กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--สถาบันอาหาร
สถาบันอาหาร ประกาศความพร้อมสนองตอบต่อระบบแจ้งเตือนภัยเร่งด่วนด้านความปลอดภัยอาหาร และอาหารสัตว์ (ARASFF) ของ มกอช. อาสาร่วมยกระดับความปลอดภัยในอาหาร สร้างความเชื่อมั่นในระดับสากล จากความพร้อมของสถาบันอาหาร ด้านห้องปฏิบัติการตรวจสอบสินค้า นักวิจัย นักวิชาการ เชื่อ ARASFF เป็นเครื่องมือในการสร้างความมั่นคง โดยเฉพาะความมั่นคงด้านอาหารในอาเซียน เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เช่นเดียวกันกับสหภาพยุโรป เพื่อประโยชน์ต่อการนำเข้าสินค้าของผู้ประกอบการ
นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า จากความสำเร็จในการควบคุมดูแลความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อาหารของกลุ่มสหภาพยุโรป นำไปสู่ความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของอาหารที่ผู้บริโภคชาวยุโรปได้รับ จากการดำเนินงานของระบบการสื่อสารความเสี่ยงในอาหารอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดบนระบบแจ้งเตือนภัยเร่งด่วนด้านความปลอดภัยอาหารและอาหารสัตว์ (Rapid Alert System for Food and Feed : RASFF) โดยที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เล็งเห็นถึงประโยชน์ของระบบดังกล่าว จึงได้เริ่มพัฒนาระบบแจ้งเตือนด้านความปลอดภัยอาหารและอาหารสัตว์ของอาเซียนขึ้น (ASEAN Rapid Alert System for Food and Feed : ARASFF) โดยการสนับสนุนของสหภาพยุโรป รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและประสบการณ์ในการพัฒนาระบบแก่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
“การบังคับใช้เขตการค้าเสรีระหว่างสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ AFTA ซึ่งมีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2553 ส่งผลให้เกิดการกระจายสินค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารระหว่างกลุ่มอาเซียนทั้งภายในอาเซียน ด้วยกันเอง การส่งสินค้าอาหารออกจากกลุ่มอาเซียน ตลอดจนการนำเข้าสินค้าเข้าสู่กลุ่มอาเซียน ซึ่งล้วนแต่ส่งผลต่อความปลอดภัยและมั่นคงของอาหารภายในอาเซียน จึงนับว่า ARASFF จะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเสริมสร้างความมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านอาหารของอาเซียน จนนำไปสู่ความเป็นสมาคมประชาชาติ ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากลเช่นเดียวกันกับสหภาพยุโรป ซึ่งจากการติดตามข่าวสารการเปลี่ยนแปลงอันจะเกิดขึ้นจากอาเซียน หรือ AFTA แล้ว ผู้ประกอบการควรปรับปรุง พัฒนากระบวนการผลิตสินค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับสินค้าจนก่อให้เกิดการแจ้งกักกันสินค้าทั้งโดยสมาชิกอาเซียน หรือคู่ค้าต่างๆ ของไทย ทั้งนี้ สินค้าที่เข้าข่ายการแจ้งเตือนด้วยระบบ ARASFF อาทิ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, น้ำดื่มบรรจุขวด, ปลาและผลิตภัณฑ์, สัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์, ผักและผมไม้,นมและผลิตภัณฑ์นม,อาหารพร้อมบริโภค,ผลิตภัณฑ์อาหารพิเศษสำหรับการควบคุมอาหาร อาหารสำหรับเด็ก อาหารเสริม และอาหารเสริมคุณค่าทางโภชนาการ เป็นต้น” นายอมร กล่าว
สำหรับสถาบันอาหารแม้ว่าจะยังไม่ได้รับมอบหมายให้มีส่วนร่วมในงานนี้ แต่ด้วยความพร้อมของห้องปฏิบัติการตรวจสอบ ซึ่งบริหารงานตามระบบคุณภาพ ISO/IEC 17025 และขีดความสามารถในการรองรับงานทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารทางด้านเคมี จุลชีววิทยา กายภาพ รวมทั้งอาหารที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบที่ได้มาจากการตัดต่อทางพันธุกรรม (GMO) สารเร่งการเจริญเติบโตยาฆ่าแมลง และสารตกค้างต่างๆ โดยที่ผ่านมา สถาบันอาหารได้ให้ความร่วมมือแก่ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ ของรัฐและเอกชนในการเพิ่มขีดความสามารถการทดสอบผลิตภัณฑ์อาหาร รวมถึงให้คำแนะนำและช่วยเหลือทางด้านเทคนิคเพื่อยืนยันผลกรณีเกิดปัญหาการกักกันสินค้าอาหารไทยจากต่างประเทศ ทำให้สถาบันอาหารมีความพร้อมอย่างมาก เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ ARASFF ในส่วนงานตรวจสอบสินค้าเพื่อให้การปล่อยสินค้าเข้าสู่ประเทศเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสูงสุดนอกจากบริการห้องปฏิบัติการตรวจสอบสินค้า สถาบันอาหารยังมีนักวิจัย นักวิชาการเพื่อติดตามกฎระเบียบทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งพร้อมจะแนะนำและให้คำปรึกษาในการปฏิบัติตามกฎระเบียบการนำเข้าไปอย่างถูกต้อง เพื่อประโยชน์ต่อการนำเข้าสินค้าของผู้ประกอบการ