กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--สปสช.
สปสช.ร่วมอภิปรายกับสมาคมโรคไตฯ เดินหน้าพัฒนาคุณภาพของศูนย์บริการการล้างไตทางช่องท้องทั่วประเทศใน 4 มิติ คือ สถานบริการ การควบคุมคุณภาพ การส่งเสริมความรู้ต่อเนื่อง และกิจกรรมส่งเสริมคุณภาพ พร้อมระดมความคิดกำหนดเป็นแนวทางหลักสำหรับการปฏิบัติงานของแพทย์และพยาบาลล้างไตทางช่องท้องทั่วประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพการบริการศูนย์ล้างไตทางช่องท้องให้ดียิ่งขึ้นและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ชี้มีผู้ป่วยกว่า 7,000 ราย ได้รับการรักษาด้วยวิธีการล้างไตทางช่องท้องซึ่งนับเป็นวิธีที่สะดวก ปลอดภัย เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและระบบสาธารณสุขของไทยในปัจจุบัน
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดงานเสวนาโต๊ะกลม “Thailand PD Round Table Discussion: From Quantity to Quality” ซึ่งสปสช. ร่วมกับ สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และบริษัทแบ็กซ์เตอร์ เฮลธ์แคร์ (ประเทศไทย)จำกัด จัดขึ้นเพื่อระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการให้บริการล้างไตทางช่องท้อง โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไตจากศูนย์ล้างไตทางช่องท้องของโรงพยาบาลต่างๆ กว่า 20 แห่งทั่วประเทศเข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมพูลแมน คิงพาวเวอร์ กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า การจัดงานเสวนาขึ้นในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การพัฒนาและยกระดับการบริการศูนย์ล้างไตทางช่องท้อง จากปริมาณไปสู่คุณภาพให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่เข้ามารับบริการล้างไตทางช่องท้องที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยนับตั้งแต่สปสช.เริ่มประกาศใช้นโยบายให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังทุกคนได้เข้าถึงการบำบัดทดแทนไต ด้วยการล้างไตทางช่องท้องเป็นอันดับแรก และให้ผู้ป่วยสามารถเบิกค่ารักษาได้เต็มจำนวนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่เข้ารับการรักษาด้วยวิธีการล้างไตทางช่องท้องมากกว่า 7,188 ราย เพราะเป็นวิธีที่สะดวก ปลอดภัย เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและระบบสาธารณสุขของไทยในปัจจุบันที่ขาดแคลนบุคคลากรด้านการแพทย์ เนื่องจากวิธีการล้างไตทางช่องท้องนี้ ผู้ป่วยสามารถทำได้เองที่บ้าน ทำให้ประหยัดค่าเดินทางและค่ารักษาทางการแพทย์
รศ.นพ.เกรียงศักดิ์ วารีแสงทิพย์ กรรมการและเลขาธิการ สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันพบจำนวนผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังในวัยทำงานมากขึ้น ดังนั้น การบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีการล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเองที่บ้าน (Peritoneal Dialysis) จึงเป็นวิธีที่สะดวกที่สุดสำหรับผู้ป่วย
เนื่องจากผู้ป่วยสามารถมีอิสระในการดำรงชีวิตประจำวันและสามารถประกอบอาชีพได้อย่างคนปกติ เพราะวิธีนี้ผู้ป่วยและญาติไม่ต้องเสียเงินเสียเวลาเดินทางไปพบแพทย์ตลอดเวลา ซึ่งแตกต่างกับวิธีการฟอกเลือดที่ผู้ป่วยต้องเสียเวลาไปโรงพยาบาลเป็นประจำทุกสัปดาห์ ๆ ละ 2-3 ครั้ง ทำให้ต้องขาดงานหรือไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างคนปกติทั่วไป
“ในต่างประเทศประสบความเร็จมากกับการรักษาด้วยวิธีการล้างไตทางช่องท้อง” ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง สำหรับในประเทศไทยเราถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่ยังต้องพัฒนาด้านคุณภาพและทำให้ได้มาตรฐานเดียวกัน ซึ่งทางสมาคมโรคไตฯ จะนำข้อสรุปจากการประชุมร่วมกับสปสช.ครั้งนี้ไปกำหนดเป็นแนวทางหลัก สำหรับการปฏิบัติงานของแพทย์และพยาบาลล้างไตทางช่องท้อง และพัฒนาคุณภาพการให้บริการของศูนย์บริการการล้างไตทางช่องให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ”
นอกจากนี้ สมาคมโรคไตฯ ยังได้ร่วมกับสปสช. และ บริษัท แบ็กซ์เตอร์ เฮลแคร์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดตั้งการประกวด “รางวัลการพัฒนาคุณภาพของศูนย์บริการการล้างไตทางช่องท้องดีเยี่ยมประจำปี 2553” หรือ “Thailand Nephrology Society Award 2010 for the Best Center of Continuous Quality Improvement in PD” เพื่อค้นหาศูนย์บริการการล้างไตทางช่องท้องดีเยี่ยม 5 ศูนย์ โดยตัดสินจากมาตรฐานและการพัฒนาใน 4 มิติแบบครบวงจร คือ สถานบริการ การควบคุมคุณภาพ การส่งเสริมความรู้ต่อเนื่อง และกิจกรรมส่งเสริมคุณภาพ เพื่อเป็นแรงกระตุ้นและเป็นกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในหน่วยงาน โดยเฉพาะในสถานพยาบาลที่เพิ่งเปิดดำเนินงาน ในการดูแลรักษาผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง การจัดประกวดรางวัลดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาด้านคุณภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพการบริการของศูนย์ล้างไตทางช่องท้องให้ดียิ่งขึ้นและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดี มีคุณภาพอย่างทั่วถึง