คณะกรรมการกำกับตลาดทุนในการประชุมครั้งที่ 6/2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 28, 2010 09:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--ก.ล.ต. คณะกรรมการกำกับตลาดทุนในการประชุมครั้งที่ 6/2553 ประจำเดือนกรกฎาคม 2553 มีมติกำหนดหลักเกณฑ์การจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมทองคำ ปรับปรุงหลักเกณฑ์การตั้งตัวแทนขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน และปรับปรุงการลงทุนของกองทุนรวมตลาดเงิน ดังนี้ 1. หลักเกณฑ์การจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมทองคำ ก.ล.ต. กำหนดหลักเกณฑ์รองรับการจัดตั้งและการจัดการกองทุนรวมทองคำ (gold fund) โดยอนุญาตให้กองทุนรวมดังกล่าวสามารถลงทุนในทองคำแท่งได้โดยตรงหรือทางอ้อม จากเดิมที่ต้องลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนรวมทองคำต่างประเทศหรือลงทุนในตราสารที่จ่ายผลตอบแทนโดยอ้างอิงกับราคาทองคำเท่านั้น โดยสามารถจัดตั้งได้ 3 รูปแบบ ได้แก่ (1) กองทุนรวมทองคำแบบทั่วไป (simple gold fund) ซึ่งเน้นลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนอ้างอิงโดยตรงกับราคาทองคำแท่ง โดยลงทุนโดยตรงในทองคำแท่งหรือลงทุนทางอ้อมผ่านตราสารการเงิน (2) กองทุนรวมอีทีเอฟทองคำ (gold ETF) เป็นกองทุน ETF ที่เน้นลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนอ้างอิงโดยตรงกับราคาทองคำแท่ง โดยลงทุนโดยตรงในทองคำแท่งหรือลงทุนในหน่วยลงทุน ของ gold ETF และ (3) กองทุนรวมทองคำแบบซับซ้อน ซึ่งเน้นลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่อ้างอิงกับราคาทองคำแท่งภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด เช่น กำหนดเงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทนแบบมีกำหนดขั้นสูงและต่ำ หรือจ่ายผลตอบแทนในทิศทางตรงข้ามกับราคาทองคำแท่ง โดย gold fund รูปแบบนี้ต้องเปิดเผยเงื่อนไขและความเสี่ยงให้ชัดเจน ทั้งนี้ ทองคำแท่งที่ gold fund ลงทุนได้ต้องมีคุณภาพได้มาตรฐานและเป็นชนิดที่มีราคาเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางและเปิดเผยทั่วไป สำหรับผู้ดูแลผลประโยชน์ของ gold fund จะต้องมีระบบงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเก็บรักษาทองคำแท่งที่ปลอดภัย และเนื่องจากทองคำแท่งเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง จึงกำหนดให้มีการเปิดเผยเรื่องการทำประกันภัยทองคำแท่งที่ gold fund ลงทุน และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อกองทุนในกรณีที่ไม่ได้ทำประกันภัยหรือทำประกันภัยในวงเงินคุ้มครองที่ไม่ครอบคลุมมูลค่า 2. หลักเกณฑ์การตั้งตัวแทนขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟทองคำ ตามที่ ก.ล.ต. ได้ส่งเสริมให้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในตลาดทุน อันได้แก่ กองทุนรวมทองคำ ซึ่งรวมถึงกองทุนรวมอีทีเอฟทองคำ และเพื่อสนับสนุนให้ผู้ค้าทองเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาธุรกิจนี้ ก.ล.ต. จึงได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่จำกัดเฉพาะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เกี่ยวกับทองคำ (gold futures broker) ซึ่งเป็นผู้ค้าทองอยู่เดิม สามารถขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนายหน้า ค้าและจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน (Limited Broker Dealer Underwriter: LBDU) ได้นั้น ในครั้งนี้ ก.ล.ต. ได้แก้ไขหลักเกณฑ์ให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) และสถาบันการเงินที่มีใบอนุญาต LBDU สามารถตั้งผู้ประกอบธุรกิจค้าทองที่เป็นสมาชิกชมรมผู้ค้าปลีกทองคำแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทน (selling agent) ที่เป็นนิติบุคคลสำหรับขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟทองคำได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ค้าทองสามารถทำธุรกิจเป็นตัวแทนขายหน่วยลงทุนได้อีกรูปแบบหนึ่ง เพิ่มช่องทางให้แก่ผู้ลงทุนในการเข้าถึงบริการและสามารถซื้อขายได้สะดวกขึ้นด้วย ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติของตัวแทนนิติบุคคล และระบบงานของ บล. บลจ. และ LBDU ในการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของตัวแทนรวมทั้งการดำเนินการเมื่อเกิดข้อโต้แย้งหรือข้อร้องเรียนของลูกค้า เป็นต้น นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังได้กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมให้ผู้ค้าทองที่มีใบอนุญาต LBDU และเป็นสมาชิกสมทบของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสามารถส่งคำสั่งซื้อขาย gold ETF ไปที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่าน บล. โดยต้องมีระบบงานรองรับการส่งคำสั่งซื้อขาย gold ETF ไปที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เดียวกับนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ด้วย เช่น การกำหนดวงเงิน การส่งคำสั่ง และการวางหลักประกันการซื้อขายหลักทรัพย์ การดูแลและเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้า และการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เป็นต้น 3. หลักเกณฑ์การลงทุนของกองทุนรวมตลาดเงิน ก.ล.ต. แก้ไขหลักเกณฑ์การลงทุนของกองทุนรวมตลาดเงินเพื่อให้มีระดับความเสี่ยงและสภาพคล่องที่สอดคล้องกับความคาดหวังของผู้ลงทุนและเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยกำหนดให้กองทุนรวมตลาดเงินต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องสูงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิตลอดอายุของกอง พอร์ตการลงทุนจะต้องมีอายุเฉลี่ยกองไม่เกิน 3 เดือนจากเดิมที่ไม่กำหนด รวมทั้งต้องลงทุนเฉพาะในตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระยะสั้น 2 อันดับแรกขึ้นไปและระยะยาว 3 อันดับแรกขึ้นไปเท่านั้น เว้นแต่เป็นตราสารหนี้ภาครัฐไทย เป็นต้น นอกจากนี้ ได้แบ่งกองทุนรวมตลาดเงินเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่ลงทุนเฉพาะในประเทศ ซึ่งจัดเป็นกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดและมีสภาพคล่องสูง และประเภทที่มีการลงทุนในต่างประเทศบางส่วน โดยลงทุนในต่างประเทศได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) และต้องป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนไว้เต็มจำนวน อย่างไรก็ดี กองทุนรวมนี้ยังมีความเสี่ยงด้านข้อจำกัดจากการนำเงินลงทุนกลับประเทศ (repatriation risk) และความเสี่ยงจากการลงทุนในต่างประเทศ (country and political risk) พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ได้กำหนดให้เฉพาะกองทุนรวมตลาดเงินประเภทที่ลงทุนเฉพาะในประเทศเท่านั้นที่สามารถแสดงผลตอบแทนเทียบเคียงกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากได้ และห้ามกองทุนรวมประเภทอื่น เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีนโยบายรับซื้อคืนหน่วยลงทุนทุกวันทำการ (“กองตราสารหนี้ daily”) เปรียบเทียบผลตอบแทนกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ทั้งนี้ ก.ล.ต. ขอย้ำว่าการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมไม่ใช่การฝากเงินกับธนาคารแต่อย่างใด นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. และประธานคณะกรรมการกำกับตลาดทุน กล่าวว่า “การออกและแก้ไขหลักเกณฑ์ให้มี gold fund และการตั้งตัวแทนขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมดังกล่าวเป็นการส่งเสริมให้มีผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเป็นทางเลือกของผู้ลงทุนในตลาดทุน และเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ค้าทองได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาธุรกิจนี้ สำหรับการแก้ไขหลักเกณฑ์กองทุนรวมตลาดเงินนั้น เนื่องจากในระยะที่ผ่านมาผู้ลงทุนมีความเข้าใจ คลาดเคลื่อนว่า การลงทุนในกองตราสารหนี้ daily มีความเสี่ยงในระดับเดียวกับกองทุนรวมตลาดเงิน ทั้ง ๆ ที่กองตราสารหนี้ daily สามารถลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความซับซ้อน มีอายุยาว หรือมีความเสี่ยงสูงได้ ก.ล.ต. จึงได้ปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลของกองทุนรวมทั้งสองประเภทนี้ให้ชัดเจนขึ้น สำหรับหลักเกณฑ์ การลงทุนของกองทุนรวมตลาดเงินเองก็ควรมีการปรับปรุงให้รัดกุมยิ่งขึ้น เพื่อจำกัดความเสี่ยงด้านราคา ด้านเครดิต และด้านสภาพคล่อง โดยการปรับปรุงในครั้งนี้ถือเป็นก้าวแรกซึ่งจะมีการปรับปรุงอีกใน 2 ปีข้างหน้า เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ดังนั้น บลจ. จึงควรเตรียมพร้อมให้กองทุนรวมตลาดเงินมีการกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงในเรื่องการขาดสภาพคล่องเพื่อให้สอดคล้องกับความคาดหวังของผู้ลงทุนที่เลือกลงทุนในกองทุนรวมประเภทนี้”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ