กรุงเทพฯ--27 ก.ค.--สสวท.
นางพรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)แจ้งว่าตามที่ได้คัดเลือกและจัดส่งผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ จำนวน 4 คน ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 19 - 28 กรกฎาคม 2553 โดยมีประเทศเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 68 ประเทศ นักเรียนจำนวน 267 คน ผลปรากฏว่าผู้แทนประเทศไทยสามารถทำได้ 3 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน ดังนี้
นายอลิฟ น้อยคำ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เหรียญทอง
นายเขตภากร ชาครเวท โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เหรียญทอง
นางสาวพิณนรี เตี่ยมังกรพันธุ์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เหรียญทอง
นายจิราบริรักษ์ เจริญภัทรปรีดา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เหรียญเงิน
ประเทศที่ได้คะแนนสูงสุด 3 ลำดับแรกคือ จีน รัสเซีย และเกาหลี โดยปีนี้ผู้แทนประเทศไทยคือนางสาวพิณนรี เตี่ยมังกรพันธุ์ ยังได้รับรางวัลผู้ทำคะแนนสอบภาคทฤษฎีได้เต็มอีกด้วย
สำหรับคณะอาจารย์ร่วมเดินทางประกอบด้วย ผศ.ดร.เอกสิทธิ์ สมสุข จากมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหัวหน้าทีม รศ.ดร.ธรรมรัตน์ อารีย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองหัวหน้าทีม ผศ.ดร.ยงศักดิ์ ศรีธนาอนันต์ และผศ.ดร.อรุณศิริ ชิตางกูร จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ช่วยหัวหน้าทีม อ.สุพรรณี ชาญประเสริฐ สสวท.ผู้จัดการทีม
คณะผู้แทนประเทศไทยเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศจะเดินทางกลับถึงประเทศไทยใน
วันพุธที่ 28 กรกฎาคม 2553 เวลา 21.25 น. เที่ยวบิน TG 677 สสวท.จะจัดพิธีต้อนรับ ณ ชั้น 2
ด้านในประตูที่ 1 สนามบินสุวรรณภูมิ ตามกำหนดดังกล่าว
นายอลิฟ น้อยคำ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม ปีที่แล้วเคยคว้าเหรียญเงินจากการแข่งขันเคมีโอลิมปิกที่ประเทศอังกฤษเผยใจว่าก่อนไปแข่งขันได้เตรียมตัวโดยพยายามอ่านหนังสือ ทำโจทย์ให้มากๆ เพื่อสร้างความพร้อมเต็มที่ ผมชอบเรียนเคมีเนื่องจากชอบทำการทดลองเพราะเป็นสิ่งที่ท้าทาย รวมทั้งยังชอบวิชาชีววิทยาด้วยเพราะพื้นฐานเคมีบางส่วนสามารถนำไปอธิบายปรากฏการณ์หรือกลไกต่างๆ ของชีววิทยาได้ ตามปกติไม่ใช่เด็กเรียนอย่างเดียวหลังเลิกเรียนชอบเล่นบาสเกตบอลกับเพื่อนๆ และอาจเล่มเกมส์บ้างบางครั้ง เพื่อผ่อนคลาย แต่ทั้งนี้จะต้องเป็นเวลาว่างหลังจากอ่านหนังสือเสร็จแล้วเท่านั้น
นายเขตภากร ชาครเวท หรือ “จ๊อบ” มัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เผยว่าการได้เป็นผู้แทนประเทศไทยช่วยเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้โดยเฉพาะวิชาเคมีที่ได้ฝึกทำการทดลองเพราะการเรียนในโรงเรียนมีโอกาสทำการทดลองไม่มากนัก มักเป็นการเรียนในภาคทฤษฎีซึ่งเรารับความรู้อย่างเดียว ส่วนภาค ปฏิบัติเป็นการแสดงความสามารถของเราทำให้รู้ว่าต้องปรับปรุงแก้ไขจุดใดบ้าง การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการช่วยกระตุ้นในกลุ่มเด็กที่สนใจวิทยาศาสตร์อย่างมากโดยเฉพาะเด็กที่มีความสามารถสูงด้านนี้ แต่สำหรับในกลุ่มทั่วๆไปอาจเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัว ดังนั้นจึงควรมีโครงการอื่นๆ มาช่วยกันรองรับด้วย
นางสาวพิณนรี เตี่ยมังกรพันธุ์ หรือ “พินพิน” โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สาวน้อยคนเดียวของทีมซึ่งเคยคว้ารางวัลเหรียญเงินการแข่งขันเคมีโอลิมปิกที่ประเทศอังกฤษเมื่อปีที่แล้ว เห็นว่าโครงการโอลิมปิกวิชาการเปิดโอกาสให้เด็กได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ได้บทเรียนชีวิตรวมทั้งประสบการณ์อันล้ำค่ามากกว่าความรู้ทางวิชาการเสียอีก ด้านการใช้ชีวิตยึดหลักอิทธิบาทสี่ในพระพุทธศาสนา คือมีฉันทะ รักที่จะเรียน วิริยะ มีความพยายาม จิตตะ เอาใจใส่ในการเรียน และ วิมังสา คิดไตร่ตรองพิจารณาเรื่องที่เรียน นอกจากนี้ยังชอบคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษและถนัดเปียโนด้วย
นายจิราบริรักษ์ เจริญภัทรปรีดา หรือ “กอล์ฟ” มัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ได้เป็นผู้แทนประเทศไทยหลังจากทุ่มเทความพยายามมา 3 ปีตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และปีนี้ก็ทำได้สำเร็จ กอล์ฟชอบวิชาเคมีที่สุดเพราะเรียนสนุก เวลาทำโจทย์เคมีข้อไหนที่ยากก็ยิ่งรู้สึกท้าทาย แต่ที่ชอบมากกว่าคือได้ทำการทดลองเพราะการเรียนวิทยาศาสตร์ที่ดีต้องลงมือปฏิบัติจริงทำให้เข้าใจทั้งทฤษฎีและ
ปฏิบัติ นอกจากนี้ยังช่วยสอนวิชาเคมีให้รุ่นน้องที่โรงเรียนด้วย เทคนิคเรียนดีคือตั้งใจเรียนในห้องให้มากที่สุดและถามอาจารย์ถ้าสงสัย ปกติจะไม่อ่านหนังสือจนดึกดื่นเที่ยงคืนเพราะเกินกำลังร่างกาย อนาคตตั้งใจอยากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ทำงานที่ใจรักและได้ถ่ายทอดความรู้ให้คนรุ่นใหม่