนสร้างเมือง และได้ใช้จินตนาการอีกด้วย”
ด.ช.ชัชพล ศรีเจริญสุข นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีทื่ 6 โรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์ กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เพราะกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นได้สนับสนุนความชอบทางด้านวิทยาศาสตร์ของตนเอง ส่วนกิจกรรมที่ชอบมากที่สุดคือ กิจกรรมทางด้านคณิตศาสตร์ เพราะรู้สึกสนุกและได้ความรู้มากมาย
“ชอบเกมส์คณิตศาสตร์ เพราะจากเดิมก็เป็นการคิดเลขแบบน่าเบื่อ แต่ครั้งนี้สนุกมาก หลายคำถามไม่ใช่แค่คิด คำนวณ แต่ต้องรู้จักตั้งใจฟังคำถาม และต้องคิดให้รอบคอบ เช่น ถามว่า มีธนบัตรใบละ 10 บาท อยู่สองใบ ถ้าเอาไปซื้อของราคา 8 บาท จะได้รับเงินทอนเท่าไหร่ เพื่อนๆ ส่วนใหญ่จะรีบตอบว่า 12 บาท แต่คำตอบคือ 2 บาท เพราะซื้อของราคา 8 บาท ใช้เงิน 10 บาท ซื้อก็พอ ทำให้นอกจากจะเพลินเพลินแล้วยังเป็นการฝึกทักษะและช่วยลับสมองอีกด้วย”
ขณะที่ ด.ญ.ธนวรรณ อู่ไพบูรณ์ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีทื่ 6 จากโรงเรียนพญาไท กล่าวว่า ประทับกิจกรรมครั้งนี้มาก เพราะนอกจากจะได้รู้จักเทคโนโลยีใหม่ๆ แล้ว ยังได้แรงบันดาลใจใหม่ๆ ที่จะเอาไปใช้ค้นคว้าเพิ่มเติมด้วย
“ชอบกิจกรรมเปิดโลกเซ็นเซอร์มหาสนุกและนวัตกรรมใหม่จากเซ็นเซอร์ เพราะได้ลองประดิษฐ์และต่อวงจรเองกับมือ และยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับการส่งคลื่นเสียงออกไปเพื่อตรวจสอบสิ่งกีดขวางรอบตัว ทำให้เคลื่อนที่ได้โดยไม่ชนกับสิ่งกีดขวาง ซึ่งมีการนำไปมาใช้กับการสร้างหุ่นยนต์ต่างๆ เพื่อให้เคลื่อนที่ได้อัตโนมัติ นอกจากนี้ สิ่งสำคัญเลยคือการได้พบเห็นสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ที่ได้แนวคิดมาจากธรรมชาติ เช่น ในงานโอลิมปิก กรุงปักกิ่งปี 2008 มีการสร้างสนามกีฬารังนกเลียนแบบรังนกจริงๆ ซึ่งนอกจากจะสวยงามแล้ว ยังช่วยให้อากาศเย็นสบาย เพราะระบายอากาศได้ดีอีกด้วย จึงทำให้ได้เราอยากกลับไปลองสังเกต ค้นคว้าเรื่องของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติมากขึ้น เพราะอาจจะได้เจอความลับอะไรบางอย่างที่น่าสนใจบ้าง
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-5647000 ต่อ 1489