กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--ซีเมนส์
เมื่อเวลา 9.00 น. ของวันนี้ (22 กันยายน 2548) ได้มีพิธีลงนามในสัญญาจัดหาและติดตั้งเครื่องเพ็ทซีทีรุ่นไบโอกราฟ 16 (PET/CT Biograph16) ซึ่งเป็นเครื่องตรวจวินิจฉัยมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้นที่ให้ความละเอียดของภาพสูงเครื่องแรกในประเทศไทย ระหว่างสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โดยศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา รองประธานศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็ง สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ชัยเวช นุชประยูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็ง สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และบริษัทซีเมนส์ จำกัด โดยนายก่อเกียรติ วิวัฒน์เจริญกิจ ผู้จัดการฝ่ายขาย และนางสาวพนารัตน์ เทพเลิศบุญ ผู้จัดการฝ่ายบริหารการพาณิชย์ กลุ่มอุปกรณ์และโซลูชั่นทางการแพทย์ ณ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
การติดตั้งเครื่องนี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็ง พร้อมทั้งพัฒนาการด้านการวิจัยทางการแพทย์ของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โดยซีเมนส์จะทำการติดตั้งเครื่องที่โรงพยาบาลศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็งของสถาบันและสนับสนุนทางวิชาการแด่บุคลากรของศูนย์
เครื่อง PET/CT ที่จะทำการติดตั้งนี้เป็นเครื่องแบบ Hi-resolution ที่ใช้ crystal แบบพิเศษคือ LSO Lutetium Oxyorthosilicate ที่ให้ความละเอียดของภาพและความไวในการรับของสัญญาณแสงที่ดีที่สุดในโลกในขณะนี้โ ดยเครื่อง PET/CT รุ่น Biograph 16 เป็นเครื่องที่สามารถตรวจหาความผิดปกติของภายในร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับโมเลกุลของเซลล์ร่างกาย โดยสามารถระบุตำแหน่งที่มีความผิดปกติได้แม่นยำ และทำให้แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง เครื่องมือนี้สามารถใช้เป็นการตรวจหามะเร็งในระยะเริ่มต้น หรือ ตรวจหาการลุกลามของมะเร็งไปยังอวัยวะต่างๆได้ซึ่งช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้องแม่นยำดียิ่งขึ้น
ลักษณะพิเศษเฉพาะของเครื่อง PET/CT คือการรวมเอาข้อดีของ PET Scanner เข้ากับข้อดีของเครื่อง CT โดย PET scanner สามารถตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะภายในในระดับโมเลกุลโดยใช้วิธีติดฉลากสารกัมมันตรังสีเข้ากับยาที่ฉีดเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วย ซึ่งสารกัมมันตรังสีดังกล่าวไม่มีอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใดเนื่องจากมีปริมาณรังสีต่ำมากและจะถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ โดยยาหรือสารเภสัชรังสีซึ่งถูกฉีดเข้าไปในร่างกายจะเข้าไปจับในบริเวณที่มีความผิดปกติ ซึ่งเครื่อง PET scanner จะตรวจวัดได้ โดยตำแหน่งที่ผิดปกติจะเรืองแสงขึ้นปรากฏบนหน้าจอคอมพิวเตอร์
ส่วนเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) สามารถแสดงภาพทางกายวิภาคของอวัยวะภายในลักษณะภาพตัดขวางของลำตัว หรือแสดงภาพแบบสามมิติ เมื่อนำภาพทั้งสองเข้ารวมกันทำให้สามารถระบุตำแหน่งที่ผิดปกติและความรุนแรงของรอยโรคในร่างกายได้ถูกต้องและแม่นยำ
เครื่อง PET/CT นี้สามารถวินิจฉัยโรคในกลุ่มมะเร็งได้อย่างครบวงจร นั่นคือ ตั้งแต่การวินิจฉัยมะเร็งในขั้นแรก จนกระทั่งสามารถวินิจฉัยมะเร็งที่พบได้ยากอีกหลายชนิด เนื่องจาก PET Scan สามารถตรวจอวัยวะครอบคลุมได้ทั่วร่างกายทำให้สามารถตรวจมะเร็งได้ครอบคลุมทั้งในระยะเริ่มต้นหรือระยะลุกลามได้ นอกจากนี้การตรวจยังสามารถบอกระยะของโรคและนำไปสู่การวางแผนการรักษาที่ถูกต้องแม่นยำได้ดีกว่าวิธีการตรวจแบบอื่นๆในปัจจุบัน
ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา รองประธานศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็ง สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า “เป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ของทางการแพทย์ ที่ช่วยตรวจพบความผิดปกติในระดับโมเลกุล และที่สำคัญเป็นความร่วมมือของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ คณะแพทย์ศาสตร์ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี ในการร่วมมือจัดหาเครื่องมือ พัฒนาบุคลากร และใช้เครื่องมืออย่างมีประสิทธิภาพ และต้องขอบคุณการสนับสนุนของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติในการประสานติดต่อกับ IAEA ในการให้ทุนพัฒนาบุคลากร และเครื่องมือบางส่วน จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเครื่องมือนี้จะเป็นประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะการสนับสนุนของกองสลากกินแบ่งของรัฐบาลที่ทูลเกล้าฯถวายเงินสนับสนุนแด่ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เพื่อปณิธานของพระองค์ในการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งและพัฒนาการศึกษาวิจัยโรคมะเร็งต่อไป”
นายอัลเบิร์ต ริทเซอร์ รองประธานอาวุโสและหัวหน้ากลุ่มอุปกรณ์และโซลูชั่นทางการแพทย์กล่าวเสริมว่า “ซีเมนส์รู้สึกดีใจและภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ให้ความไว้วางใจในผลิตภัณฑ์ของซีเมนส์เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย และวินิจฉัยโรคมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ซีเมนส์มั่นใจว่า ด้วยเทคโนโลยีที่นำสมัยด้านการถ่ายภาพระดับเซลล์โมเลกุลที่คมชัดแม่นยำ เครื่อง PET/CT จะมีส่วนช่วยให้สถาบันบรรลุวัตถุประสงค์ในการเป็นผู้นำด้านการวิจัยทางการแพทย์ และเป็นศูนย์บำบัดโรคมะเร็งที่ให้คุณประโยชน์อย่างมากแก่คนไทยโดยส่วนใหญ่”
ข้อมูลเพิ่มเติมของบริษัทซีเมนส์ สามารถค้นหาได้ที่ www.siemens.co.th
ข้อมูลเพิ่มเติมของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ สามารถค้นหาได้ที่ www.cri.or.th--จบ--