นพ.วรรณรัตน์” เผยการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 28 ทุกประเทศให้ความสำคัญการพัฒนาพลังงานควบคู่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อม เดินหน้าการพัฒนาสู่สังคมสีเขียว

ข่าวทั่วไป Thursday July 29, 2010 13:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--ก.พลังงาน “นพ.วรรณรัตน์” เผยการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 28 ทุกประเทศให้ความสำคัญการพัฒนาพลังงานควบคู่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อม เดินหน้าการพัฒนาสู่สังคมสีเขียว (Low Carbon — Green Growth) และสร้างความแข็งแกร่งให้ภูมิภาคขณะที่ในวันพรุ่งนี้ (30 ก.ค.53) พน. จะเดินทางไปร่วมลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซจากแหล่ง M9 ระหว่างไทย-สหภาพพม่า นับว่าเป็นความสำเร็จระดับภูมิภาค ตอกย้ำการขยายโครงข่ายท่อก๊าซในอาเซียนให้ยิ่งใหญ่มากขึ้น รวมทั้งสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในอาเซียน และของไทย วันนี้ (29 กรกฎา 2553) นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังการเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีด้านพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 28 (The ASEAN Ministers on Energy Meeting) AMEM ณ เมืองดาลัด ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 21-23 กรกาคม ที่ผ่านมา มีผู้นำและผู้แทนจากชาติต่างๆ รวม 18 ประเทศเข้าร่วม ประกอบด้วย กลุ่มประเทศจากชาติอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน ลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า กลุ่มประเทศอาเซียน+3 ได้แก่ จีน กาหลี ญี่ปุ่น กลุ่มประเทศอาเซียน+6 ได้แก่ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และผู้แทนจากประเทศ รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ภายใต้หัวข้อการประชุมหลัก “พลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” นายแพทย์วรรณรัตน์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้เน้นการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยืนยันพันธสัญญาที่จะสนับสนุนการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้กรอบความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน และอาเซียน+3 และเอเชียตะวันออก ด้วยการส่งเสริมการพัฒนา การลงทุน การเติบโตของเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พัฒนาสังคมภูมิภาคการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงคาร์บอน และการเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม (low carbon — green growth) นอกจากนี้ ยังมีมติยืนยันพันธสัญญาต่อความร่วมมือด้านพลังงานเพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน ย้ำความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน (ASEAN Plan of Action on Energy Cooperation -APAEC) ในปี 2553 — 2558 โดยเฉพาะการขยายโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid) ที่ประชุมได้เห็นชอบต่อแผนแม่บทการเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้าอาเซียน ระยะที่ 2 ที่นำเสนอโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และเน้นย้ำความจำเป็นที่จะต้องเร่งพัฒนาโครงการเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้าอาเซียนให้เกิดขึ้น กำหนดแผนปฏิบัติเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว นอกจากนี้การเพิ่มระดับความร่วมมือของภูมิภาคในการเสริมสร้างความร่วมมือ 5 ด้าน ได้แก่ การสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ด้านตลาดน้ำมัน การเก็บสำรองน้ำมัน(Oil Stockpiling Road Map : OSRM)/ก๊าซธรรมชาติ การส่งเสริมพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียน และการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ในส่วนการขยายขอบเขตความร่วมมือกับรัสเซียและสหรัฐอเมริกา และ ADB ได้หาทางพัฒนาความร่วมมือกับรัสเซีย ในด้านขีดความสามารถ การพัฒนาทรัพยากรพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียน โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน การใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ และการสำรวจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงแผนงานความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน-สหรัฐอเมริกา มีข้อตกลงที่จะจัดกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านมาตรฐานและฉลากประสิทธิภาพพลังงาน ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2553 และการดำเนินกิจกรรมด้านความมั่นคงด้านพลังงานและพลังงานสะอาด นายแพทย์วรรณรัตน์ กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการประกวดผลงานด้านพลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงานระดับภูมิภาคอาเซียน หรือ“ASEAN Energy Awards 2010” ปรากฎว่าตัวแทนผู้เข้าประกวดจากประเทศไทย สามารถคว้ารางวัลมาครองได้ถึง 11 รางวัล และเป็นรางวัลระดับชนะเลิศถึง 7 รางวัล และระดับรองชนะเลิศ 4 รางวัล ซึ่งประเทศไทยถือว่าได้รับรางวัลมากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน นับเป็นการประกาศถึงความสำเร็จของประเทศไทย ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกิจการพลังงาน ทั้งจากกระบวนการผลิตและการใช้ และส่งเสริมการลดภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2553 (พรุ่งนี้) นับว่าเป็นข่าวดีของประเทศไทย และความสำเร็จในการบุกเบิกแหล่งพลังงานต่างแดน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ เพราะจะมีลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ในแปลง M9 หรือโครงการ Zawtika ของสหภาพพม่า ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ซื้อ กับ ผู้ขาย ได้แก่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และ Myanma Oil and Gas Enterprise (MOGE) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติสหภาพพม่า โดยตนจะร่วมเดินทางไปเป็นประธานในพิธีครั้งนี้ร่วมกับ ฯพณฯ อู ลุน ทิ (U Lun Thi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สหภาพพม่า นายแพทย์วรรณรัตน์ กล่าวว่า ความสำคัญของแหล่ง M9 มีปริมาณก๊าซสำรองพิสูจน์แล้วขั้นต้น 1.4 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต สามารถใช้ในประเทศไทยได้อย่างน้อยอีก 30 ปี ซึ่งปริมาณการซื้อขายตามสัญญา (DCQ) 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เริ่มผลิตปี 2556 จะส่งให้ไทย 240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และขายในสหภาพพม่า 60 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทั้งนี้ จะช่วยสร้างความมั่นคงในการผลิตและจัดหาไฟฟ้าภายในประเทศ เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าราชบุรี และโรงไฟฟ้าวังน้อย รวมถึงใช้ในภาคขนส่งสำหรับใช้ในรถยนต์ (NGV) ซึ่งปริมาณก๊าซฯ ที่รับจากแหล่งซอติก้านี้จะสามารถทดแทนการนำเข้าน้ำมันเตาได้ประมาณปีละ 2,400 ล้านลิตร ช่วยให้ประเทศประหยัดเงินตราต่างประเทศประมาณ 400,000 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา ขณะเดียวกันการพัฒนาก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง M9 ยังจะเป็นการสร้างความร่วมมือส่งเสริมการเชื่อมโยงโครงข่ายท่อก๊าซอาเซียน (Trans-ASEAN Gas Pipeline) ทำให้โครงข่ายท่อก๊าซอาเซียนยาวเพิ่มขึ้นจากเดิม 2,800 กิโลเมตร เป็น 3,020 กิโลเมตร ทำให้ภูมิภาคเอเชียมีความมั่นคงด้านพลังงานและเชื่อมโยงไปส่วนต่างๆ ของภูมิภาคกรณีเกิดการขาดแคลนปิโตรเลียม นายแพทย์วรรณรัตน์ กล่าวเพิ่มเติม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ