กรุงเทพฯ--27 ก.พ.--สยาม พีอาร์ คอนซัลแทนท์
สมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทยและคณะทำงานด้าน เอทานอลฯ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด โรงงานผู้ผลิตเอทานอล ผนึกกำลังเรียกร้องภาครัฐ แก้ปัญหาเอทานอลล้นตลาดกว่า 11 ล้าน ลิตร ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายชะลอการใช้แก๊สโซฮอล์ 95 ของรัฐบาล
นายทัศน์ วณากรกุล ตัวแทนผู้ผลิตเอทานอล 7 โรงงาน กล่าวในงานแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ณ ที่ทำการบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ ว่า ขณะนี้ผู้ผลิตเอทานอลทั้งหมดได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก โดยปัจจุบันมีปริมาณเอทานอลค้างอยู่ในสต๊อกกว่า 11 ล้านลิตร และ มีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกวัน
“การประกาศของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการชะลอการยกเลิกการใช้น้ำมันเบนซิน 95 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด เป็นการกลับลำนโยบายชนิดที่ไม่เห็นใจภาคเอกชนเลย ปัญหาเอทานอลล้นนี้เป็นผลมาจากนโยบายของรัฐที่ผ่านมาที่ได้มีการส่งเสริมให้ภาคเอกชนทำการผลิตเอทานอล เพื่อให้มีบทบาทเป็นพลังงานทดแทนการนำเข้า เดิมรัฐบาลมีการกำหนดแผนงานและกำหนดเวลาที่ชัดเจน ในการยกเลิกการใช้น้ำมันเบนซินทั้งเบนซิน 95 และ เบนซิน 91 โดยกำหนดให้ใช้แก็สโซฮอล์ 95 และแก็สโซฮอล์ 91 เป็นการทดแทน ทำให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอล โดยในปัจจุบันมีโรงงานที่ทำการผลิตแล้วทั้งสิ้น 6 โรงงานด้วยกัน กำลังการผลิตรวมประมาณ 855,000 ลิตรต่อวัน ขณะปัจจุบันที่มีความต้องการเพียง 358,000 ลิตรต่อวันเท่านั้น ก่อให้เกิดกำลังผลิต เอทานอลส่วนเกินประมาณ 500,000 กว่าลิตรต่อวัน ปัจจุบันมีปริมาณเอทานอลค้างสต็อกอยู่จำนวนมาก จนทำให้หลายโรงงานต้องหยุดการผลิต”
นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย กล่าวเสริมว่า จากสภาพการณ์ดังกล่าวข้างต้น สมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย มีความเห็นว่า รัฐบาลจะต้องมีความชัดเจนในการดำเนินนโยบายส่งเสริมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ และต้องดำเนินการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน ก่อนที่ จะเกิดปัญหาบานปลายไปมากกว่านี้ โดยสมาคมฯ มีข้อเรียกร้องดังนี้
ขอให้รัฐบาลประกาศยกเลิกการใช้น้ำมันเบนซินออกเทน 95 และประกาศใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ทดแทนโดยทันที โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2550 เป็นต้นไป
รัฐบาลต้องเร่งกำหนดมาตรการส่งเสริมให้มีการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 อย่างมีประสิทธิภาพและดำเนินการให้รวดเร็วขึ้น ด้วยการสนับสนุนบริษัทน้ำมันให้เพิ่มสถานีบริการน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ให้มีทั่วประเทศภายใน 2551 และกำหนดแผนให้มีความต้องการใช้ให้สอดคล้องกับกำลังผลิตของโรงงานเอทานอลด้วย
รัฐบาลต้องให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ที่เป็นเจ้าของรถยนต์รุ่นเก่าที่ใช้ระบบคาร์บูเรเตอร์ ในการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 หรือ 91 โดยไม่เกิดผลกระทบต่ออะไหล่ อุปกรณ์ และระบบต่างๆ ของเครื่องยนต์
ในขณะเดียวกันโดย คุณธิบดี หาญประเสริฐ์ รองประธานมูลนิธิสถาบันพลังงานทดแทนเอทานอลไบโอดีเซลแห่งประเทศไทยกล่าวว่า สำหรับผู้ใช้รถที่ไม่มั่นใจหรือประสงค์ที่จะใช้น้ำมันที่มีส่วนผสมของเอทานอล 10% มีแนวทางออก 2 ทางคือ 1)สำหรับรถยนต์ที่มีเครื่องที่ต้องใช้เบนซิน 95 ปกติ สามารถทำการปรับตั้งเครื่องยนต์ให้มาใช้น้ำมันเบนซิน91ปกติ ได้ ซึ่งในทางเทคนิคสามารถกระทำได้โดยไม่ยาก และช่างที่มีความรู้ตามศูนย์บริการทั่วไปก็สามารถทำได้ โดยการปรับตั้งไฟและปรับตั้งส่วนผสมของอากาศที่คาร์บูเรเตอร์ ค่าใช้ในการทำน่าจะเป็นแค่หลักร้อยบาทเท่านั้น 2)การให้บริษัทน้ำมันนำหัวเชื้อเพิ่ม อ๊อกเทน ผสมในน้ำมันเบนซิน 91 เพื่อเพิ่มค่าอ๊อกเทน แลมีคุณสมบัติเท่ากับอ๊อกเทน95 โดยการนำมาจำหน่ายเป็นกระป๋องขนาดเล็กให้เหมาะสมกับการเติมในแต่ละครั้ง ซึ่งขนาดบรรจุโดยเฉลี่ยของถังน้ำมันในรถทั่วไปมีปริมาณ 50 ลิตร และเมื่อคำนวณราคาของหัวเชื้อเพิ่มอ๊อกเทนที่เพิ่มขึ้น จะมีราคาไม่ต่างไปจากส่วนต่างของราคาน้ำมันเบนซิน91ปกติ กับเบนซิน95ปกติ วิธีการนี้จะเปรียบเสมือนกับการเติมหัวเชื่อน้ำมันเครื่องโดยทั่วไป ซึ่งทั้ง 2 วิธีนี้จะเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ไม่ประสงค์จะใช้แก๊สโซฮอล์ 95(E10) ซึ่งนับวันก็จะมีปริมาณน้อยลงไปเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากอายุรถ และจากการคาดปริมาณรถเก่าเหล่านนี้น่าที่จะมีปริมาณอยู่ราว 2 แสนกว่าคันเท่านั้นที่จำเป็นต้องใช้น้ำมันเบนซิน 95 ปกติ จากจำนวนรถยนต์ทั้งสิน 4 ล้านคัน
ดร.อุกฤษฏ์ อัษฎาธร ประธานคณะทำงานด้านเอทานอลและพลังงานชีวมวล บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด กล่าวว่าภายในสิ้นปี 2550 คาดว่าจะมีโรงงานเอทานอลที่ได้ลงทุนและดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว รวมกับโรงงานที่เปิดดำเนินการแล้ว รวมทั้งสิ้น 15 แห่ง จะมีอัตรากำลังการผลิตรวมกว่า 2.1 ล้านลิตรต่อวัน นอกจากนี้ยังมีโรงงานที่ขออนุญาตผลิตเอทานอลแต่ยังมิได้เริ่มก่อสร้างอีก 30 โรงงาน กำลังการผลิตรวม 8,870,000 ลิตร/วัน แต่ในขณะนี้มีความต้องการใช้เอทานอลเพียงประมาณ 350,000 ลิตรต่อวันเพราะได้มีการเลื่อนกำหนดการบังคับใช้ออกไป หากมีการประกาศยกเลิกการใช้สาร MTBE ในเบนซิน 95 ก็จะก่อให้เกิดความต้องการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้นเป็น 800,000 ลิตรต่อวันโดยประมาณ ซึ่งยังน้อยกว่ากำลังการผลิตรวมในสิ้นปีนี้อยู่มาก จึงอยากให้รัฐเร่งส่งเสริมการใช้ แก็สโซฮอล์ 91 และเร่งกำหนดการใช้แก็สโซฮอล์ 91 เพื่อทดแทนเบนซิน 91 มาเป็นช่วงต้นปี 2551 นี้ด้วยเพื่อให้สอดคล้องกับกำลังผลิตส่วนเกินจำนวนมากที่จะเกิดขึ้นในสิ้นปีนี้
ดร. อุกฤษฎ์ กล่าวเสริมว่า เดิมรัฐบาลได้มีการผลักดันส่งเสริมให้เร่งก่อสร้างโรงงานเพื่อผลิตเอทานอลเพื่อให้ใช้เป็นพลังงานทดแทน โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยลดการนำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ส่งเสริมรายได้แก่เกษตรกรให้มีความมั่นคง และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศตั้งแต่ระดับรากหญ้า เน้นให้มีการพึ่งพาตนเอง อีกทั้งเอทานอลยังเป็นพลังงานสะอาด ช่วยลดมลภาวะและภาวะเรือนกระจก (Green House Effect) เนื่องจากผลิตจากพืชทางการเกษตร ทดแทนการใช้สารเพิ่มออกเทนในน้ำมันเบนซิน (MBTE) จึงอยากให้รัฐบาลนี้ ได้โปรดพิจารณาถึงปัจจัยดังกล่าว และดำเนินการตามข้อเรียกร้องของสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทยอย่างเร่งด่วน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
บุปผา มนต์ทอง 081-859-0265, อลิสา ทองสดเจริญดี 086-690-6989,
ธนกร นพกิจกำจร 081-870-1021
บริษัท สยาม พีอาร์ คอนซัลแทนท์ จำกัด โทร. 0-2693-7835-8 ต่อ 28-30
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net