กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--ปตท.
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดย ดร.ปรัชญา ภิญญาวัธน์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ บริษัท มิตซูบิชิ เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวและลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการการใช้ถุงขยะพลาสติกชีวภาพ PBS คัดแยกขยะอินทรีย์เพื่อผลิตปุ๋ยชีวภาพ ณ เกาะเสม็ด” เพื่อรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อมบนเกาะเสม็ด ด้วยการใช้ถุงพลาสติกชีวภาพที่ผลิตจากส่วนผสมระหว่าง PLA และ PBS ซึ่งมีความยืดหยุ่นสามารถย่อยสลายตามธรรมชาติในการคัดแยกขยะอินทรีย์เพื่อนำมาผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งคาดการว่าจะช่วยลดปัญหาการกำจัดขยะอินทรีย์ในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวได้กว่า 100 ตัน/เดือน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นปริมาณคาร์บอนได้ถึง 1,600 ตัน/ปี
ดร. ปรัชญา ภิญญาวัธน์ กล่าวว่า “กลุ่ม ปตท. กับ มิตซูบิชิ เคมิคอล ได้เข้าร่วมสนับสนุนดำเนินการแปรรูปขยะให้เป็นประโยชน์ โดยใช้ถุงพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ (Biodegradable Plastic) ในการคัดแยกขยะอินทรีย์เพื่อนำไปผลิตปุ๋ยชีวภาพ โดยพิจารณาใช้ถุงพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ ที่ส่วนผสมระหว่าง PLA และ PBS ซึ่งมีความยืดหยุ่นและสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติภายในเวลา 6 เดือน จึงเหมาะสมต่อการคัดแยกขยะอินทรีย์เพื่อนำไปผลิตปุ๋ยชีวภาพ ช่วยลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของเกาะ และสร้างรายได้ในการจำหน่ายปู๋ยชีวภาพอีกด้วย ทั้งนี้ ปตท. และ มิตซูบิชิ เคมิคอล ได้สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างโรงหมักย่อยถุงบรรจุขยะอินทรีย์ให้ เป็นปุ๋ยชีวภาพ และให้บริษัท พีทีที โพลีเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (PTTPM) เป็นผู้จัดหาวัตถุดิบเพื่อการผลิตถุงพลาสติกดังกล่าว ทั้งนี้ โครงการนำร่องนี้สอดคล้องกับนโยบาย “Green Society” ของกลุ่ม ปตท. ในการจะสร้างให้เกิด สังคมสีเขียว ด้วยความใส่ใจในทุกขั้นตอนของการปฏิบัติงาน นับตั้งแต่กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Process) มีมาตรการดูแลด้านคุณภาพความปลอดภัยด้านอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด ทำให้โรงงานของกลุ่ม ปตท. เป็นโรงงานสีเขียว (Green Plant) ซึ่งจะนำมาสู่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อส่งแวดล้อม (Green Product) และไม่มีอันตรายต่อสุขภาพถึงมือผู้บริโภคในที่สุด สำหรับ Green Product ของ กลุ่ม ปตท. ที่ผลิตจากพืชพรรณธรรมชาติ นอกจากผลิตภัณฑ์ที่คุ้นเคย เช่น น้ำมันไร้สารตะกั่ว น้ำมันแก๊ซโซฮอล ไบโอดีเซล และ ก๊าซ NGVแล้ว ยังมีอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่สำคัญก็คือ “พลาสติกชีวภาพ” ซึ่งกลุ่ม ปตท. ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของพลาสติกชีวภาพ ที่สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น น้ำตาลจากอ้อย หรือ แป้งจากข้าวโพดและมันสำปะหลัง เป็นวัตถุดิบในการผลิต และสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ช่วยลดภาวะโลกร้อน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผลทางการเกษตร จึงได้มุ่งมั่นศึกษาพัฒนาการผลิต ตลอดจนแสวงหาโอกาสในการพัฒนาตลาดพลาสติกชีวภาพอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจ ที่จะได้ร่วมกันสร้างสรรค์และพัฒนาธุรกิจ ให้เข้าสู่ระดับโลก โดยจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค เลือกใช้วัตถุดิบและเทคโนโลยีที่เหมาะสม มีความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”