ฝ่ายวิจัย TMB คาด กนง.พร้อมลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอัตราเร่ง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งผลดีต่อเสถียรภาพของเงินบาท

ข่าวทั่วไป Monday April 9, 2007 16:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--ธนาคารทหารไทย
จากปัจจัยเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในการประชุมกนง.ติดต่อกัน 2 ครั้งตั้งแต่ต้นปี 50 ที่ผ่านมา ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับลดจากร้อยละ 5.0 มาที่ร้อยละ 4.50 และในการประชุมกนง.ครั้งที่ 3 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 11 เมษายน นี้ ฝ่ายวิจัย ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ประเมินว่ามีโอกาสสูงที่กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอัตราเร่งกว่า 2 ครั้งที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในอัตราร้อยละ 0.50 โดยมีเหตุผลสนับสนุน ดังนี้
การชะลอตัวของเศรษฐกิจชัดเจนขึ้น สะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนก.พ.50 ที่ชะลอลงอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวมากขึ้นเป็นร้อยละ 1.2 และร้อยละ 1.8 ตามลำดับ สอดคล้องกับการลดลงอย่างต่อเนื่องของดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนก.พ. ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 ซึ่งเป็นระดับที่สะท้อนถึงความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่แย่ลง โดยอยู่ที่ 42.9 ต่ำสุดตั้งแต่ม.ค.49 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ที่ 79.0 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 5 ปี นับตั้งแต่เดือนมี.ค. 45 (ต่ำกว่า 100 สะท้อนความเชื่อมั่นที่แย่ลง)
อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมี.ค. 50 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 ชะลอลงจาก 2 เดือนก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.5 และ 3.0 ตามลำดับ และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 1.4 ทำให้ในไตรมาสแรกของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ร้อยละ 2.4 และ 1.4 ตามลำดับ เป็นผลให้ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อลดลง แม้ว่าราคาน้ำมันดิบในขณะนี้ขยับสูงขึ้นจากเดือนมีนาคม โดยเคลื่อนไหวอยู่ที่ 65-69 ดอลลาร์สรอ.ต่อบาร์เรลจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างอิหร่านกับอังกฤษ อย่างไรก็ตามความขัดแย้งดังกล่าวมีแนวโน้มผ่อนคลายลง และเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีจะยังอยู่ในกรอบที่ร้อยละ 2.0-2.5 ตามคาดการณ์
ค่าเงินบาทอยู่ในทิศทางแข็งค่า จากการที่ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงมีแนวโน้มเกินดุล ล่าสุดตัวเลขการส่งออกในเดือนม.ค.50 เติบโตอยู่ในเกณฑ์สูงถึงร้อยละ 17.8 ขณะที่การนำเข้าขยายตัวเพียงร้อยละ 4.0 ทำให้ดุลการค้าเกินดุลในระดับสูงเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.43 ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินบาทซึ่งแข็งค่าอยู่แล้ว และส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกและศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยเดือนมี.ค. 50 ค่าเงินบาทโดยเฉลี่ยแข็งค่าขึ้นจาก 35.7 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ของเดือนก.พ.มาอยู่ที่ระดับ 35.04 หรือแข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.88 และทำสถิติปิดแข็งค่าสุดในรอบ 9 ปีครึ่งที่ระดับ 34.65 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ดังนั้น การใช้นโยบายการเงินในการดูแลค่าเงิน จึงมีความจำเป็นมากขึ้น ทั้งนี้การพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอัตราเร่งขึ้น คาดว่าจะนำไปสู่การลดแรงจูงใจของเงินทุนไหลเข้า และชะลอการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท ซึ่งเป็นผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ
ปัจจัยดังกล่าวข้างต้น คาดว่าจะมีน้ำหนักเพียงพอที่จะสนับสนุนให้ กนง. ดำเนินนโยบายการเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากร้อยละ 4.50 เหลือร้อยละ 4.00 เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศที่ชะลอลงมากและส่งผลดีต่อค่าของเงินบาท
สำหรับ อัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ คาดว่าจะมีทิศทางเดียวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยธนาคารพาณิชย์จะทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ ตามความเหมาะสมและสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง หลังจากที่ได้มีการปรับลดลงไปแล้วในอัตราร้อยละ 0.25-0.75
ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ และประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ วาณิชธนกิจและธุรกิจอื่นๆ เช่น การเป็นตัวแทนจำหน่ายประกัน
ธนาคารมุ่งตอบสนองความต้องการของลูกค้าประเภทต่างๆ ผ่านเครือข่ายสาขารวมทั้งสิ้น 472 สาขา สำนักงานแลกเปลี่ยนเงิน 103 แห่ง เครื่องเอทีเอ็มจำนวน 1,750 เครื่อง รวมทั้งให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่างๆ
ธนาคารทหารไทย เป็นธนาคารที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีสินทรัพย์ 748,676,678,000 บาท (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2549) นับเป็นธนาคารที่มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิเป็นอันดับห้าในระบบธนาคารพาณิชย์ของไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ