นโยบายการช่วยเหลือลูกค้าชั้นดี และลูกค้า NPL ของธนาคาร

ข่าวทั่วไป Friday March 2, 2007 08:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นโยบายการช่วยเหลือลูกค้าชั้นดี และลูกค้า NPL ของธนาคาร ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)
1. นโยบายการช่วยเหลือด้านการตลาดลูกค้าชั้นดี และลูกค้า NPL
จัดทำโครงการ Market Place ช่วยลูกค้าขายของ
ธพว.ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะด้านการตลาด ได้แบ่งพื้นที่ให้ลูกค้าออกบูธขายของทุกๆงานที่ธพว.เข้าร่วม และในปี 2549 ธพว.ได้ริเริ่มจัดโครงการ Market Place หรือสถานที่จำหน่ายสินค้าให้กับลูกค้า เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้แก่ลูกค้าชั้นดีและลูกค้า NPL รวมทั้งเป็นการสร้างประสบการณ์เรียนรู้ทางการตลาดและประชาสัมพันธ์ให้สินค้าเป็นที่รู้จักของตลาดมากขึ้น โดยที่ลูกค้าไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น และจะดำเนินการจัดอย่างต่อเนื่องในปี 2550
โครงการ Market Place เดินหน้าอย่างต่อเนื่องได้รับทั้งการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการและการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี ที่ผ่านมาธพว.ได้นำลูกค้าเดินสายขายของในงาน “มหกรรมสินค้า ลูกค้า SME BANK” ไปตามสถานที่ต่างๆ อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง และกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ปตท. อยุธยาปาร์ค จังหวัดอยุธยา ศูนย์การค้าเมโทรมอล์ล ฯลฯ โดยเฉลี่ยมีลูกค้าของธพว.เข้าร่วมออกบูธแห่งละ 20-30 ราย
ล่าสุด ธนาคารได้ใช้พื้นที่สำนักงานใหญ่ SME BANK TOWER ชั้นใต้ดิน เป็นพื้นที่จัดงานมหกรรมสินค้าลูกค้าธนาคาร SME Market Place อย่างถาวร (จัดงานเดือนละครั้ง) โดยเชิญชวนลูกค้าธนาคารมาจำหน่ายสินค้า และเมื่อวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ 2550 ที่ผ่านมา ได้เปิดตลาดเป็นครั้งแรก มีลูกค้าธนาคารนำสินค้าลูกค้ากว่า 40 รายมาจำหน่ายในราคาพิเศษ และเป็นสินค้าที่มองหาตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังจะจัดกิจกรรมเสริมเพื่อผู้ประกอบการ อาทิ ห้องสมุด SMEs มุมออกแบบบรรจุภัณฑ์ มุมบริการลูกค้า เป็นต้น
และการจัดมหกรรมตลาดนัดเคลื่อนที่ (Market Place) โดยจะติดต่อประสานงานกับหน่วยงาน ราชการและเอกชนต่างๆ เพื่อหาสถานที่ที่เหมาะสมแล้วสัญจรไปเรื่อยๆ ตามกระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม , กระทรวงการคลัง, ปตท. โดยจะเน้นสถานที่ที่มีกำลังซื้อสินค้าในกลุ่มดังกล่าว
จัดทำแค็ตตาล็อครวบรวมสินค้าจากลูกค้า www.smebank.co.th ”
ธพว.จัดทำแค็ตตาล็อครวบรวมสินค้าจากลูกค้าธพว.ในนาม “ www.smebank.co.th ” รวมจำนวน 2 เล่ม เพื่อรวบรวมสินค้าและบริการของลูกค้า SME BANK เพื่อช่วยเพิ่มช่องทางจัดทำหน่าย สินค้าและบริการให้แก่ลูกค้าธนาคาร ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้ เป็นความช่วยเหลือต่อเนื่องทางด้านการตลาด หลังจากได้นำลูกค้าออกร้านจำหน่ายสินค้ายังสถานที่ต่าง ๆ หลายแห่งในโครงการ Market Place
โดยเล่มแรก จัดทำเมือเดือนตุลาคม 2549 จัดพิมพ์สี่สีทั้งเล่ม แค็ตตาล็อค www.smebank.co.th ได้รวบรวมสินค้าและบริการที่ดี มีคุณภาพกว่า 600 รายการ จากลูกค้าของธนาคารประมาณ 300 ราย มาจัดพิมพ์เป็นแค็ตตาล็อคสี่สี สีสันสวยสด งดงาม มีภาพสินค้าประกอบพร้อมที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ติดต่อสั่งซื้อโดยตรงกับเจ้าของสินค้าโดยไม่ต้องผ่านคนกลางความหนากว่า 100 หน้า กระจายแจกจ่ายกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการจัดพิมพ์หนังสือครั้งนี้ ธนาคารเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ ส่วนสินค้าและบริการในหนังสือ www.smebank.co.th ได้แบ่งออกเป็น 7 หมวดหมู่ ประกอบด้วย 1. ของขวัญ ของตกแต่งและของใช้ในบ้าน 2. เสื้อผ้าและเครื่องประดับ 3. อาหารและเครื่องดื่ม 4. ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ 5. ผลิตภัณฑ์อื่นๆ 6. โรงแรม 7. ร้านอาหาร
ส่วนแค็ตตาล็อค www.smebank.co.th เล่มที่ สอง เป็นการนำเสนอกระเช้าของขวัญของที่ระลึกที่เป็นผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ SMEs ไทย ซึ่งเป็นลูกค้าของธพว. โดยผลิตภัณฑ์ที่ธพว.รวบรวมจัดพิมพ์เป็นแค็ตตาล็อกฉบับพิเศษนี้ เป็นสินค้าที่มีคุณภาพดีรวมกว่า 100 กระเช้าของขวัญของที่ระลึก พิมพ์สี่สี ความหนา 26 หน้า พร้อมระบุชื่อเจ้าของสินค้า เบอร์โทร และราคากระเช้าสินค้า เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดเพิ่มขึ้นให้แก่ลูกค้าในช่วงต้อนรับเทศกาลปีใหม่ 2550 ที่ผ่านมา
โดยธพว.แจกจ่ายให้กับหน่วยงานราชการ หน่วยงานพันธมิตร สถาบันและองค์กรต่าง ๆ ที่ช่วยอุดหนุนสั่งซื้อ ซึ่งทุกรายการที่สั่งซื้อถือว่าได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยอย่างแท้จริง จึงจะดำเนินการจัดทำอย่างต่อเนื่องในปี 2550 โดยหากท่านใดมีความสนใจหนังสือ www.smebank.co.th เพื่อสั่งซื้อสินค้าสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1357
การช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการลูกค้า
ธพว.ได้เน้นช่วยประชาสัมพันธ์ลูกค้าทั้งสินค้าบริการและผลิตภัณฑ์ อันเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ลูกค้าและสินค้าเป็นที่รู้จัก สามารถเพิ่มยอดขายสินค้าให้แก่ลูกค้าได้ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของธพว.อีกแนวทางหนึ่งด้วย โดยดำเนินโครงการ
- โครงการ Press Visit โดยเชิญสื่อมวลชนร่วมเดินทางไปเยี่ยมชมกิจการลูกค้าธพว. เพื่อให้สื่อมวลชนช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงและบริการของลูกค้า ผ่านสื่อมวลชนทุกแขนงทั้ง โทรทัศน์ นสพ. วิทยุ
- นำลูกค้าเป็นข่าวเผยแพร่ โดยเชิญสื่อสัมภาษณ์ลูกค้าแล้วนำเขียนข่าวส่งเผยแพร่แก่สื่อมวลชน และติดต่อให้ลูกค้าได้ออกสื่อตามสื่อเป้าหมายที่ลูกค้าต้องการ
- นำลูกค้าออกสื่อต่างๆที่ธนาคารให้การสนับสนุน เช่น สื่อโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร เป็นต้น
การจัดสัมมนา เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด
ธพว.ได้จัดสัมมนาให้แก่ลูกค้าของธนาคาร เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าและบริการในช่องทางการตลาดรูปแบบใหม่หรือเพื่อเปิดตลาดใหม่ อาทิ การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเปิดหน้าร้านบนเว็ปไซต์ สัมมนาออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ สัมมนาเจาะตลาดการค้าประเทศจีน สัมมนาเจาะตลาดการค้ากลุ่มประเทศตะวันออกลาง เป็นต้น
2. นโยบายการช่วยเหลือด้านการพัฒนาองค์ความรู้
การช่วยเหลือและพัฒนาผู้ประกอบการ (บริการวินิจฉัยสถานประกอบการ)
ธพว.มีแนวนโยบายที่จะให้นำบริการวินิจฉัยสถานประกอบการเข้ามาให้บริการแก่ลูกค้าของธนาคาร ผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของธพว. โดยมอบหมายให้นักวินิจฉัยสถานประกอบการของธนาคารเข้าให้บริการวินิจฉัยกิจการอย่างละเอียด เพื่อตรวจสอบศักยภาพ ความสามารถในการแข่งขัน พร้อมให้บริการปรึกษาแนะนำในเบื้องต้น
ซึ่งธพว.ได้ให้บริการวินิจฉัยสถานประกอบการแก่ผู้ประกอบการ ในพื้นที่ภูมิภาคต่างๆไปแล้ว ซึ่งผู้ประกอบการมีความพึงพอใจในบริการที่ได้รับเป็นอย่างมาก โดยมีผลการประเมินความพึงพอใจในบริการวินิจฉัย และนักวินิจฉัยของธนาคารเฉลี่ยร้อยละ 80
การช่วยเหลือและพัฒนาผู้ประกอบการ โครงการ “เสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่”
หลักสูตร “ทายาทธุรกิจ”
ธพว. ได้รับมอบหมายจัดอบรมหลักสูตรในโครงการ “เสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่” (NEC) จากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำเนินการจัดอบรมหลักสูตร “ทายาทธุรกิจ” ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นทายาทธุรกิจ เพื่อให้มีความพร้อมในการสืบทอดกิจการต่อไปในฐานะผู้ประกอบการใหม่ ให้ได้รับความรู้ ความเข้าใจในแผนกลยุทธ์การบริหารจัดการธุรกิจที่ทันสมัย และสามารถจัดทำแผนธุรกิจได้ และให้เกิดการจัดตั้งธุรกิจใหม่ หรือขยายธุรกิจเดิมตลอดจนมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น อันจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมต่อไป
การช่วยเหลือและพัฒนาผู้ประกอบการ โครงการ “ยกระดับผู้ประกอบการ”
โครงการยกระดับผู้ประกอบการ มีวัตถุประสงค์ เพื่อมุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพในการบริหารจัดการธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการSMEs ไทย ให้สามารถบริหารจัดการธุรกิจให้เติบโตแข็งแกร่งและอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนเหนือคู่แข่งได้ในที่สุด ภายใต้ KPI จำนวนลูกค้าที่ได้รับการพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจ จำนวน 4,000 ราย ร่วมกับกลุ่มพัฒนาธุรกิจ (ศูนย์ธุรกิจประจำจังหวัดทั่วประเทศ)
โดยในปี 2549 ธพว.ได้จัดทำและพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมขึ้นจำนวน 11 หลักสูตร เพื่อใช้ในการจัดอบรมผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มลูกค้าสินเชื่อธนาคาร ผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรฟูมฟักผู้ประกอบการในโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน และผู้ผ่านการอบรมในหลักสูตร “ทายาทธุรกิจ” ของธนาคารในโครงการ NEC
โครงการปั้นทีมวินิจฉัย SMEs ร่วมกับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
ธพว. ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ภายใต้นโยบายการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ SMEs โดยการจัดทำ “โครงการปั้นทีมวินิจฉัย SMEs” เนื่องจากเล็งเห็นว่า การวินิจฉัยสถานประกอบการนับเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการประเมินและวิเคราะห์สภาพที่แท้จริงของการบริหารจัดการในภาพรวมและชี้แนะถึงจุดเด่นและจุดด้อยของกิจการ รวมทั้งวิเคราะห์ปัญหา สาเหตุของปัญหาและเสนอแนะแนวทางแก้ไข เพื่อเสริมสร้างให้ผู้ประกอบการสามารถพึ่งพาตนเองได้ อีกทั้งยังเป็นการวางแผนการบริหารจัดการของ SMEs ให้ทันยุคสมัย มีความเหมาะสมและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น การนำเอาระบบวินิจฉัยไปเชื่อมโยงกับระบบอื่น ๆ ได้แก่ ระบบการให้คำปรึกษาแนะนำ ระบบวิเคราะห์ความเสี่ยงทางการลงทุน และระบบการวิเคราะห์ประกอบการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินนั้น จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับกิจการ SMEs ลดความเสี่ยงให้แก่สถาบันการเงิน ส่งผลถึงการสร้างระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศให้แข็งแกร่ง อันจะเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความสามารถทางการแข่งขันของประเทศต่อไป
ธพว.ได้เล็งเห็นความสำคัญของการวินิจฉัยสถานประกอบการ จึงได้มีแผนการอบรมพนักงานของธพว.ให้มีทักษะการวินิจฉัยสถานประกอบการ ควบคู่ไปกับการพิจารณาสินเชื่อ โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และในปี 2550 มีแผนงานโครงการที่จะดำเนินการอย่างเข้มข้น โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้
1. การพัฒนาทักษะนักวินิจฉัยระดับต้น-กลาง ให้แก่พนักงานธพว. ทั้งที่ศูนย์ธุรกิจ และสำนักงานใหญ่ : ทั้งนี้เพื่อเพิ่มทักษะการวินิจฉัยควบคู่ไปกับการวิเคราะห์สินเชื่อ ซึ่งสามารถช่วยเหลือ SMEs ควบคู่ไปกับการลดความเสี่ยงให้แก่สถาบันการเงิน
2. การเพิ่มทักษะการพิจารณากลั่นกรองสินเชื่อให้แก่ นักวินิจฉัยวิชาชีพทั่วไป : เพื่อพัฒนานักวินิจฉัยที่มีอยู่แล้วทั่วไป ให้มีทักษะในการพิจารณากลั่นกรองเงื่อนไขสินเชื่อเบื้องต้น ทั้งด้านคุณสมบัติผู้กู้ หลักประกัน และจัดเตรียมแผนธุรกิจ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อลดระยะเวลาในการพิจารณาสินเชื่อ ให้แก่ SMEs ที่ต้องการขอสินเชื่อ
3. การพัฒนาทักษะนักวินิจฉัยระดับ วิชาชีพ ให้แก่พนักงานธพว. : เพื่อพัฒนาความสามารถของเจ้าหน้าที่ของธพว.ในด้านการวินิจฉัยเชิงลึก ซึ่งจะส่งผลให้เจ้าหน้าที่ของธพว.สามารถให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการ SMEs ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และถ่ายทอดทักษะการวินิจฉัยสถานประกอบการเชิงลึกให้แก่เจ้าหน้าที่ของธพว.ในฝ่ายงานต่างๆต่อไป
ซึ่งขณะนี้ ธพว. อยู่ระหว่างดำเนินการ พัฒนาหลักสูตร ทั้ง 3 หลักสูตร ร่วมกับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และกำหนดแผนการอบรม ทั้งในพื้นที่ต่างจังหวัด และสำนักงานใหญ่ ในปี 2550
การจัดสัมมนา เพื่อเจาะธุรกิจลูกค้า SMEs กลุ่มเป้าหมาย
ธพว.ได้จัดสัมมนาให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าสู่แหล่งเงินทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการจัดสัมมนาเจาะกลุ่มรายธุรกิจ อาทิ สัมมนาธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง สินเชื่อ Factoring ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ