ทริสเรทติ้งมองอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือครึ่งหลังปี 2553 เติบโต ส่วน 3 จี ยังไม่ชัดเจน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 27, 2010 15:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.ค.--ทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งมองแนวโน้มอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ครึ่งหลังปี 2553 เติบโตต่อเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยและการเติบโตของบริการเสริม ในขณะที่การประมูลใบอนุญาต 3 จี ยังมีความไม่แน่นอนสูงจากปัญหาเดิมในอดีตและประเด็นการแปรสัญญาสัมปทาน 2 จี เป็นใบอนุญาตใหม่ ทริสเรทติ้งระบุในบทวิจัยเรื่อง “อุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่” (Mobile Phone Industry) ซึ่งเผยแพร่บนเว็บไซต์ของทริสเรทติ้งวันที่ 27 กรกฎาคม 2553 ว่าปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปสู่ยุค 3 จีเป็นประเด็นที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้เป็นเวลาหลายปีมาแล้ว เนื่องจากรัฐบาลพยายามดำเนินการโดยเล็งผลให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ 3 ประการพร้อมกัน คือ การเปิดตลาดเสรีโทรคมนาคม การให้มีการแข่งขันอย่างเท่าเทียม และการป้องกันไม่ให้รัฐเสียผลประโยชน์ โดยทางออกที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้เพียงแค่ครั้งละ 2 ใน 3 ข้อเท่านั้น แม้ว่าร่างประกาศแผนการประมูลใบอนุญาต 3 จีของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จะเป็นการเปิดตลาดโทรคมนาคมให้แก่ผู้ประกอบการรายใหม่ แต่ก็ไม่สามารถป้องกันปัญหาการย้ายฐานลูกค้า 2 จี ในปัจจุบันไปยังโครงข่าย 3 จี ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของรัฐวิสาหกิจได้ เส้นทางสู่การประมูลใบอนุญาต 3 จี ยังต้องพบกับอุปสรรคอีกครั้งเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในแผนการยกเลิกสัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 จีและออกเป็นใบอนุญาต 2 จี ให้แทน โดยที่อัตราค่าธรรมเนียมของใบอนุญาตทั้ง 2 จี และ 3 จีจะถูกปรับให้เท่ากันที่ 12.5% ของรายได้ ปัจจุบัน ผู้ให้บริการเอกชนจ่ายค่าสัมปทานให้แก่รัฐวิสาหกิจที่อัตรา 25%-30% ของรายได้ ในขณะที่คาดว่าใบอนุญาต 3 จี จะมีอัตราค่าธรรมเนียมที่ 6.5% ของรายได้เท่านั้น ข้อเสนอของคณะรัฐมนตรีดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่จะป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการย้ายฐานลูกค้า 2 จี ไปยังโครงข่าย 3 จี ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งระบุว่าข้อเสนอดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอว่าจะสามารถปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมอันเนื่องมาจากประเด็นทางกฎหมายที่ซับซ้อน นอกจากนี้ ยังขาดความชัดเจนในเรื่องการชดเชยให้แก่รัฐวิสาหกิจที่อาจได้รับผลกระทบ ประเด็นสำคัญอื่น ๆ เช่น การคืนคลื่นความถี่ 2 จี และคำจำกัดความของนิติบุคคลต่างด้าวก็ยังอาจเป็นเหตุที่จะทำให้การประมูลใบอนุญาต 3 จีต้องล่าช้าออกไปด้วย ในส่วนของการวิเคราะห์ผลกระทบจากการประมูลใบอนุญาต 3 จีที่จะมีต่ออันดับเครดิตของผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น ทริสเรทติ้งให้ความสำคัญกับความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการภายใต้โครงสร้างธุรกิจใหม่ รวมทั้งประเมินถึงความได้เปรียบหรือเสียเปรียบของโครงสร้างต้นทุนที่เปลี่ยนแปลง และวิเคราะห์ความแข็งแรงของโครงสร้างทางการเงินในปัจจุบันว่าจะสามารถรองรับค่าใช้จ่ายในการชำระค่าใบอนุญาตและลงทุนโครงข่ายในอนาคตได้เพียงใด ทริสเรทติ้งมองว่าอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยเติบโตในระดับค่อนข้างดีมาตั้งแต่ต้นปี 2553 สภาพเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับความนิยมในบริการเสริมรูปแบบต่าง ๆ ที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องน่าจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้เติบโตที่ระดับ 3%-5% นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 การแข่งขันน่าจะรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะการให้บริการเสริม (Non-voice) หากไม่นับรวม 3 จี แล้ว การลงทุนด้านโครงข่ายน่าจะชะลอตัวลงจากในอดีตที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยังคงมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายและกฏระเบียบที่เกี่ยวข้อง และความกังวลเกี่ยวกับภาระหนี้ที่อาจเพิ่มขึ้นได้ภายหลังการประมูลใบอนุญาต 3 จี ปัจจุบัน ลูกค้าในอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ของทริสเรทติ้งมีจำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ที่ “AA/Stable” บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ที่ “A+/Stable” และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ที่ “BBB/Stable”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ