ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ “บ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล” ที่ระดับ “A/Stable”

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 28, 2010 07:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--ทริสเรทติ้ง บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความหลากหลายของธุรกิจที่มีแบรนด์สินค้าและบริการเป็นที่ยอมรับซึ่งช่วยเสริมให้บริษัทมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งทั้งในธุรกิจโรงแรม ธุรกิจอาหารบริการด่วน และธุรกิจค้าปลีกและรับจ้างผลิตสินค้า รวมถึงการมีคณะผู้บริหารที่มีความสามารถ การเติบโตของธุรกิจโรงแรมและการบริหารโรงแรมในต่างประเทศ และโอกาสในการขยายธุรกิจอาหารบริการด่วนผ่านแฟรนไชส์ทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม จุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากปัจจัยหลากหลายที่กระทบในทางลบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งจากลักษณะของธุรกิจโรงแรมที่ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและถูกกระทบจากปัจจัยภายนอกได้ง่าย ตลอดจนลักษณะการแข่งขันที่รุนแรงและอัตรากำไรที่ต่ำของธุรกิจอาหารบริการด่วนและธุรกิจค้าปลีก ถึงแม้ว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อและความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้จะส่งผลกระทบในทางลบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและทำลายความเชื่อมั่นของผู้บริโภค แต่ก็คาดว่าบริษัทจะยังคงมีผลการดำเนินงานในระดับดีในปีนี้ ในขณะเดียวกันภาระหนี้ของบริษัทก็คาดว่าจะสูงขึ้นเพื่อใช้ในการก่อสร้างโรงแรมใหม่ ทั้งนี้ หากบริษัทมีการลงทุนใดใดที่เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากโครงการในปัจจุบันซึ่งทำให้บริษัทต้องเพิ่มภาระหนี้สินอย่างมีนัยสำคัญก็อาจจะส่งผลกระทบในทางลบต่ออันดับเครดิต แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาความแข็งแกร่งของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเอาไว้ได้ ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนในการดำเนินธุรกิจ ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะดำรงสภาพคล่องให้เพียงพอต่อการดำเนินงานและลงทุนในโครงการปัจจุบันด้วยกระแสเงินสดบางส่วน ทั้งนี้ การเพิ่มภาระหนี้สินในสภาวะการดำเนินงานที่อ่อนตัวลงอาจส่งผลให้สถานภาพเครดิตโดยรวมของบริษัทมีความเสี่ยงมากขึ้น ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนลก่อตั้งโดย Mr. William Ellwood Heinecke ในปี 2521 เพื่อดำเนินธุรกิจโรงแรมในประเทศไทย โดยตระกูล Heinecke เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน 28% ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาบริษัทประสบความสำเร็จในการขยายกิจการโรงแรมอย่างต่อเนื่อง จนถือได้ว่าเป็นผู้ประกอบการที่มีโรงแรมกระจายตัวมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยจำนวนทั้งหมด 30 แห่ง ด้วยห้องพักรวมกว่า 3,500 ห้อง และตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และสถานที่ท่องเที่ยวชั้นนำทั้งในประเทศไทย อินโดนีเซีย มัลดีฟส์ ศรีลังกา แทนซาเนีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเวียดนาม โรงแรมเหล่านี้บริหารและดำเนินงานภายใต้เครือโรงแรมที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก เช่น Mariott และ Four Seasons และภายใต้เครือโรงแรมของบริษัทเองคือ Anantara, Elewana และ Naladhu ธุรกิจอาหารบริการด่วนของกลุ่มไมเนอร์ดำเนินการภายใต้การบริหารงานของบริษัทในเครือคือ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (MFG) ซึ่งก่อตั้งในปี 2523 และเป็นผู้ให้บริการธุรกิจอาหารบริการด่วนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย MFG เป็นเจ้าของและผู้ประกอบการอาหารบริการด่วนแบบแฟรนไชส์ของต่างประเทศมากถึง 4 แบรนด์ ได้แก่ “สเวนเซ่นส์” “ซิซซ์เล่อร์” “แดรี่ ควีน” และ “เบอร์เกอร์ คิง” รวมทั้ง “เดอะ พิซซ่า คอมปะนี” “เดอะค็อฟฟีคลับ” และ “ไทยเอ็กเพรส” ซึ่งเป็นแบรนด์สินค้าของบริษัทเอง โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2553 MFG มีร้านอาหารเปิดให้บริการรวม 689 แห่ง ตลอดจนร้านแฟรนไชส์และแฟรนไชส์ย่อยอีกประมาณ 428 แห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในช่วงกลางปี 2552 บริษัทได้ปรับโครงสร้างธุรกิจและรวมกิจการของ บริษัท ไมเนอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (MINOR) ซึ่งประกอบด้วย แฟชั่น เครื่องสำอาง และโรงงานรับจ้างผลิตเข้ามาอยู่ภายใต้เครือของบริษัทโดยมีแบรนด์สินค้าที่สำคัญ อาทิ Gap, Esprit, Bossini, Red Earth และ Bloom ในปี 2552 บริษัทมีรายได้รวม 16,460 ล้านบาท โดยเติบโตจากปีก่อน 4% ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของรายได้จากธุรกิจอาหารบริการด่วนจำนวน 13% และจากการรวมธุรกิจค้าปลีกและรับจ้างผลิตสินค้าเข้ามา โดยในปี 2552 ผลกระทบจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองทำให้รายได้จากธุรกิจโรงแรมและสปาของบริษัทลดลง 19% จากปีก่อน อัตราการเข้าพักรวมของโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของลดลงจาก 65% ในปี 2551 เหลือ 56% ในปี 2552 อีกทั้งอัตราค่าห้องพักต่อคืนและรายได้ต่อห้องพักก็ลดลง 10% และ 23% ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนถึงการลดลงของอุปสงค์ในธุรกิจท่องเที่ยวของไทยอันสืบเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาและการเมืองภายในประเทศที่ไม่มีเสถียรภาพซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว ส่วนธุรกิจอาหารบริการด่วนซึ่งนอกจากบริษัทจะให้ความสำคัญกับการขยายกิจการโดยการเปิดสาขาและให้แฟรนไชส์แล้วนั้น บริษัทยังซื้อกิจการของแบรนด์อื่นเพิ่มด้วย เช่น การลงทุนในกิจการ “เดอะค็อฟฟีคลับ” ในปี 2550 และ “ไทยเอ็กเพรส” ในปี 2551 จำนวนร้านอาหารของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 676 สาขาในปี 2550 เป็น 1,043 สาขาในปี 2551 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลงทุนในเดอะค็อฟฟีคลับ และเพิ่มต่อเนื่องเป็น 1,112 สาขาในปี 2552 สำหรับความสามารถในการทำกำไรนั้น แม้ธุรกิจโรงแรมจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายลดลง 27% แต่ก็ยังคงเป็นธุรกิจที่ทำกำไรสูงสุดของกลุ่มโดยมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายคิดเป็น 44%ของทั้งหมดในปี 2552 ตามด้วยธุรกิจอาหารบริการด่วนที่ 39% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2553 บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 24% จากปีก่อน โดยอยู่ที่ 5,114 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการรวมรายได้จากธุรกิจค้าปลีกและรับจ้างผลิตสินค้าเข้ามา ตลอดจนการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมและสปา ทั้งนี้ รายได้จากธุรกิจค้าปลีกและรับจ้างผลิตสินค้าอยู่ที่ 695 ล้านบาท คิดเป็น 14% ของรายได้รวม โดยในกลุ่มธุรกิจนี้มีรายได้หลักมาจากการรับจ้างผลิตสินค้าและสินค้าแฟชั่นอย่างละ 43% สำหรับรายได้จากธุรกิจโรงแรมและสปาเพิ่มขึ้น 17% อยู่ที่ 1,678 ล้านบาท โดย 77 ล้านบาท หรือ 4.5% เป็นรายได้จากการรับจ้างบริหารโรงแรม ทั้งนี้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากอัตราการเข้าพักรวมที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่อัตราค่าห้องพักต่อคืนลดลงเล็กน้อย โดยอัตราการเข้าพักรวมของโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 71% ในไตรมาสแรกของปี 2553 เปรียบเทียบกับ 61%ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ เป็นผลจากการที่อัตราการเข้าพักของโรงแรมเจดับบลิว แมริออท ภูเก็ต อนันตราภูเก็ต และโฟร์ซีซั่นส์ กรุงเทพฯ ปรับตัวดีขึ้นอย่างมากหลังจากอัตราการเข้าพักลดลงอย่างมากจากผลกระทบของการปิดสนามบินในช่วงปลายปี 2551 อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งทางการเมืองที่นำไปสู่ความรุนแรงในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการบริการในประเทศ โดยโรงแรมของบริษัทที่อยู่ในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ได้รับผลกระทบมากที่สุด อัตราการเข้าพักรวมของโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 ลดลงมาอยู่ที่ 62% อย่างไรก็ตาม ยังถือว่าเป็นอัตราที่สูงกว่าระดับ 52% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนธุรกิจอาหารบริการด่วนนั้นมีรายได้เติบโต 2% อยู่ที่ 2,599 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่องจนทำให้มีลูกค้ามากขึ้น ธุรกิจอาหารบริการด่วนไม่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมืองมากนักซึ่งแตกต่างจากธุรกิจโรงแรมและสปาเนื่องจากบริษัทมีร้านอาหารกระจายทั่วประเทศ ทริสเรทติ้งกล่าวถึงความสามารถในการทำกำไรว่า บริษัทมีอัตราส่วนกำไรก่อนค่าเสื่อมราคาและตัดจำหน่ายอยู่ที่ 20.73% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 ไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนทั้งๆ ที่อัตรากำไรจากธุรกิจโรงแรมและอาหารปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการรวมธุรกิจค้าปลีกและรับจ้างผลิตที่มีอัตรากำไรต่ำเข้ามา เงินทุนจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นอย่างมากมาอยู่ที่ 1,004 ล้านบาท ส่งผลให้สภาพคล่องของบริษัทอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมการท่องที่ยวจะยังคงได้รับผลกระทบในทางลบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่ผ่านมา ทริสเรทติ้งยังคงคาดหวังว่าผลประกอบการของบริษัทในปี 2553 จะอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2553 ภาระหนี้หลังปรับปรุง (ซึ่งรวมถึงสัญญาเช่าดำเนินงานและภาระผูกพันที่มีต่อบริษัทที่เกี่ยวข้อง) ของบริษัทอยู่ที่ 13,098 ล้านบาท อัตราส่วนหนี้สินหลังปรับปรุงต่อทุนอยู่ที่ 50.68% ลดลงจาก 52.16% ณ เดือนธันวาคม 2552 ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่งจากแผนการลงทุนของบริษัท ทั้งนี้ บริษัทอยู่ในระหว่างการก่อสร้างโรงแรมใหม่ 2 แห่งและมีแผนขยายธุรกิจอาหารบริการด่วนและค้าปลีก โดยค่าใช้จ่ายในการลงทุน (ไม่นับรวมการซื้อกิจการ) ในระหว่างปี 2553-2554 คาดว่าจะอยู่ที่ 7,000 ล้านบาท ทริสเรทติ้งกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ