ก.พลังงาน กำหนดวันที่ 1 พ.ค. — 15 มิ.ย. 50 เปิดให้ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก สนใจซื้อเอกสารเชิญชวนการยื่นข้อเสนอขอรับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า

ข่าวทั่วไป Wednesday May 2, 2007 09:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--ก.พลังงาน
ก.พลังงาน กำหนดวันที่ 1 พ.ค. — 15 มิ.ย. 50 เปิดให้ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน สนใจซื้อเอกสารเชิญชวนการยื่นข้อเสนอขอรับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มสูงสุดไม่เกิน 30 สตางค์ต่อหน่วย กำหนดยื่นซองภายใน 1 ส.ค. 50 ตั้งเป้าหมายรับซื้อทั้งหมด 300 เมกะวัตต์
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. — 15 มิ.ย. 50 สนพ. จะเปิดให้ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนสามารถซื้อเอกสารการยื่นข้อเสนอขอรับเงินส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยรัฐกำหนดแนวทางการจูงใจให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า ในอัตราคงที่เป็นระยะเวลา 7 ปี คิดเป็นเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่เกิน 300 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ แนวทางการพิจารณา กระทรวงพลังงานจะใช้วิธีประมูลคัดเลือกจากผู้ที่ขอส่วนเพิ่มอัตราต่ำสุดก่อนแต่สูงสุดไม่เกิน 30 สตางค์ต่อหน่วย โดยจะเปิดให้ผู้สนใจซื้อเอกสารเชิญชวนได้ที่ชั้น 5 ส่วนไฟฟ้า สนพ. ก่อนเตรียมความพร้อมและยื่นเอกสารเข้ามาภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2550 หลังจากนั้นรัฐจะใช้เวลาพิจารณาข้อเสนอประมาณ 2 เดือน เพื่อประกาศผู้ได้รับเงินส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า โดยคาดว่าจะมีผู้สนใจเสนอขอรับส่วนเพิ่มจำนวนมาก
สำหรับผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดผ่านเว็บไซต์ของ สนพ. www.eppo.go.th ได้ และในวันที่ 14 พ.ค.50 สนพ. ยังกำหนดให้มีการจัดสัมมนาเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจนโยบายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และระเบียบ SPP ใหม่ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตไฟฟ้าที่สนใจเข้าร่วมการสัมมนาและสอบถามรายละเอียดได้เพิ่มเติม
“เป็นเวลา 15 ปี นับตั้งแต่ปี 2535 ที่ภาครัฐให้การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ถึงวันนี้มีผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน ขายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วจำนวน 52 ราย คิดเป็นปริมาณพลังไฟฟ้าประมาณ 500 เมกะวัตต์ และมีผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (VSPP) ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน ขายไฟฟ้าเข้าระบบ 23 ราย คิดเป็นปริมาณปริมาณพลังไฟฟ้าประมาณ 13 เมกะวัตต์ ปี 2550 จึงเป็นอีก 1 ปี ที่ภาครัฐเดินหน้านโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนผลิตไฟฟ้าอย่างจริงจัง เพราะเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยลดการใช้พลังงานจากต่างประเทศ และยังเป็นการกระจายความมั่นคงด้านไฟฟ้าไปสู่ชุมชนยิ่งขึ้น” นายวีระพลกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ