กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--อมตะ คอร์ปอเรชัน
"อมตะ" มึนวางเป้าขายพื้นที่ปี 50 ไม่ได้ เหตุนักลงทุนชะลอการลงทุน หลังมาตรการแบงก์ชาติกันสำรองเงินทุนนำเข้า 30% พ่วง พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าวพ่นพิษ วอนรัฐบาลเร่งเคลียร์ ก่อนนักลงทุนตีจากเข้าประเทศเพื่อนบ้าน
นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการ และ รองประธานอาวุโส บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทยังไม่สามารถประเมินเป้าหมายการขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง ในปี 2550 ได้ เนื่องจากได้รับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนระหว่างที่เดินทางไปโรดโชว์ในต่างประเทศหลายแห่ง โดยนักลงทุนส่วนใหญ่ตัดสินใจที่จะชะลอการลงทุนในประเทศไทยออกไปก่อนจนกว่านโยบายรัฐบาลจะมีความชัดเจน
ทั้งนี้นักลงทุนต่างประเทศส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจถึงรายละเอียดของมาตรการกันสำรองเงินทุนนำเข้า 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และการแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว โดยนักลงทุนมองว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และเห็นว่ารัฐบาลควรมีการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว เพื่อดึงดูดการลงทุนเข้าประเทศให้มากขึ้น
"มาตรการดังกล่าวมีผลทางจิตวิทยาต่อนักลงทุนจำนวนมาก ซึ่งไม่ค่อยเข้าใจในรายละเอียดและเงื่อนไขที่ออกมา ดังนั้นจึงเห็นว่ารัฐบาลควรเร่งทำความเข้าใจในมาตรการที่ออกมาในครั้งนี้ โดยเฉพาะ ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงพาณิชย์ที่ดูแลเรื่องดังกล่าวโดยตรง เนื่องจากขณะนี้ต้องยอมรับว่าเกิดคำถามจากนักลงทุนเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าว ซึ่งภาคเอกชนไทยไม่สามารถชี้แจงได้ทั้งหมด" นายวิบูลย์กล่าว
ส่วนสถานการณ์การลงทุนในนิคมอมตะขณะนี้ ล่าสุด มีนักลงทุนต่างประเทศที่เป็นลูกค้าระหว่างเจรจาจะซื้อที่ดินกับอมตะ ได้ตัดสินใจยกเลิกแผนการเจรจา และสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศอื่นแทน ภายหลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะใช้มาตรการกันสำรองเงินทุนนำเข้า 30% และการแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เนื่องจากไม่เชื่อมั่นในนโยบายที่ยังไม่สามารถอธิบายหรือทำให้เกิดความชัดเจนต่อนักลงทุน
ทั้งนี้ ภาวะการลงทุนจากต่างประเทศนักลงทุนเริ่มมีการชะลอตัดสินใจเข้ามาลงทุนหรือขยายการลงทุนในไทย ตั้งแต่ช่วงปี 2549 เนื่องจาก ผลกระทบความไม่ชัดเจนทางการเมือง เหตุการณ์ความไม่สงบต่างๆ และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยยอดขายพื้นที่ ในปี 2549 ทั้งนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร และอมตะซิตี้ ปรับตัวลดลงเหลือเพียง 545 ไร่ หรือลดลงกว่า 60% เมื่อเทียบกับปี 2548 ที่มียอดขายพื้นที่อยู่ที่ 1,479 ไร่
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
มุก โทร. 038 213007, 081 734 3654